จับตา เทรนด์ใหม่มาแรง Mobile Commerce โดยมี “สมาร์ทโฟน” เป็นตัวจุดระเบิดให้กับช้อปปิ้งออนไลน์ ผู้เล่นทั้งใหม่และเก่าดาหน้าเข้าสู่สมรภูมิช้อปปิ้งออนไลน์
ความร้อนแรงของอีคอมเมิร์ซในไทย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลตลาดในไทย โดยระบุว่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยปี 2556 มีมูลค่าตลาดรวมถึง 1.32-1.35 แสนล้านบาท และมีอัตราการเติบโตสูงถึง 30% ทั้งนี้แนวโน้มเริ่มไปทาง Mobile Commerce มากขึ้น เว็บไซต์ Techinasia ระบุว่ามีการช้อปปิ้งผ่านมือถือเพิ่มขึ้นถึง 131% โดยเป็นผลมาจากการใช้อินเทอร์เน็ตที่แพร่หลาย รวมไปถึง 3G ที่ครอบคลุมหลายพื้นที่มากขึ้น
อีคอมเมิร์ซในเมืองไทยนั้น ครอบคลุมทั้งช่องทางเว็บไซต์ และผ่านช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งที่นิยมกันมากๆ คือ การซื้อขายสินค้าผ่านFacebook Commerce (F-commerce) รวมถึงการรุกเข้ามาในตลาดไทยของเว็บช้อปปิ้งรายใหญ่จากต่างประเทศ อย่าง เว็บแฟชั่น Zalora และเว็บขายเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง Lazada
ในขณะที่เว็บอีคอมเมิร์ซรายดั้งเดิมของไทยอย่าง Rakuten TARAD.com ที่หลังจากเปลี่ยนชื่อบริษัท ก็เปิดเกมรุกรับมือกับการแข่งขันในปีนี้ ด้วยการทุ่มงบการตลาด และการขยายช่องทางการซื้อขายบนมือถือ หรือ Mobile Commerce ด้วยการจับมือกับไลน์ออก Official Account รวมไปถึงสติกเกอร์ เพื่อเพิ่มช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคและสามารถเชื่อมถึงแบรนด์ได้โดยตรง ส่งผลให้ยอดขายในเว็บไซต์เพิ่มขึ้นด้วย
Shop Spot แอปฯ ช้อปออนไลน์
การก้าวเข้าสู่ Mobile Commerce นอกจากบรรดาเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์จะรุกขยายช่องทางขายผ่านสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเปิดให้มี “ผู้เล่นรายใหม่ๆ” เข้ามาในตลาด Shop Spot แอปพลิเคชั่นสำหรับช้อปปิ้ง ที่ ปอ-นัฏฐ์สกล เกียรติสุรนนท์ และทีมงานรวม 7 คน ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น เพื่อหวังเป็นศูนย์กลางรวบรวมสินค้าให้ช้อปปิ้งบนมือถือ
ไอเดียเริ่มแรกเริ่มขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยต้องการออกแบบให้เน้นความง่าย เพื่อให้คนขายถ่ายรูปและโพสต์ขายของได้เอง พอดีกับว่าไอเดียของพวกเขามีโอกาสเข้าไปประกวด และสามารถคว้ารางวัลในการประกวดแอปพลิเคชั่น ในโครงการ JFDI-Innov8 Bootcamp ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นแคมป์ที่เลือกทีมสตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่มีศักยภาพไปบ่มเพาะ ทำให้มีเงินทุนไปต่อยอดให้กับแอปฯ ที่พวกเขาคิดขึ้นมาไปสู่การใช้งานได้จริง
“เราดูจากสินค้าและการช้อปปิ้งออนไลน์ รวมทั้งตลาด แอปพลิเคชั่นยังเติบโตได้อีก จาก 2 ปีที่แล้วที่มีอยู่ประมาณ 3 แสนแอปพลิเคชั่น ผมเชื่อว่าอนาคตจะไปที่แอปพลิเคชั่นจะขยายตัวอีกมาก ซึ่งตัวผมเองก็ชื่นชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ ชอบเล่นเว็บ มาผสมกับความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ในการเริ่มต้นธุรกิจ”
แอปพลิเคชั่นของ Shop Spot รองรับระบบ iOS และแอนดรอยด์ รวมถึงบนเครื่องพีซี แต่แนวโน้มการช้อปปิ้งผ่านมือถือมีสัดส่วนถึง 90% จากยอดดาวน์โหลดหลักหมื่นภายใน 1-2 เดือนแรก ปัจจุบันไปถึงหลักแสนแล้ว และในจำนวนผู้ดาวน์โหลดนั้นจะเป็นผู้ซื้อเสียมากกว่า มีคนขายเพียง 20-30% เท่านั้น
โมเดลการหารายได้ของ Shop Spot จะคล้ายกับสตาร์ทอัพ ที่ระดมทุนจากนักลงทุน คือจะเน้นสร้างโปรดักต์หรือสร้างแอปฯ ให้สมบูรณ์ โดยเปิดให้ร้านค้ามาเปิดร้านช้อปปิ้งออนไลน์ได้ฟรี เพื่อสร้างประสบการณ์ให้คนมาช้อปปิ้งมากๆ จากนั้นจึงคิดรายได้ โดยการเก็บเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งจากร้านค้าเป็นค่าคอมมิชชั่น อาจจะเป็น Cost per click, Cost per action
ทั้งนี้ แอปพลิเคชั่น Shop Spot มีสินค้าทั้งหมด 300,000 ชิ้น มีผู้ค้าจำนวน 8,000 ราย ผู้ซื้อจำนวน 100,000 คน เป็นผู้ซื้อที่ Active 60% และมีสมาชิกมากกว่า 100,000 คน โดยสินค้ายอดนิยมยังคงเป็นสินค้าแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ และเคสโทรศัพท์มือถือ โดยมียอดซื้อตั้งแต่ 500 – 1,000 บาท/ครั้ง สัดส่วนผู้ซื้อเป็นผู้หญิง 80% ผู้ชาย 20%
aCommerce ปัญหาคือโอกาส
ทอม ศรีวรกุล ซีอีโอ บริษัท aCommerce จำกัด ที่ถือเป็นสตาร์ทอัพยุคแรกๆ ของไทย และประสบความสำเร็จจากการปั้นธุรกิจ และขายต่อให้นักลงทุนมาแล้วถึง 3 โครงการ เช่น บริษัทแอดแมกซ์ ทำธุรกิจดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง จากนั้นมาเว็บ Ensogo ให้บริการซื้อขายดีลสินค้าราคาพิเศษ และขายต่อให้นักลงทุนไป เช่นเดียวกับอีก 2 ธุรกิจ ซึ่งรวมทั้งสามโครงการ มีมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท
ล่าสุดทอมได้เริ่มโครงการของเขาอีกครั้งบนเส้นทางธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยยึดหลักการทำธุรกิจ “มองหาโอกาสจากปัญหา” เสมอมา
สิ่งที่ทอมพบ คือ ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ปี 2556 ที่ผ่านมา มูลค่าการช้อปปิ้งออนไลน์มีถึง 40,000 -50,000 ล้านบาท การขยายตัวของสมาร์ทโฟนจะผลักดันให้ไทยเข้ายุคโมบายคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดช้อปปิ้งออนไลน์ เพราะทำให้คนซื้อขายสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลา โดยคาดว่าปี 57 อีคอมเมิร์ซจะเติบโต 30% ซึ่งซื้อขายผ่านโมบายจะมีสัดส่วนถึง 20% ส่งผลให้หลายธุรกิจเวลานี้มีความต้องการขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ แต่ปัญหา คือ ยังขาดผู้ให้บริการแบบครบวงจร
“การจะสร้างระบบอีคอมเมิร์ซ จะต้องมีถึง 5-6 ขั้นตอน เช่น การเปิดเว็บไซต์ ดูแลด้านตลาด การทำระบบคอลเซ็นเตอร์ ไปจนถึงการจัดส่งสินค้า มีทีมงานจัดส่ง ที่ผ่านมาจะต้องจ่ายผู้ให้บริการถึง 5-6 ราย และยังไม่รู้ว่าจะทำแล้วราบรื่นแค่ไหน โดยเฉพาะขั้นตอนการจัดส่งสินค้าในไทยยังไม่ดีพอ ใช้เวลาจัดส่งหลายวัน เราจึงลงทุนทำคลังสินค้า มีพนักงานขับมอเตอร์ไซค์ไปส่งสินค้า บริการหีบห่อให้เสร็จสรรพ หรือถ้าแบรนด์เลือกทำระบบอีคอมเมิร์ซเองในองค์กรก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนระบบการทำงานใหม่”
นี่คือ โอกาสจากปัญหาที่ทอมมองเห็น เขาจึงวางคอนเซ็ปต์ธุรกิจของเอคอมเมิร์ซให้เป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจรแก่ธุรกิจ ในลักษณะของบีทูบี ตั้งแต่จัดทำเว็บไซต์ ให้คำปรึกษาทำตลาดผ่านอีคอมเมิร์ซ มีบริการคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงจัดส่งสินค้า เปิดมา 6 เดือน มีลูกค้าประมาณ 12 ราย เช่น ลอรีอัล ในการทำตลาดแบรนด์เมย์เบลลีนผ่านอีคอมเมิร์ซ, CMG (กลุ่มเซ็นทรัล), ดีแทค, แบลคมอร์ส และ LINE
นอกจากไทยแล้ว ยังเตรียมเปิดสาขาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เพื่อรองรับกับเออีซี และรองรับกับอีคอมเมิร์ซจะเป็นอีกหนึ่งในช่องทางสำคัญของแบรนด์ที่ต้องการขยายตลาดไปต่างแดน ขณะเดียวกันแบรนด์จากต่างชาติจะเข้ามาขายสินค้าผ่านออนไลน์ และยังเป็นหนึ่งในจุดขายที่สำคัญดึงดูดนักลงทุนให้สนใจมาซื้อกิจการ
ในส่วนของไลน์ เกิดมาจากการที่ LINE ต้องการเปิดบริการโมบายคอมเมิร์ซในไทย ผ่านบริการ LINE FLASH SALE ซึ่งมีสมาชิก 5.4 ล้านคน จึงติดต่อให้เอคอมเมิร์ซมาดูแลระบบจำหน่ายให้ รวมถึงการติดต่อหาเจ้าของสินค้าและบริการที่ต้องการนำเสนอสินค้าพิเศษแก่ลูกค้า ซึ่งที่ผ่านมามีดีล บุฟเฟต์ของ “บาร์บีคิวพลาซ่า” ที่ออกแบบมาจำหน่ายเฉพาะบน LINE FLASH SALE ปรากฏว่าขายได้ 700 ชุดในเวลาแค่ครึ่งชั่วโมง หรือขายเครื่องสำอางเมย์เบลลีนในอัตราพิเศษที่ขายหมดอย่างรวดเร็ว
“คนใช้ไลน์มี 20 ล้านคน เป็นสมาชิก LINE FLASH SALE 5.4 ล้านคน เอาแค่เปอร์เซ็นต์เดียวก็มีถึง 5 หมื่นกว่าคนแล้ว พอลงดีลไปก็มีคนจองหมดไม่กี่นาที และสิ่งที่ต่างคือ เราไม่ลดราคา แต่เป็นข้อเสนอพิเศษให้กับลูกค้าโดยเฉพาะ อย่างกรณีของบาร์บีคิวพลาซ่า ก็มีของแถมเป็นตุ๊กตา หรือของเมย์เบลลีนก็เป็นสินค้าที่ขายก่อนวางตลาด”
ทอมยังให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่เลือกซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ เพราะต้องการสินค้าราคาถูก แต่ต่อจากนี้จะเริ่มพัฒนามาสู่ความต้องการความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าในเมือง
ในปีนี้ ยังได้เห็นผู้เล่นใหม่ๆ ในตลาดอีคอมเมิร์ซ เช่น นักธุรกิจหนุ่ม ปลาวาฬ-วรสิทธิ์ อิสสระ ทายาทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของโรงแรมศรีพันวา ภูเก็ต แบ่งเวลามาทำธุรกิจใหม่เข้าสู่เส้นทางอีคอมเมิร์ชเช่นกัน ในชื่อบริษัท สยามแบรนด์ จำกัด พร้อมเปิดเว็บไซต์ Guruwan (กูรูวาน) โดยเน้นสินค้าไลฟ์สไตล์ระดับพรีเมียม และสินค้าจากบรรดาดีไซเนอร์ชั้นนำของเมืองไทย ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ สินค้าหัตถกรรม
เซเว่นฯ แตกไลน์ธุรกิจ ขยายเส้นทางอีคอมเมิร์ซ
นอกจากนี้ ยักษ์ใหญ่วงการค้าปลีกของเมืองไทยอย่างเซเว่นอีเลฟเว่นก็ขอลงสนามอีคอมเมิร์ซบ้าง ใช้ชื่อว่า “ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง ซึ่งต่อยอดจากธุรกิจที่ซื้อขายผ่านแค็ตตาล็อก 7-Catalog กว่า 14 ปี โดยนำการมีหน้าร้านที่มีมากกว่า 7,000 สาขาทั่วประเทศไทยมาเป็นจุดแข็ง
ธุรกิจในเครือซีพีอย่าง กลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น ก็มีเว็บไซต์ Weloveshopping.com ความแตกต่างอยู่ที่ว่า เว็บไซต์นี้ผู้ค้าสามารถมีร้านค้าออนไลน์ที่สามารถจดโดเมนเนมหรือชื่อเว็บไซต์ของตัวเองได้ เหมือนมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง และมาใช้เซเว่นอีเลฟเว่นในการรับสินค้า
“นิยามของทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง คือแหล่งช้อปปิ้งที่บริการสินค้าที่หลากหลาย และมีหลายช่องทางให้เลือก จริงๆ เราเริ่มมาทำอีคอมเมิร์ซมาได้ 3-4 ปีแล้ว เป็นช่วงพัฒนาระบบมาโดยตลอด แรกๆ มีอุปสรรคเยอะ จึงต้องใช้ Know how จากบริษัท Otto บริษัทที่ทำอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมันมาช่วยในการพัฒนาระบบ คิดว่าตอนนี้พวกระบบ Infrastructure ในไทยพร้อมระดับหนึ่งแล้ว ทั้ง 3G 4G ระบบออนไลน์ เราเลยลงทุนทำจริงจัง” อำพา ยงพิศาลภพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด กล่าวถึงความเป็นมาของทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง
ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้งครอบคลุมทั้งหมด 4 ช่องทาง คือ 1.แค็ตตาล็อก ออน เชล์ฟ คือ สินค้าที่ขายดีบนแค็ตตาล็อกมาวางขายบนชั้นสินค้าในเซเว่นอีเลฟเว่น มีสัดส่วนยอดขาย 75% 2 .แค็ตตาล็อก 7-Catalog มีสัดส่วนยอดขาย 10-15% 3.ผ่านCall Center สัดส่วนยอดขาย 5% มีบริการรับส่งสินค้าตลอด 24 ชม. และ 4.อีคอมเมิร์ซ 4 เว็บไซต์ สัดส่วนยอดขาย 5% 1.) www.7Catalog.com 2.) www.Shopat7.com 3.) www.amuletat7.com 4.) HYPERLINK “http://www.booksmile.com/”www.booksmile.com
แม้ว่าการแข่งขันในธุรกิจอีคอมเมิร์ซกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น เขาก็หวังเชื่อมโยงจุดแข็งจากหน้าร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นยุทธศาสตร์หลักในการต่อสู้ครั้งนี้ ด้วยจำนวนสาขามากกว่า 7,000 สาขา ที่สามารถสั่งซื้อ รับสินค้า และจ่ายเงินได้สะดวก มีระบบขนส่งสินค้าที่สั่งซื้อเข้าสาขาอาทิตย์ละ 2 ครั้ง และมีพนักงานอยู่ที่หน้าร้านตลอด 24 ชั่วโมงคอยให้บริการ
“พฤติกรรมการช้อปปิ้งของคนไทยยังไงก็ยังเอ็นจอยที่จะช้อปปิ้งตามห้างอยู่ดี เพราะเมืองไทยเป็นเมืองร้อน หลายคนจะชอบเดินตากแอร์ และได้สัมผัสสินค้า ส่งผลให้วันจันทร์ – พฤหัสบดีเป็นช่วงวันที่ขายดีที่สุด ส่วนสุดสัปดาห์อย่างวันศุกร์ – อาทิตย์จะขายไม่ค่อยดีเพราะคนออกไปช้อปปิ้งที่ห้างแทน อีคอมเมิร์ซมาเสริมอีกช่องทางเลือกให้ผู้บริโภคสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งจะแตกต่างจากทางโซนยุโรปจะชอบซื้อของออนไลน์มากกว่า เพราะบ้านเมืองอากาศหนาว ไม่ชอบออกไปข้างนอก