ASK ถามกันสนั่นเมืิอง

ในช่วงสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนคงจะได้เห็นเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยม และแชร์กันกระหน่ำบนโลกออนไลน์ และแน่นอนว่ายังไงแล้วคนไทยก็ขอโหนกระแสไปกับเขาด้วย เพราะไม่มีใครอยากตกเทรนด์เป็นแน่

เว็บไซต์ที่ว่าก็คือ Ask.fm เป็นแพลตฟอร์มของโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่สามารถเข้าได้ทั้งทางเว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่น มีคอนเทนส์หลักๆ คือการสนทนากันในกลุ่มเพื่อนฝูง หรือคนที่เราต้องการติดตาม สามารถ Follow บุคคลอื่นๆ ได้ตามใจชอบ โดยเป็นการสนทนาด้วยการ “ตั้งคำถาม” ด้วยจำนวนตัวอักษรไม่เกิน 300 ตัว ส่วนคำตอบ สามารถตอบได้ทั้งตัวอักษร รูปภาพ และวิดีโอ

ดูเหมือนว่าหน้าตาจะเหมือนกับโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ ที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่จุดเด่นหลักๆ ที่ทำให้ Ask.fm ดังกระหึ่มเป็นพลุแตกได้ในตอนนี้คือ “การไม่ระบุชื่อคนถาม” นับว่าเป็นกิมมิกหลักๆ ที่ทำให้หลายๆ คนสนใจ และชักชวนเพื่อนฝูงมาเล่นกัน

นอกจากจะเป็นการตั้งคำถามแบบไม่เปิดเผยตัวตนแล้ว เราก็ไม่สามารถรับรู้ได้อีกด้วยว่าเพื่อนคนไหนติดตามเราอยู่ แต่จะขึ้นเป็นจำนวนคนเท่านั้น ความน่าตื่นเต้นอยู่ที่ว่า เราสามารถคุยกับคนที่เราไม่กล้าคุยได้ อย่างเช่นคนที่เราแอบชอบ แต่ในขณะเดียวกันก็นำพาซึ่งความหยาบคายในภาษาด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อไม่มีการเปิดเผยตัวตน หลายคนก็จะใช้ถ้อยคำ หรือประโยคที่รุนแรงในการพูดคุยกัน

หลายคนอาจจะคิดว่า Ask.fm เป็นเว็บไซต์น้องใหม่ที่เข้ามาตีตลาดโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ แต่ที่จริงแล้วมีอายุอานามถึง 4 ปี เข้าไปแล้ว ก่อตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2010 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Riga ประเทศ Latvia โดย CEO มีนามว่า Ilja Terebin

ในตอนแรก Ask.fm ก็เป็นการสนทนาเหมือนกับโซเชียลเน็ตเวิรืกอื่นๆ เช่นกัน แต่เมื่อเดือนธันวาคม 2011 ได้ปล่อยฟีเจอร์การไม่เปิดเผยตัวตนผู้ถามออกมา ทำให้ Ask.fm เป็นที่นิยม และในเดือนมิถุนายน 2013 ก็ได้ปล่อยแอพพลิเคชั่นทั้งใน iOS และแอนดรอยด์ออกมา

ปัจจุบัน Ask.fm ได้ให้บริการทั่วโลก พร้อมทั้งมีภาษาท้องถิ่นไว้รองรับถึง 40 ภาษา หนึ่งในนั้นก็มีภาษาไทยอยู่ด้วย ในเดือนสิงหาคม 2013 Ask.fm ได้มีจำนวนผู้ใช้ทั่วโลก 70 ล้านคน และมีจำนวนคำถามและคำตอบมากกว่า 30 ล้านครั้งต่อวัน ล่าสุดเดือนเมษายน 2014 Ask.fm ได้มีจำนวนผู้ใช้ทั่วโลกถึง 112 ล้านคนแล้ว

เหตุผลที่ทำให้ Ask.fm เป็นที่นิยมก็คือการที่ไม่เปิดเผยตัวตนนี่เอง ถ้ามองย้อนกลับไปถึงความนิยมของ Snapchat ก็ด้วยความใหม่ของแอพพลิเคชั่น และมีฟังก์ชั่นที่แปลก แหวกแนวจากโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ ในตลาด ทำให้วัยรุ่นอยากลอง อยากเล่น และแชร์กันต่อไปบนโลกออนไลน์

เห็นกระแสความยอดนิยมขนาดนี้ งานนี้ไม่รูว่าเฮียมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กแห่งเฟซบุ๊คจะกว้านซื้อกิจการเข้าอาณาจักรตนเองอีกหรือเปล่า เพราะช่วงหนึ่งที่ Snapchat เป็นที่นิยม เฮียมาร์กก็เจรจาขอซื้อด้วยมูลค่าถึง 3,000 ล้านบาท แต่ทาง Snapchat กลับปฏิเสธ

Ask.fm เป็นอีกหนึ่งเคสที่น่าสนใจสำหรับ Start up หน้าใหม่ ที่ต้องพัฒนาโปรดักส์ด้วยไอเดียที่แปลกใหม่ แต่ต้องสร้างสรรค์ เพราะผู้บริโภคสมัยนี้เบื่อง่าย