เกิดอะไรขึ้น เมื่อมี YOUTUBE ประเทศไทย

 

ผู้ผลิตคอนเทนต์เฮ…เอเยนซี่โฆษณาขานรับ YouTube.co.th เชื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารแบรนด์ สินค้า รวมทั้งสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคในยุค “มัลติสกรีน” บางรายเลือกอัดงบลงโฆษณาลงแทนทีวีดิจิตอลที่ยังติดปัญหาหลายจุด

ได้ฤกษ์เปิดตัว YouTube ประเทศไทย อย่างเป็นทางการ โดยไทยเป็นประเทศที่ 62 งานนี้กูเกิลเลยทุ่มทุนเปิดตัวเช้าจรดค่ำ ระดมสื่อมวลชนทั้งสายธุรกิจ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ดารานักร้อง เจ้าของคลิปดัง และเอเยนซี่โฆษณา

ผู้บริโภคของไทยเองก็คุ้นกับ YouTube กันดีอยู่แล้ว เป็นหนึ่งในโซเชียลมีเดียที่ใช้สำหรับเปิดดูคลิปหนัง ละคร ดูมิวสิกวิดีโอ หนังสั้น คลิปมันๆ ตามใจชอบ เข้ากับยุคมัลติสกรีน ที่ผู้บริโภครับสื่อจากอุปกรณ์ปลายทางหลากหลาย

ผู้บริหารกูเกิล ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า คนไทยดูยูทิวบ์ไม่น้อยกว่าพันล้านวิวต่อเดือน แถมแต่ละวันก็มีคลิปใหม่ๆ ให้ดูตลอด

การเปิดตัว YouTube ประเทศไทย จึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าไทยเป็นตลาดสำคัญโดยเฉพาะในเรื่องของการทำ “ธุรกิจ” ของ YouTube ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อเป็นยูทิวบ์ ประเทศไทย คือ

1. เปลี่ยนมาใช้ youtube.co.th ที่มาพร้อมกับโลโกที่เพิ่มลายเส้นหัวโขนวานรในวรรณคดีไทย ตัวอักษร TH อยู่ด้านบน

2. คอนเทนต์ของวิดีโอ จะเป็นคลิปวิดีโอในประเทศไทยเท่านั้น จากที่ปกติจะเป็นการรวบรวมคลิปวิดีโอยอดนิยมจากทั่วโลก แต่ก็ยังเลือกคอนเทนต์ของแต่ละประเทศได้ตามต้องการ หรือจะรับวิดีโอจากทั่วโลกเหมือนเดิมก็ได้

3. โครงการ Youtube Partner Program (YPP) การเปิดให้ผู้ผลิต Content หารายได้จาก YouTube ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือเจ้าของช่องรายการ เข้ามาเป็น Content Creator หากวิดีโอได้รับความสนใจ มียอดวิวสูง จนเป็นที่สนใจของแบรนด์มาลงโฆษณา ผู้ผลิต Content จะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากโฆษณาที่มาลงด้วย

วิธีนี้ จะทำให้ยูทิวบ์มีคอนเทนต์ดีๆ เข้ามาในมือ จากผู้ผลิตคอนเทนต์หลากหลาย จากทั้งรายใหญ่และคนทั่วไปที่ไม่มีชื่อเสียง ซึ่งผู้ผลิตเหล่านี้จะไม่ได้ใช้ยูทิวบ์เป็นเวทีแสดง แต่ยังเป็นช่องทางหารายได้ อย่างกรณีของ VRZO ของปลื้ม-สุรบท หลีกภัย, เสือร้องไห้, เจาะข่าวตื้น, วงดนตรี Room 39 ที่เคยแจ้งเกิดบนยูทิวบ์มาแล้ว แต่หลังจากนี้ผู้ผลิตเหล่านี้จะมีรายได้เข้ากระเป๋าด้วย

งานนี้ ยูทิวบ์ไทยแลนด์เลยจูงมือช่อง 7, ช่อง 3, จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, อาร์เอส รวมถึงที่ดังในยูทิวบ์อย่าง SpokeDark TV, VRZO และ Iconic Record ของหนุ่มโดม ปกรณ์ ลัม มาเปิดตัวบนเวทีในฐานะ Content Creator

คิดค่าโฆษณาด้วยการประมูลเหมือนกูเกิล

ส่วนทางด้านโฆษณาเอง สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นที่ต้องการไปเที่ยวเกาหลี ก็สามารถเลือกโฆษณาในแชนแนลที่เป็นรายการวัยรุ่น หรือมิวสิกวิดีโอเพลง หรือทำหน้าที่จุดประกายภายในโฆษณา 15 วินาที ทำให้ผู้บริโภคสามารถไปติดตามต่อในช่องทางอื่นๆ ได้
ยูทิวบ์จึงได้เปิดตัวโฆษณา 6 รูปแบบ (ดูตารางประกอบ) โฆษณาแต่ละรูปแบบมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน และโฆษณารูปแบบที่ 5 และ 6 จะใช้งานได้แค่บนคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปเท่านั้น จะไม่ปรากฏบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต

การซื้อโฆษณานั้น ทางยูทิวบ์ไม่มีอัตราค่าโฆษณาที่ตายตัว จะใช้วิธีการประมูลราคา (Auction) ตามแบบฉบับของกูเกิล สมมุติว่ามี 5 แบรนด์ที่สนใจโฟกัสกลุ่มเป้าหมายที่ดู How to สอนแต่งหน้า ทั้ง 5 แบรนด์ก็ต้องเสนอราคาประมูลกัน ราคาก็ขึ้นอยู่กับว่าแบรนด์ไหนให้เท่าไหร่ โดยยูทิวบ์มองว่าเป็นการแข่งขันที่โปร่งใสที่สุด

ทำคอนเทนต์เอง ไม่เสียค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ การทำโฆษณาเป็นหนังสั้น ปล่อยในยูทิวบ์ก่อนเป็นเวลา 5-7 นาที จากนั้นค่อยออกอากาศในโฆษณาช่องฟรีทีวี ยกตัวอย่างหนังโฆษณาของไทยประกันชีวิต หรือโฆษณา “หมวยเกาเหลา” ของทรู ทางยูทิวบ์จะไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมถึงการนำวิดีโอโฆษณาที่ฉายทางฟรีทีวีมาอัปโหลดลงในแชนแนลก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน หนังโฆษณาสั้นๆ ทางยูทิวบ์ไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย เพราะถือเป็นคอนเทนต์ของแบรนด์
ส่วนจะโดนใจผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหน เป็นการบ้านที่แต่ละแบรนด์ต้องศึกษา ในการวางแผนทำสื่อโฆษณาควรคิดล่วงหน้าให้ครบทุกช่องทาง

เสียบแทนโฆษณาทีวีดิจิตอล

ในระหว่างที่ทีวีดิจิตอลยังมีความสับสนอยู่หลายเรื่อง ทั้งเรื่องของเทคนิค กฎกติกาต่างๆ รวมถึงการออกอากาศยังไม่ครอบคลุม ยังไม่มีการวัดเรตติ้ง รวมถึงช่องรายการที่หายาก ล้วนแต่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดในการรับชมรายการ และการลงโฆษณาส่งผลให้เอเยนซี่โฆษณาหลายรายต้องชะลอการลงโฆษณาในทีวีดิจิตอลออกไปก่อน และหันมาเลือกลงโฆษณาบนยูทิวบ์แทน “สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคนหาช่องไม่เจอ เขาก็หันไปดูออนไลน์ ดังนี้ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเราจึงมองว่า หันไปใช้สื่อบนออนไลน์ แล้วทำโปรดักชั่นให้สนุก อาจจะทำเป็นภาพยนตร์สั้น 5-7 นาที หรือจะทำเป็นซีรีส์ แล้วไทอินสินค้าเข้าไป เราเน้นไปที่ยูทิวบ์เป็นหลัก ยิ่งมีการเข้ามาเป็นยูทิวบ์ไทยแลนด์ที่มีการโฆษณา มันก็ยิ่งง่ายขึ้น ทำให้สร้างคอนเทนต์ได้ง่ายขึ้นเช่นกัน จากนั้นก็ไปที่เฟซบุ๊ก เพราะเฟซบุ๊กจะเป็นช่องทางในการแชร์หนังโฆษณาของผู้บริโภค” รัฐชทรัพย์ นิชิด้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชูโอ เซ็นโก (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)