กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งนำอุตสาหกรรมไทยเจาะตลาดอินโดนีเซีย ประเดิมโชว์ศักยภาพอุตสาหกรรมไทยในงานแสดงอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มระดับนานาชาติ ณ ประเทศอินโดนีเซีย 2013 “Interfood Indonesia 2013” พร้อมชูโครงการ เพิ่มศักยภาพธุรกิจ SMEs สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อติวเข้มผู้ประกอบการไทยให้พร้อมสำหรับการลงทุน โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารตลาดพรีเมี่ยม ในระดับ B – A ซึ่งมีสัดส่วน 10 – 15 % ของประชากรทั้งหมด หรือคิดเป็น 24.5 ล้านคน เพื่อเจาะตลาดอินโดนีเซียที่มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 20 % ต่อปี ทั้งนี้สถิติการส่งออกของไทยไปอินโดนีเซียในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2556 มีมูลค่ากว่า 5.07 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม กสอ. เผย 8 อันดับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงในตลาดอินโดนีเซีย อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มชูกำลัง อุตสาหกรรมผลไม้แปรรูป อุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์ และอุตสาหกรรมขนมขบเขี้ยว เป็นต้น ซึ่งจาก 6 ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าบริโภค พร้อมเผยแผนผลักดันผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ใน AEC ผ่าน 5 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.การฝึกอบรมติวเข้มแก่ผู้ประกอบการ 2.การพัฒนาผู้ประกอบการเชิงลึก 3.การพัฒนาแรงงานอุตสาหกรรม 4.การเพิ่มประสิทธิภาพให้กับวิสาหกิจ และ 5. การสร้างเครือข่ายธุรกิจ นอกจากนั้นยังโชว์แผนยุทธศาสตร์ในปี 2557 ที่จะเพิ่มขีดความสามารถควบคู่กับการสร้างความเชื่อมโยงสู่ตลาดในภูมิภาคอาเซียนผ่าน 4 กิจกรรม ได้แก่ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการบริหารจัดการ 2.การจัดพื้นที่อุตสาหกรรม 3.การสนับสนุนการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม 4.การขยายโอกาสเข้าสู่ตลาดสากล โดยคาดว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการกว่า 500 ราย ในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกในภูมิภาคอาเซียนได้กว่า 2,000 ล้านบาท
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประเทศอินโดนีเซียถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างมากในประเทศอินโดนีเซีย 8 อันดับ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง อุตสาหกรรมอาหารพร้อมรับประทาน (R-T-E) อุตสาหกรรมเครื่องดื่มชูกำลัง อุตสาหกรรมผลไม้แปรรูป อุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์ และอุตสาหกรรมขนมขบเขี้ยว โดยจาก 6 ใน 8 อุตสาหกรรมดังกล่าว เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมประเภทอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง และมีศักยภาพในการลงทุนและผลิตเพื่อการส่งออก ดังนั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงมีการส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันรวมถึงขยายตลาดสู่ประเทศอินโดนีเซียได้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ หลักสูตรเจาะลึกตลาดอินโดนีเซีย โอกาสสำหรับธุรกิจไทย ภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพธุรกิจ SMEs สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กิจกรรมสัมมนาวิชาการ กิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ และกิจกรรมการจัดแสดงสินค้าเพื่อพัฒนาพันธมิตรทางธุรกิจ ฯลฯ
นายกอบชัย กล่าวต่อว่า ตามที่ กสอ. ได้จัด โครงการ “เพิ่มศักยภาพธุรกิจ SMEs สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเจาะลึกตลาดอินโดนีเซียนั้น ได้ต่อยอดให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกว่า 20 ราย เข้าร่วมงานแสดงสินค้า“Interfood Indonesia 2013” โดยงานมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เทคโนโลยีการผลิต ส่วนผสม/สารปรุงแต่ง วัตถุดิบ อุปกรณ์ และบริการ ที่เกี่ยวข้อง ได้มีโอกาสในการแสดงสินค้าที่มีศักยภาพ สินค้าที่มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ หรือมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและนำไปสู่การพัฒนาตลาด การจับคู่ทางธุรกิจ และเกิดความร่วมมือกัน ในการนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พิจารณาแล้วเห็นว่างานแสดงสินค้านี้จะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยในด้านการตลาด และการสร้างเครือข่ายกับผู้ประกอบการประเทศอินโดนีเซีย ตลอดจนเพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการไทย รวมถึงเพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมไทย ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 28 – 30 สิงหาคม ณ Jakarta International Expo ประเทศอินโดนีเซีย ภายในงาน มีบูธแสดงสินค้าจากผู้ประกอบการทั่วอาเซียนและทั่วโลก กว่า 1,000 ราย ในกว่า 40 ประเทศ
นายกอบชัย กล่าวต่อว่า เป็นโอกาสทางธุรกิจอันดีที่ผู้ประกอบการไทยจะบุกตลาดอาหารแปรรูปในอินโดนีเซีย ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตของตลาดเพิ่มขึ้นกว่า 20 % ต่อปี เนื่องจากมีจำนวนประชากรกว่า 237.6 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในภูมิภาคอาเซียน โดยในปี 2554 อินโดนีเซียมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าในหมวดหมู่อาหารกว่า 8,707.3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และมีการเติบโตของตลาดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประชากรมีจำนวนมากจึงไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในประเทศ และต้นทุนการผลิตสินค้าประเภทอาหารภายในประเทศที่ค่อนข้างสูง ฉะนั้น จึงนิยมนำเข้าสินค้าอาหารแปรรูปเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอาหารแปรรูปในระดับพรีเมี่ยมที่มีผู้ผลิตในท้องตลาดน้อยราย แต่กลับมีกลุ่มผู้บริโภคในระดับ B – A โดยมีสัดส่วน 10 – 15% ของประชากรทั้งหมด หรือคิดเป็น 24.5 ล้านคน โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้มีกำลังการซื้อสูงและมักจะมีพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งอาหารแปรรูปจากประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียมักจะนิยมซื้อ เนื่องจากอาหารแปรรูปจากไทยมีคุณภาพดี ราคาถูก และมีความหลากหลาย ซึ่งชาวอินโดนีเซียเองคุ้นเคยกับประเภทของอาหารไทยเป็นอย่างดี นอกจากนั้น รัฐบาลอินโดนีเซียเองยังให้สิทธิประโยชน์ทางด้านการค้าแก่ผู้ประกอบการไทย ภายใต้ข้อตกลง CEPT ที่ลดกำแพงภาษีการค้าลงเหลือร้อยละ 0 – 5 ซึ่งจะเอื้อประโยชน์อย่างมากต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ แต่ยังมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารของไทยน้อยรายที่คิดจะเข้าไปลงทุนและทำการตลาดในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งส่วนใหญ่ที่ลงทุนมักจะเป็นการทำธุรกิจในลักษณะการร่วมทุน (joint venture) มากกว่าการลงทุนโดยตรง เนื่องจากขาดโอกาสในการเปิดตลาดอินโดนีเซีย ทั้งนี้ สถิติการส่งออกของไทยไปอินโดนีเซียในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2556 มีมูลค่ากว่า 5.07 พันล้านบาท นายกอบชัย กล่าวสรุป
นายกอบชัย กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ปี 2553 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ใน AEC เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีนโยบายส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมเป้าหมายใน 9 สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสินค้า Lifestyle อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง และอุตสาหกรรมก่อสร้าง ให้สามารถสร้างมูลค่าการส่งออก รวมทั้งลงทุนในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้จัดกิจกรรมส่งส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในเวทีประชาคมอาเซียน เพื่อยกระดับขีดความสามารถของธุรกิจในทุกๆด้าน เช่น ด้านการลงทุน ด้านแรงงาน ด้านการตลาด ด้านการเจรจาธุรกิจ ด้านมาตรฐานสินค้า ด้านกฎระเบียบและข้อบังคับของการค้าระหว่างประเทศ ผ่าน 5 กิจกรรมหลัก ได้แก่
1. ฝึกอบรมติวเข้มสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ประกอบการพร้อมการประเมินตนเอง (self assessment) วิเคราะห์ SWOT ของตนเอง รวมทั้งวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย งบประมาณ และผลกำไร เป็นต้น ทั้งก่อนและหลังการสัมมนา เพื่อให้ทราบสถานการณ์ปัจจุบันของกิจการของตนเอง และวางแนวทางในการก้าวสู่ AEC ด้วยแผนที่ธุรกิจหรือ Business Roadmap โดยมีเป้าหมายดำเนินการในปีงบประมาณ 2556 แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ดังกล่าวจำนวน 12,000 ราย
2. พัฒนาผู้ประกอบการเชิงลึก ด้วยวิธีการฝึกอบรมให้กับผู้ที่มีความรู้ในการประกอบกิจกรรมในระดับหนึ่งแล้ว เช่น ความรู้เรื่องภาษีนำเข้าของแต่ละประเทศ กฎระเบียบ ประเพณี ค่านิยมและศาสนา เป็นต้น ตั้งเป้าดำเนินการแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ จำนวน 5,000 ราย
3. พัฒนาแรงงานอุตสาหกรรม เน้นไปที่บุคลากรในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มเติมความรู้ และเตรียมพร้อมต่อการปรับตัวสู่ AEC เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การส่งต่อและรับช่วงงาน เป็นต้น ซึ่งเป็นการให้ความรู้ในเชิงลึกในรายสาขา โดยมีเป้าหมายพัฒนาแรงงานในพื้นที่จำนวน 5,000 ราย
4. พัฒนาวิสาหกิจ โดยให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกันรวมกลุ่มกัน เพื่อให้ที่ปรึกษาเข้าไปให้คำแนะนำและเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับการวางกำหนดนโยบาย ระบบการบริหารจัดการ การทำแผนกลยุทธ์ การกำหนดเป้าหมาย การประมาณการพัฒนาศักยภาพต่าง ๆ รวมทั้งการประเมินการใช้ทรัพยากรไม่ว่าจะเป็น แรงงาน วัตถุดิบ และเงินลงทุน เป็นต้น ซึ่งมีเป้าหมายในพื้นที่เข้าร่วมกับโครงการ จำนวน 650 กิจการ
5. การสร้างเครือข่ายธุรกิจ ด้วยการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสร้างเครือข่ายในการประกอบกิจการกับประเทศใกล้เคียง อาทิ เวียดนาม พม่า กัมพูชา และลาว เป็นต้น เพื่อสร้างความร่วมมือในระบบห่วงโซ่การผลิต ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างเครือข่ายในพื้นที่ได้ไม่ต่ำกว่า 10 เครือข่าย
อย่างไรก็ดีในปี 2557 ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีแผนที่จะยกระดับอุตสาหกรรม SMEs ผ่านแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมในการแข่งขัน และการสร้างความเชื่อมโยงสู่พื้นที่และตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาองค์กรโดยสร้างความแข็งแกร่งจาก ผ่าน 4 กิจกรรม ดังนี้
1. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการบริหารจัดการ โดยเฉพาะ Labor Productivity และ Total Factor Productivity
2. การจัดพื้นที่อุตสาหกรรม (Zoning Planning) ในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม ให้สอดคล้องกับทุกด้าน เช่น วัตถุดิบ การขนส่ง สิ่งแวดล้อม และชุมชน เป็นต้น
3. การสนับสนุนการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม ทั้งภายในกลุ่มสาขา และการเชื่อมโยงข้ามกลุ่มสาขา รวมถึง Cluster ใน ASEAN production chain ที่ต้องการทรัพยากรจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์
4. การขยายโอกาสเข้าสู่ตลาดสากล โดยเฉพาะตลาด ASEAN โดยพัฒนาสินค้าเข้าสู่มาตรฐานสากล ตรงตามความต้องการ และสินค้าที่มีโอกาสสูงในการเจาะตลาด
ด้าน นางสาวพัชราภรณ์ วงศ์สุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายการส่งออกและการตลาด บริษัท ทรอปิคานา ออยล์จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการที่บุกตลาดในงาน “Interfood Indonesia 2013” กล่าวว่า บริษัทผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น และเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำมันมะพร้าว ได้แก่ แชมพู สบู่เหลว ครีมทาผิว น้ำมันหอมระเหย โทนเนอร์ เป็นต้น โดยมีตลาดการส่งออกสินค้าหลักอยู่ที่ประเทศ รัสเซีย จีน ออสเตรเลีย และในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งได้รับการตอบรับสินค้าเป็นอย่างดี โดยสามารถเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นของบริษัทเป็นน้ำมันมะพร้าวที่ปราศจากสารเคมีใดๆ และยังอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งในด้านความงาม และการป้องกันโรค โดยทางบริษัทมีแผนที่จะเจาะกลุ่มตลาดในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มมากขึ้นจึงได้เข้าร่วมโครงการเจรจาการค้าธุรกิจ Business Matching ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยมองว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก หรือกว่า 240 ล้านคน ซึ่งสินค้าของบริษัทเป็นสินค้าพรีเมี่ยมที่คาดว่าจะสามารถตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพและผิวพรรณภายในประเทศได้ และแนวโน้มของกลุ่มผู้รักสุขภาพภายในประเทศน่าจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยดูได้จากสัดส่วนตลาดของเครื่องสำอางบำรุงผิวในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสินค้าประเภท น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นในตลาดอินโดนีเซียยังมีผู้จำหน่ายน้อยรายที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับสินค้าของบริษัท โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าสู่ประเทศอินโดนีเซียได้กว่า 20 ล้านบาท อีกทั้งการเจรจาการค้าธุรกิจในครั้งนี้ยังถือเป็นการสำรวจความต้องการสินค้าของกลุ่มคนรักสุขภาพในอินโดนีเซีย ซึ่งทางบริษัทเคยได้เข้าร่วมโครงการเจรจาการค้าธุรกิจ Business Matching ที่ประเทศญี่ปุ่น และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยมียอดการสั่งซื้อสินค้าในประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าการเจรจาการค้าธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียครั้งนี้จะสามารถเพิ่มยอดขายการส่งออกของบริษัทได้กว่า 10 % และมีการส่งออกในอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง
นางสาวปกรณ์พรรณ เผือกสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จิมส์กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า บริษัทผลิตและจัดจำหน่าย กาแฟสำเร็จรูป ครีมซุปแบบผง เครื่องดื่มผง เครื่องแกงผง ผงปรุงรส และแป้งชุบทอด โดยมีกาแฟสำเร็จรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลักภายใต้ชื่อ Jim Coffee โดยบริษัทรับผลิตให้แก่บริษัทอื่น ๆ (OEM) และส่งขาย ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) มีสัดส่วนการขายในประเทศ 90 % และต่างประเทศ 10 % ได้แก่ ประเทศ ลาว พม่า เวียดนาม และอินโดนีเซีย บริษัทมีกำลังการผลิต 250 ตัน/เดือน โดยมีโรงงานในประเทศ 2 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี และมีโรงงานอยู่ในประเทศพม่า บริษัทมียอดขาย 300 – 400 ล้านบาท / ปี ทางบริษัทมองว่าการเข้าร่วมเจรจาทางธุรกิจในครั้งนี้ น่าจะเป็นโอกาสในการเพิ่มยอดขายในอินโดนีเซียเพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก ทางบริษัทได้ส่งออกสินค้าในอินโดนีเซียอยู่แล้ว แต่ช่องทางการจัดจำหน่ายในประเทศอินโดนีเซียยังคงจำกัด ฉะนั้น การเจราจาในครั้งนี้จึงเป็นการสร้างโอกาสในการทำธุรกิจร่วมกับตัวแทนจำหน่ายภายในประเทศ รวมทั้ง เป็นการศึกษาโอกาสในการลงทุนเปิดโรงงานภายในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งการเข้าร่วมการเจรจาธุรกิจในครั้งนี้คาดว่าจะมียอดสั่งสินค้าจากตัวแทนจำหน่ายกว่า 50 ล้านบาท ทั้งนี้ ในอนาคตบริษัทมีแผนที่จะส่งออกในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนมากยิ่งขึ้น ได้แก่ประเทศ กัมพูชา สิงคโปร์ และมาเลเซีย รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับประเภทของอาหารในประเภทภูมิภาคอาเซียนมากยิ่งขึ้น ซึ่งทางบริษัทได้เคยเข้าร่วมการเจรจาธุรกิจ Business Matching ณ ประเทศเวียดนามและออสเตรเลีย ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างในด้านการเปิดตลาดการค้าระหว่างประเทศ โดยคาดว่าการเจรจาธุรกิจที่ประเทศอินโดนีเซียจะสร้างมูลค่าทางการส่งออกสินค้าได้กว่า 30 ล้านบาท