จาก..อุทยานมิตรผล..สู่ค่ายนานาชาติประชาคมอาเซียน จุดประกายการเกษตรสมัยใหม่ ด้วย “Modern Farming System”

การเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่ “ประชาคมอาเซียน” อย่างเต็มรูปแบบ เป็นสิ่งที่ทุกประเทศสมาชิกต่างให้ความสำคัญ เพื่อให้มั่นใจว่า ในปี 2558 จะสามารถเดินหน้าสร้างแต้มต่อในหลายบริบทบนเวทีการค้าโลกอย่างภาคภูมิ การรวมกลุ่มเป็น “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” จะเป็นหนึ่งใน 3 เสาหลักสำคัญที่จะก่อให้เกิดความมั่นคงแก่เศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคในระยะยาว ช่วงเวลานับจากนี้ จึงเป็นช่วงแห่งการปรับตัวและเตรียมความพร้อมของแต่ละภาคส่วน ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย ซึ่งโดดเด่นเป็นที่จับตาจากนานาประเทศ จะพลิกโฉมจากผู้ถูกเลือกเป็นผู้เลือกในอีกไม่นานนี้

นางสาวจุฑามาศ ทองเจริญ ผู้จัดการโครงการ สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการอย่างเสรี ส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค เนื่องจากจะเกิดตลาดร่วมซึ่งจะทำให้มีฐานการผลิตและแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายมากขึ้น ความสามารถในการแข่งขันในทางธุรกิจก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรเพื่อให้รองรับต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นประเด็นสำคัญ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการพัฒนาธุรกิจการเกษตรในภูมิภาค เนื่องจากช่องว่างของการเติบโตและการพัฒนาเทคโนโลยีมีความเหลื่อมล้ำกัน

ด้วยเหตุนี้ สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงจึงได้ริเริ่มโครงการค่ายนักคึกษาเกษตรขึ้น โดยความร่วมมือกับกลุ่มมิตรผล ในการนำนักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยจากประเทศในกลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม เข้ามาเรียนรู้และฝึกงานในภาคสนามกับบริษัทในอุตสาหกรรมเกษตรชั้นนำของไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งนักศึกษาและมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ ในการเพิ่มวิสัยทัศน์เพื่อพัฒนาหลักสูตรและทักษะการเรียนรู้ของนักศึกษา ขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในท้องถิ่นของแต่ละประเทศในภูมิภาค เพื่อพัฒนาบุคลากรสู่ธุรกิจภาคเกษตรไปพร้อมกันด้วย โดยในปีนี้ มีนักศึกษาจากกัมพูชาและลาวจำนวน 6 คนเข้าร่วมโครงการฝึกงานกับกลุ่มมิตรผล หนึ่งในบริษัทที่ตอบรับการจัดค่ายครั้งนี้เป็นระยะเวลา 20 วัน

“กลุ่มมิตรผล เป็นกลุ่มธุรกิจชั้นนำในภูมิภาคเอเชียที่มีความโดดเด่นในการเป็นผู้นำด้านการผลิตอ้อย น้ำตาล และชีวพลังงาน ด้วยมาตรฐานการผลิตสินค้าคุณภาพระดับโลก ภายใต้แนวคิด Modern Farming System ซึ่งให้ความสำคัญกับการยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของเกษตรกรภายใต้โครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิตและการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ กลุ่มมิตรผลจึงเป็นองค์กรที่เหมาะต่อการเรียนรู้ที่จะอำนวยประโยชน์อย่างยิ่งให้แก่นักศึกษาและมหาวิทยาลัย ในการเตรียมความพร้อม เพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่งจะสอดคล้องต่อความต้องการของตลาดในธุรกิจภาคเกษตร” นางสาวจุฑามาศ กล่าวเสริม

ด้านนายทักษ์ ศรีรัตโนภาส ผู้อำนวยการด้านโครงการร่วมทุนระหว่างประเทศ กลุ่มมิตรผล กล่าวถึงความร่วมมือในการสร้างสรรค์โครงการค่ายนักศึกษาเกษตรในครั้งนี้ว่า “กลุ่มมิตรผล มีความยินดีเป็นอย่างมาก ที่ได้มีโอกาสเปิดอุทยานมิตรผล ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ต้อนรับนักศึกษานานาชาติจากประเทศในแถบลุ่มน้ำโขง ซึ่งเปรียบเสมือนเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดของประเทศไทย เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสที่จะศึกษาและเรียนรู้การดำเนินงานในอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาล และชีวพลังงานของไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเกษตรที่สามารถพัฒนาต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ รวมถึงสังคม และสิ่งแวดล้อม”

ตลอดระยะเวลา 20 วันของการอยู่ร่วมกันในค่าย นักศึกษาทั้ง 6 คนจากลุ่มน้ำโขงได้เรียนรู้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของกระบวนการผลิตน้ำตาล และต่อยอดวัสดุเหลือใช้สู่ธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ ไฟฟ้าชีวมวลและเอทานอล รวมถึงการลงพื้นที่พูดคุยถึงปัญหาและอุปสรรคในการเพิ่มผลผลิตอ้อยกับผู้นำชุมชนและเกษตรกรต้นแบบ นอกจากนั้น ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานเป็นทีม การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นที่มาจากสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน รวมถึงเทคนิคการสื่อสารให้ได้ผลสัมฤทธิ์ตามที่ต้องการ

“เราใช้เวลาหารือร่วมกันไม่นานก็สามารถสรุปหลักสูตรการเรียนรู้ให้เหมาะสม ตรงกับความต้องการของนักศึกษาได้ ซึ่งรายละเอียดต่างๆ ที่พวกเขาได้เรียนรู้จะเป็นสิ่งที่สามารถนำไปพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศ ของเขาได้จริง การเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ทำให้เรารู้ว่า เยาวชนซึ่งจะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศของตนนั้น ต่างมีความมุ่งมั่นในการเก็บเกี่ยวความรู้ในทุกรายละเอียด พวกเขาไม่รีรอที่จะซักถามให้เกิดความชัดเจนในข้อสงสัย การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษทำได้ดีถึงดีมาก โดยเฉพาะเมื่อจบโครงการ ซึ่งนักศึกษาแต่ละประเทศจะต้องทำข้อสรุปการเรียนรู้และข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม นำเสนอต่อมหาวิทยาลัยของแต่ละคน พวกเขาก็ให้ข้อคิดเห็นในแง่มุมที่น่าสนใจมากทีเดียว” นายทักษ์ กล่าว

นายอรุณ มีส์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาแปรรูปอาหาร จากราชอาณาจักรกัมพูชา เล่าถึงประสบการณ์ของการอยู่ค่ายในต่างแดนเป็นครั้งแรกของเขาว่า “ผมรู้ว่ากลุ่มมิตรผลเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลรายใหญ่ในตลาดโลก แต่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า มิตรผลมีการส่งเสริมการปลูกอ้อย รวมถึงมีการต่อยอดการผลิตไปสู่ธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ พลังงานไฟฟ้าชีวมวล และเอทานอลด้วย ในประเทศผมไม่มีโรงงานผลิตน้ำตาล การได้มาเรียนรู้กระบวนการผลิตน้ำตาลอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน จึงเป็นโอกาสที่หาได้ยากและเป็นช่วงเวลาที่มีค่าสำหรับผม”

“โรงงานน้ำตาลมิตรผลต่างจากที่ผมคิดไว้มาก ที่นี่ใช้เครื่องจักรทันสมัยในทุกกระบวนการผลิต มีการควบคุมคุณภาพและความสะอาด ควบคู่ไปกับการบำบัดน้ำเสียและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ผมได้เรียนรู้กระบวนการผลิตน้ำตาลตั้งแต่การจัดการวัตถุดิบ ลงแปลงอ้อยเพื่อศึกษาวงจรชีวิตของอ้อย การปลูกและการบำรุงรักษาอ้อย การใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยว ระบบขนส่ง และความก้าวหน้าของบริษัทมิตรผลวิจัยในการพัฒนาพันธุ์อ้อย สิ่งเหล่านี้เป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเกษตรที่ผมจะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับกลับไปถ่ายทอดให้เพื่อนนักศึกษาและอาจารย์ เพื่อนำไปปรับใช้กับการพัฒนาการเกษตรในประเทศของผม ซึ่งแม้จะต้องใช้เวลา แต่ด้วยองค์ความรู้ที่ผมได้รับก็อาจทำให้เราใช้เวลาน้อยกว่าที่เราต้องไปเริ่มต้นเองทั้งหมด” นายอรุณ กล่าวด้วยความมุ่งมั่น

ขณะที่นายซุลาเฮอ ไสยสวยกี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาพฤกษศาสตร์ จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หนึ่งในนักศึกษาค่ายเกษตร กล่าวถึงความก้าวหน้าของกลุ่มมิตรผลในการนำวัสดุเหลือใช้มาพัฒนาต่อยอดไปสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เป็นสิ่งที่เขาประทับใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาให้ความสนใจศึกษาในรายละเอียดของธุรกิจไฟฟ้าชีวมวล เนื่องจากสปป.ลาว เองก็มีการใช้กระแสไฟฟ้าในปริมาณมาก อีกทั้งมีสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า แต่หากมีการสนับสนุนเพื่อสร้างโรงน้ำตาลและโรงไฟฟ้าควบคู่กันได้ เศรษฐกิจของประเทศก็จะรุดหน้าไปอย่างก้าวกระโดด

“ในช่วง 3-4 ปีมานี้ ประเทศสปป.ลาวเปิดให้มีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น กลุ่มมิตรผลก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่เข้าไปลงทุนในภาคอุตสาหกรรมน้ำตาล ช่วยให้ชุมชนในแขวงสะหวันเขตได้เรียนรู้เรื่องการทำไร่อ้อยและธุรกิจน้ำตาลเป็นครั้งแรก สำหรับผมซึ่งเรียนมาทางด้านพฤษศาสตร์ การได้มาเรียนรู้กระบวนการผลิตน้ำตาล ทำให้ผมสนใจการทำไร่อ้อยมากกว่าด้านอื่น โดยเฉพาะการพัฒนาพันธุ์ การบำรุงดิน กำจัดศัตรูพืช และการเก็บเกี่ยวที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศของผม และหากมีโอกาสเมื่อเรียนจบ ผมก็อยากร่วมงานกับมิตรผลเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากยิ่งขึ้น มากพอที่จะนำกลับไปพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศผมได้” นายซุลาเฮอ กล่าว

“ความสำเร็จของค่ายในครั้งนี้ เป็นเพียงบันไดขั้นแรกของความร่วมมือระหว่างประเทศของกลุ่มมิตรผลร่วมกับสถาบันการศึกษานานาชาติในภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนในภาคเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่ไร้พรมแดนในอีกไม่ช้า โดยเด็กนักศึกษาเหล่านี้จะต้องเติบโตขึ้นพร้อมกับองค์ความรู้รอบด้านที่สมบูรณ์ โครงการนี้จะยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งเราคาดหวังว่า ในปีหน้าจะได้มีโอกาสเปิดอุทยานมิตรผล ต้อนรับเยาวชนในระดับอุดมศึกษาจากนานาประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในภูมิภาคนี้ต่อไป” นายทักษ์ กล่าวทิ้งท้าย

แม้ระยะเวลาของการอยู่ร่วมกันในค่ายจะไม่นานมากเท่าที่ 6 นักศึกษาจากลุ่มน้ำโขงต้องการ แต่พวกเขาก็ได้ใช้ทุกนาทีในการเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์มากมายจากธุรกิจน้ำตาลและธุรกิจต่อเนื่องของกลุ่มมิตรผลอย่างคุ้มค่า พร้อมด้วยการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมต่างแดน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้างความประทับใจและมิตรภาพเล็กๆ ระหว่างกัน ด้วยความหวังที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้รับการสังเคราะห์แล้วเหล่านี้ ไปถ่ายทอดสู่อาจารย์และเพื่อนๆ เพื่อจุดประกายแห่งความกระหายใคร่รู้ร่วมกัน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศให้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง

เวลาเริ่มนับถอยหลัง…จนกว่าจะถึงปี 2558 เมื่อประเทศในภูมิภาคจากต่างลุ่มน้ำ..รวมกันเพื่อความเป็นหนึ่ง…สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ