กสิกรไทยส่งนวัตกรรมใหม่ บัตรเครดิตเพย์เวฟสติ๊กเกอร์ใบแรกของไทย จ่ายง่ายแค่แตะไม่ต้องเซ็น ตั้งเป้าออก 2 แสนใบ ภายใน 57

กสิกรไทยผุดนวัตกรรมใหม่ บัตรเครดิตเพย์เวฟสติ๊กเกอร์ พกง่ายจ่ายไว แค่แตะไม่ต้องเซ็นชื่อ ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ พร้อมรองรับการขยายตัวของ Micro Payment ตั้งเป้ายอดผู้ใช้งาน 2 แสนบัตร พร้อมขยายสู่กลุ่มคมนาคมให้รองรับการใช้งาน ทางด่วน บีทีเอส รถไฟใต้ดิน ภายในปี 58

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการชำระเงินที่มียอดชำระต่อครั้งที่ต่ำ หรือ Micro Payment ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมความสะดวก รวดเร็ว และความต้องการถือเงินสดลดลง

ธนาคารกสิกรไทยผู้นำด้านดิจิตอลแบงกิ้ง และครองอันดันดับ 1 ในธุรกิจบัตรเครดิตกลุ่ม VISA payWave ด้วยยอดผู้ถือบัตรมากที่สุดในตลาด จึงเตรียมเปิดตัว บัตรเครดิต NFC Sticker กสิกรไทย (K-Wave NFC Sticker Credit Card) พัฒนาต่อยอดบัตรเครดิตประเภท K-Wave ที่ใช้เทคโนโลยี NFC (Near Field Communication) ในรูปแบบสติ๊กเกอร์เป็นบัตรแรกในไทย สามารถติดบนโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อื่นๆ จึงพกพาสะดวกพร้อมใช้งาน ช่วยลดการถือเงินสด ชำระเงินง่ายโดยการแตะหน้าบัตรบนเครื่องชำระเงิน โดยไม่ต้องเซ็นชื่อกำกับ ณ ร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ VISA payWave ทั่วโลก 

นอกจากนี้ ในด้านความปลอดภัย ผู้ถือบัตรเครดิต NFC Sticker กสิกรไทย (K-Wave NFC Sticker Credit Card)สามารถกำหนดวงเงินของบัตรได้เองตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป และใช้จ่ายผ่านบัตรโดยไม่ต้องมีลายเซ็นได้สูงสุด 1,500 บาทต่อรายการ สำหรับการชำระเงิน ต้องแตะบัตรกับเครื่องอ่านบัตรในระยะห่างไม่เกิน 10 ซม. ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดการชำระเงินผ่านบัตรโดยไม่ได้ตั้งใจมีน้อยมาก และบัตรนี้ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยจาก VISA โดยมี Chip มาตรฐาน EMV อยู่ภายในเพื่อป้องกันการคัดลอกข้อมูล ทั้งนี้ ผู้สมัครบัตรเครดิต NFC Sticker กสิกรไทย จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปีสำหรับปีแรก รวมทั้งสามารถสะสมคะแนนจากการใช้จ่ายเช่นเดียวกับบัตรเครดิตทั่วไปอีกด้วย

ธนาคารกสิกรไทย ตั้งเป้าหมายการออกบัตรเครดิต NFC Sticker กสิกรไทย (K-Wave NFC Sticker Credit Card)  และ K-Wave Credit Card จำนวน 200,000 บัตร โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรทั้งสิ้น 2,700 ล้านบาท ในปี 2557 พร้อมตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนร้านค้ารับบัตรกลุ่ม K-Wave จากปัจจุบันในตลาดที่มีกว่า 5,000 เครื่อง โดยเป็นของธนาคารกสิกรไทยจำนวน 3,500 เครื่องภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2557 และคาดว่าในตลาดจะเพิ่มเป็นเป็น 10,000 ร้านค้าทั่วประเทศภายในปี 2557 โดยเน้นธุรกิจที่มีการชำระเงินรายย่อยสูง และธนาคารกสิกรไทย กำลังดำเนินการพัฒนาต่อยอดการใช้งานบัตรเครดิต NFC Sticker กสิกรไทย (K-Wave NFC Sticker Credit Card) ให้สามารถใช้ชำระเงินในกลุ่มคมนาคมขนส่งต่าง ๆ  อาทิ ค่าทางด่วน, รถไฟฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2558 

นายชาติชาย กล่าวว่า การพัฒนาบัตรเครดิต NFC Sticker กสิกรไทย (K-Wave NFC Sticker Credit Card) สะท้อนความเป็นผู้นำด้านดิจิตอลแบงกิ้งของธนาคารกสิกรไทย ในการนำนวัตกรรมบริการใหม่มารองรับการขยายตัวของการชำระเงินรายย่อยที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนอกจากผู้ใช้บัตรจะได้รับความสะดวกด้วยขั้นตอนชำระเงินที่รวดเร็วขึ้น และช่วยให้ร้านค้ามีขั้นตอนการรับชำระค่าสินค้าที่กระชับขึ้น โดยเฉพาะร้านจำหน่ายสินค้าและบริการที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว จำนวนเงินธุรกรรมไม่สูงมาก เช่น ร้านอาหาร เครื่องดื่ม มินิมาร์ท โรงภาพยนตร์ นอกจากนี้ บริการดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการลดการใช้เงินสดลง เพื่อช่วยลดภาระในการผลิตธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย และลดความเสี่ยงให้แก่ประชาชนในการทำเงินสดสูญหายหรืออันตรายจากมิจฉาชีพ

ปัจจุบันในประเทศไทยมีบัตรเครดิต ที่ใช้เทคโนโลยี NFC (Near Field Communication) ในตลาด ทั้งบัตรที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์และบริษัทต่าง ๆ จำนวนรวมประมาณ 100,000 บัตร สำหรับธนาคารกสิกรไทย ปัจจุบันมีบัตร K-Wave Credit Card ทั้งสิ้น 80,000 บัตร โดยคาดว่า ณ สิ้นปีในตลาดจะมีบัตรเครดิตที่ใช้เทคโนโลยี NFC ประมาณ 300,000 บัตร

ด้านภาพรวมตลาดสินเชื่อบัตรเครดิต พบว่า NPL ของทั้งตลาด ณ สิ้นสุดไตรมาส 1 ปี 2557 อยู่ที่ 2.72% ขณะที่ NPL สินเชื่อบัตรเครดิตธนาคารกสิกรไทย ในช่วงเวลาเดียวกัน อยู่ที่ 1.72% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าตลาด ทั้งนี้ เป้าหมายสิ้นปี 2557 ของธนาคารฯ จะขยายฐานบัตรเครดิตใหม่จำนวน 715,000 บัตร และมีฐานลูกค้าบัตรเครดิตรวม 3.6 ล้านบัตร เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2556 ราว 16% มียอดใช้จ่ายทั้งหมดผ่านบัตร อยู่ที่ 3.44 แสนล้านบาท ขยายตัว ราว 31% รวมทั้งประมาณการยอดสินเชื่อคงค้างหลังปรับฐาน สิ้นปี 2557 จะอยู่ที่กว่า 72,000 ล้านบาท ขยายตัวในช่วง 11-12%