CTH + GMM Z Begin Again

“เพย์ทีวี” ธุรกิจที่ได้ชื่อว่า “ผันผวน” ที่สุด เมื่อ “ซีทีเอช” ควบกิจการ “จีเอ็มเอ็ม แซท” ซ้ำรอย “ไอบีซี” และ “ยูทีวี” ในอดีต 20 ปีที่แล้ว หวังปักหลักสู้ศึก “ทรูวิชั่นส์” ในสังเวียนการแข่งขันที่กำลังพลิกโฉมหน้าไปอีกครั้ง

นับเป็น “บิ๊กดีล” อีกครั้งของธุรกิจ “เพย์ทีวี” หลังจากเปิดฉากการแข่งขันอย่างหนักเพื่อช่วงชิงฐานสมาชิก จนเป็นที่มาของการควบรวมกิจการระหว่าง “ไอบีซี” ของกลุ่มชินคอร์ป และ “ยูทีวี” ของค่ายทรู และกลายมาเป็น “ทรูวิชั่นส์” ที่ดำเนินการโดยค่ายทรู คอร์ปอเรชั่น และเป็นผู้เล่นในตลาดเพียงรายเดียวมายาวนาน

จนกระทั่งเมื่อ อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ตัดสินใจนำ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ลงสู่สนาม “เพย์ทีวี” หวังจะปั้นให้เป็นธุรกิจดาวรุ่งดวงใหม่แทนที่ธุรกิจเพลงที่อยู่ในช่วงขาลง ตามมาด้วย “ซีทีเอช” ที่มี “วิชัย ทองแตง” ที่เจ้าพ่อตลาดหุ้นที่ลงมาสู้ในสนามแข่งขันเพย์ทีวีนี้ด้วย

ส่งผลให้ตลาดเพย์ทีวีอยู่ในมือของผู้เล่นระดับบิ๊ก 3 รายใหญ่ ที่ต้องเดินหมากการตลาดเพื่อช่วงชิงฐานสมาชิกมาอยู่ในมือให้มากที่สุด

ช่วงแรกสปอร์ตไลต์ฉายไปที่ “ซีทีเอช” ที่ตัดสินใจควักกระเป๋าเกือบหมื่นล้าน ทุ่มซื้อฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ หรือ EPL ฤดูกาล 2013-2016 มาจากทรูวิชั่นส์ เพื่อหวังให้ EPL เป็น “หมัดเด็ด” แจ้งเกิด CTH ชั่วข้ามคืน ดึงดูดสมาชิกเข้ามาในเครือข่ายโดยเร็ว ด้วยจำนวนสมาชิกที่ตั้งเป้าไว้ 3 ล้านราย

แต่สถานการณ์กลับไม่ได้เป็นไปตามที่ซีทีเอชคาดหวังไว้ ด้วยความไม่พร้อมของเครือข่ายการส่งสัญญาณภาพการรับมีปัญหายิ่งเมื่อเจอฝน เป็นเงื่อนปมปัญหาที่ซีทีเอชต้องถูกต่อว่าต่อขานจากลูกค้ามาตลอด เนื่องจากเวลานั้นช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคมเต็ม ซีทีเอชจึงต้องไปเช่าช่องสัญญาณจากดาวเทียม “วีนาแซท” ของเวียดนามแทน ซึ่งมีปัญหาไม่สามารถใช้จานรับสัญญาณดาวเทียมร่วมกับกล่องอื่นๆ ได้

นอกจากนี้ เดิมที “ซีทีเอช” หวังจะให้เคเบิลทีวีท้องถิ่นมาเป็น “พันธมิตร” ทั้งการนำรายการของซีทีเอชไปออกอากาศ รวมถึงการเข้าร่วมการลงทุนพัฒนาส่งสัญญาณระบบดิจิตอล และการวางโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติกในเส้นทางหลัก โดยให้เคเบิลท้องถิ่นลงทุนในส่วนที่ต่อเข้าครัวเรือนของสมาชิก  

ซีทีเอชเองก็มั่นใจพอสมควร เพราะจุดกำเนิดของ “ซีทีเอช” เกิดมาจากการรวมตัวของ “เถ้าแก่เคเบิลทีวีท้องถิ่น” และต่อมา “วิชัย ทองแตง” ได้เข้ามาถือหุ้น ถึงแม้จะมีการดึงผู้ถือหุ้นไทยรัฐเข้ามา แต่ผู้ประกอบธุรกิจเคเบิลทีวียังถือหุ้นอยู่ และคนใกล้ชิดของ “วิชัย ทองแตง” ก็มีบทบาทอยู่ในสมาคมเคเบิลทีวี ซึ่งตามแผนของ “ซีทีเอช” คือ ต้องการให้เคเบิลท้องถิ่นเข้ามาร่วมในการขยายเครือข่าย

แต่ผลปรากฏว่าไม่เป็นไปตามที่ “ซีทีเอช” คาดหวังไว้ เพราะเคเบิลทีวีท้องถิ่นไม่มั่นใจกับโมเดลของ “ซีทีเอช” ที่สำคัญกังวลว่าจะโดนซีทีเอชฮุบฐานลูกค้าและกิจการ แนวคิดของการเป็น Single Platform จึงต้องระงับไป

นอกจากนี้ “ซีทีเอช” ยังไม่มีความพร้อมในการติดตั้ง ช่างมีไม่เพียงพอ แม้ว่าตัวแพ็กเกจราคาที่ทำออกมาในราคาเหมาจ่ายรายปีที่นอกจากจะจูงใจสมาชิกได้อย่างดี ยังทำใหซีทีเอชเองได้เงินทุนมาหมุน และได้ลูกค้ามาไว้ในมือ 

แต่ก็ด้วยความที่ขาดความพร้อมในเรื่องการติดตั้ง และระบบหลังบ้าน รวมถึงเครือข่ายการส่งสัญญาณ และนอกจาก EPL แล้ว รายการอื่นๆ ของซีทีเอชก็ไม่ได้รับความนิยม จึงเป็นอีกปมปัญหาที่ใหญ่ที่ทำให้ “ซีทีเอช” ต้องตกที่นั่งลำบาก ทำให้ปีแรกของการได้ลิขสิทธิ์ EPL มาไว้ในมือจึงไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวัง โดยมีผลขาดทุนกว่า 4,000 บาท
 
“ซีทีเอช” จึงต้องเร่งหาทางออก เพราะนอกจากจะมีคู่แข่งในธุรกิจทางตรงใน “เพย์ทีวี” ด้วยกันอย่างทรูวิชั่นส์ และจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ก็ยังมีคู่แข่งจากดิจิตอลทีวีอีก 24 ช่องที่เข้ามาแย่งชิงคนดู

ในขณะที่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่เองก็ตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากไม่แพ้กัน ด้วยผลขาดทุนต่อเนื่องตลอด 2 ปี ไม่สามารถเพิ่มยอดสมาชิกน้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากการแข่งขันสูง ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ ทำให้รายได้ยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย หากปล่อยไว้จะไม่เป็นผลดีต่อภาพรวมของผู้ถือหุ้นและนักลงทุน

จึงเป็นที่มาของการ “ดีล” การสวอปหุ้นระหว่าง “ซีทีเอช” และ “จีเอ็มเอ็ม แซท” โดยบริษัทซีทีเอช แอล ซีโอ จะเข้าไปถือหุ้น 100% ใน “บริษัทจีเอ็มเอ็ม บี” ซึ่งเป็นบริษัทลูกของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ที่ดำเนินธุรกิจเพย์ทีวี และ “แซท เทรดดิ้ง” บริษัทลูกของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะเข้ามาถือหุ้นใน “ซีทีเอช” ในสัดส่วน 10% 

  
นั่นเท่ากับว่า ธุรกิจ “เพย์ทีวี” ของแกรมมี่ที่มีผลขาดทุน จะถูกโอนไปอยู่ภายใต้ “ซีทีเอช” ซึ่งจะเป็นบริษัทแม่ ที่จะมีบริษัท ซีทีเอช แอล ซีที และจีเอ็มเอ็ม บี มาอยู่ภายใต้ โดยซีทีเอชยังดูแลด้านการตลาดของธุรกิจ “เพย์ทีวี” ของจีเอ็มเอ็ม แซท ซึ่งยังคงขายกล่องต่อไป

ซีทีเอชมองว่า ดีลนี้ทำให้ “ซีทีเอช” มีฐานลูกค้าเพย์ทีวีที่ได้จากการควบรวมกิจการจีเอ็มเอ็ม บี และส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นทันที รวมถึงระบบหลังบ้าน และการให้บริการจากแกรมมี่จะช่วยอุดจุดอ่อนเรื่องการติดตั้งและบริการที่จีทีเอชยังมีปัญหาให้ดีขึ้น รับกับการบุกตลาด EPL ปีที่สองได้อย่างดี

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนจาก “คู่แข่ง” มาเป็น “คู่ค้า” แทนที่จะแย่งกันซื้อคอนเทนต์ ก็จะมีการแชร์กัน โดยซีทีเอชมีลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่ยังเหลืออีก 2 ปี ในขณะที่จีเอ็มเอ็ม แซทมีคอนเทนต์ลิขสิทธิ์กีฬาฟุตบอลอย่างบุนเดสลีกา เยอรมัน หรือฟุตบอลยูโร 2016  ด้านบันเทิงทั้งเพลงจากแกรมมี่ และภาพยนตร์จากค่าย GTH คอนเทนต์ ที่จะนำมา “อุดจุดอ่อน” สร้างให้เป็นจุดแข็ง โดยวางเป้าหมายว่าจะมีช่องออกอากาศรวมกัน 150 ช่อง

นอกจากนี้ ซีทีเอชยังจะได้ช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม 5 ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำนวน 6 ทรานสปอนเดอร์ จากเดิมที่ซีทีเอชออกอากาศผ่านดาวเทียมวีนาแซทของเวียดนามในระบบ KU-Band จำนวน 7 ทรานสปอนเดอร์ และดาวเทียมไทยคมจำนวน 4 ทรานสปอนเดอร์ ทำให้ซีทีเอชมีช่องสัญญาณออกอากาศรวมทั้งหมด 17 ทรานสปอนเดอร์ มาแก้ปัญหาเรื่องการเช่าดาวเทียมของเวียดนาม ซึ่งมีข้อจำกัดทั้งในเรื่องของสัญญาณ และไม่สามารถใช้จานรับสัญญาณดาวเทียมร่วมกับกล่องอื่นๆ และรองรับการขยายช่องรายการใหม่ๆ

ที่สำคัญ ยังช่วยให้ฐานะการเงินของทั้งคู่ที่อยู่ในภาวะขาดทุนดีขึ้น โดยซีทีเอชมียอดขาดทุน 4,000 ล้านบาท ในขณะที่จีเอ็มเอ็ม บีมีผลขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2555 ปี 2556 และไตรมาสแรกของปี 2557 เป็นเงิน 1,300 ล้านบาท

ทางฟากจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เท่ากับเป็นการยุติธุรกิจเพย์ทีวี ด้วยการโอนย้ายลูกค้าและการให้บริการต่างๆ ไปยัง CTH แทน จึงเป็นทางออกที่จะช่วยให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่มีผลประกอบการที่ดีขึ้น ไม่ต้องแบกรับผลขาดทุน เพื่อจะได้หันมาโฟกัสธุรกิจดิจิตอลทีวี ที่ประมูลใบอนุญาตมาได้ 2 ช่อง เป็นช่องทางในการเผยแพร่คอนเทนต์ ยังต้องควักเงินลงทุนอีกมาก 

ถึงแม้ว่าทางแกรมมี่เองยังไม่กล้าฟันธงว่าจะพลิกทำกำไรหรือไม่ เนื่องจากไตรมาส 1 และ 2 ยังต้องแบกรับผลขาดทุนธุรกิจเพย์ทีวีอยู่ แต่จะไปลุ้นไตรมาส 3 ซึ่งเชื่อว่าผลการดำเนินงานจะดีขึ้น จากการล้าง “จีเอ็มเอ็ม บี” ออกจากพอร์ตการลงทุน

ส่วนทางกุนซือใหญ่แห่ง CTH เชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้าที่จะทำรายได้ให้ GMM B เพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าหรือคิดเป็น 6,000 – 7,000 ล้านบาท ผ่านกลยุทธ์แบบ ABCD
A : Advertising การหารายได้จากโฆษณา 6 นาที
B : Box กล่องรับสัญญาณ GMM Z แจ้งว่ามีฐานลูกค้าในตลาดรวม 2.5 ล้านราย เป็นในระบบสมาชิกรายเดือนจำนวน 4 แสนราย ยังมีช่องวางสำหรับลูกค้าที่มีกล่องแต่ไม่ได้ซื้อแพ็กเกจ เป็นสิ่งที่ทาง CTH ต้องนำเสนอคอนเทนต์เพื่อขายแพ็กเกจให้กับลูกค้าเหล่านั้นที่ยังเป็นกลุ่มใหญ่ สำหรับของ CTH มีสมาชิกรายเดือนจำนวน 5 แสนราย
C : Content คอนเทนต์รายการ การร่วมคอนเทนต์ของทั้งสองฝ่ายทำให้ลูกค้าของแต่ละค่ายต่างดูคอนเทนต์ด้วยกันได้หมด อีกทั้งยังดึงดูดลูกค้าให้ซื้อแพ็กเกจรายเดือนด้วย

คอนเทนต์ที่สำคัญที่จะนำมาใช้เป็นจุดขาย นอกจาก EPL คือ คอนเทนต์จากแพ็กเกจเพย์ทีวีของแกรมมี่อีกจำนวน 40 ช่อง รวมไปถึงลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโร และบุนเดสลีกา เยอรมันที่แกรมมี่ถืออยู่ในมือ มารวมกับฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ที่ซีทีเอชได้มายังเหลือลิขสิทธิ์อีก 2 ปี ที่ซีทีเอชเชื่อว่าจะมาต่อกรกับค่ายทรู ที่วางตัวเองเป็น “คิง ออฟ สปอร์ต”

ยิ่งเมื่อได้สัญญาเช่าสัญญาณดาวเทียมไทยคม เพื่อทลายข้อจำกัดทั้งในเรื่องของสัญญาณการรับชม และไม่สามารถใช้จานรับสัญญาณดาวเทียมร่วมกับกล่องอื่นๆ รวมทั้งระบบหลังบ้าน เรื่องการบริการและการติดตั้งจากจีเอ็มเอ็ม แซท มาช่วยอุดรูโหว่ในเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้ซีทีเอชกอบกู้สถานการณ์ที่กำลังย่ำแย่กลับคืนได้คืนมาเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้ง

ซีทีเอชคาดหวังว่า จากการออกแพ็กเกจรับชมพรีเมียร์ลีกมาใหม่ จะสามารถเพิ่มยอดสมาชิกใหม่ในปีนี้ได้ 2 ล้านราย จากที่มีอยู่ประมาณ 5 แสนราย และสิ้นปีจะมีสมาชิกทั้งหมด 3 ล้านราย โดยจะมีรายได้รายได้ไม่ต่ำกว่า 6,000-7,000 ล้านบาท

ซีทีเอช จึงต้องใส่เกียร์เดินหน้าเร่งสปีดเต็มที่ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากฟุตบอลพรีเมียร์ลีก 2014 ที่จะเริ่มขึ้นในอีกไม่ถึงเดือน ด้วยการแยกธุรกิจ “เพย์ทีวี” และ “ลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก” ออกจากกัน ไม่มุ่งเน้นการขายเฉพาะกล่องอย่างเดียวเท่านั้น ปั้นซีทีเอชให้เป็น Multi Platform ด้วยการจับมือกับพันธมิตรเพื่อนขยายฐานคนดูให้กว้าง โดยใช้ “พรีเมียร์ลีก” เป็นหมากสำคัญในการเดินเกมครั้งนี้

ขาหนึ่ง ซีทีเอช และจีเอ็มเอ็ม แซท ได้ร่วมกันออกกล่องพร้อมแพ็กเกจ ที่เรียกว่า “บันเดิล โปรดักส์” ออกมา 5 แพ็กเกจ ราคาตั้งแต่ 199-999 บาท เพื่อชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีก โดยลดหลั่นไปตามระยะเวลา และคอนเทนต์ เพื่อมุ่งขยายฐานลูกค้า ก่อนที่ฤดูกาลของพรีเมียร์ลีกจะเริ่มขึ้นในอีกไม่ถึงครึ่งเดือนข้างหน้า โดยวางเป้ายอดขายต่อเดือนไว้ที่ 1 แสนกล่อง

ขณะเดียวกัน ซีทีเอชใช้วิธีหา “พันธมิตร” เช่น เว็บไซต์ โทรศัพท์มือถือ ผู้ผลิตกล่อง เพื่อนำคอนเทนต์ของ “ซีทีเอช” แพร่กระจายไปยังคนดูให้มากที่สุดไม่จำกัดเฉพาะจานดาวเทียมและเคเบิลเท่านั้น แต่ซีทีเอชต้องการขยายออกไปทุกช่องทาง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 10 ล้านราย 

จึงเป็นที่มาของการร่วมมือกับเว็บไซต์ “สนุกดอทคอม” ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2014 และ 2015 ด้วยแพ็กเกจราคาตั้งแต่ 199-5,699 บาท รับชมผ่านเว็บไซต์ www.cth.sanook.com ในคอมพิวเตอร์พีซีเท่านั้น

ปัจจุบัน สนุกดอทคอม มีผู้เข้าเว็บไซต์ 25 ล้านยูสเซอร์/เดือน หรือประมาณ 1.7 ล้านยูสเซอร์/วัน โดยที่คอนเทนต์ในส่วนของกีฬามีผู้เข้าชม 1.5 ล้านยูสเซอร์/เดือน

การจับมือกันครั้งนี้ ซีทีเอชเองก็ได้ขยายแพลตฟอร์มไปสู่โลกออนไลน์ พร้อมเปิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ในตลาด ส่วนเว็บไซต์สนุกเองจะมีช่องทางหารายได้จากคอนเทนต์แบบเสียเงิน หรือ Paid Content ซึ่งที่ผ่านมาสนุกยังไม่เคยทำมาก่อน เพราะรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากโฆษณา 70% และอื่นๆ 30%

ทั้งสองตั้งเป้าดึงฐานคนดูจากผู้เข้าชมคอนเทนต์กีฬาจำนวน 1.5 ล้านยูสเซอร์ คาดการณ์จะมีผู้ชมไว้ที่ 300,000 ยูสเซอร์ภายใน 2 ปี และมีรายได้ 1,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันก็ไปจับมือกับ “พีเอสไอ” ผู้ผลิตกล่องรับสัญญาณดาวเทียมรายใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านี้ทรูวิชั่นส์เองก็ได้จับมือกับพีเอสไอ ออกกล่อง True TV ด้วยราคาบ้านๆ 890 บาท สามารถดูในแพ็กเกจฟรีวิวโดยไม่ต้องเสียค่าบริการรายเดือน

ซีทีเอชมองว่า การร่วมมือกับ “พีเอสไอ” สามารถเข้าถึงตลาดแมสได้กว้างขึ้น โดยใช้ฐานลูกค้าของพีเอสไอที่มีมากกว่า 10 ล้านกล่อง มาช่วยในการขยายตลาด “ซีทีเอช” เข้าสู่ตลาดแมส ด้วยการนำแพ็กเกจเหมาจ่ายพร้อมอุปกรณ์ PSI Plug in ขายในราคาเฉลี่ยเดือนละ 200 บาท สามารถชมพรีเมียร์ลีกได้ครบ 5 ช่อง ให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ 

ข้อดีของ PSI Plug in หรือ Boxless จะทำหน้าที่คล้าย USB สามารถเสียบกับเครื่องรับสัญญาณได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาติดตั้งกล่องใหม่ ลดต้นทุนในการผลิตได้เยอะ ตั้งเป้าลูกค้าจากกล่องพีเอสไอจำนวน 1 ล้านกล่อง

เร็วๆ นี้ ซีทีเอชจะเปิดตัวพันธมิตรบนแพลตฟอร์มโมบาย ซึ่งก็คือ AIS แต่ยังอยู่ในขั้นตอนเคาะราคาแพ็กเกจ และพันธมิตรช่องฟรีทีวีอีก 2 ช่อง ในการฉายฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

ซีทีเอช ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ด้วยกลยุทธ์เหล่านี้จะทำให้สามารถคืนทุนได้ภายในปีหน้า และมีฐานผู้ชม 3 ล้านรายที่มาจากการขายกล่อง แบ่งเป็นจาก PSI 1 ล้านราย กล่อง GMM Z 1 ล้านราย และกล่อง CTH 1 ล้านราย

ทรูวิชั่นส์อัดงบ 5,000 ล้านเพิ่มคอนเทนต์

ทางค่ายทรูวิชั่นส์ ได้รับมือกับ “ซีทีเอช” ด้วยการรักษาฐานลูกค้าไม่ให้เปลี่ยนค่าย ทั้งการเพิ่มงบลงทุนในการพัฒนาคอนเทนต์จากเดิม 3,000 ล้านบาท เป็น 4,000-5,000 บาท รวมถึงการเพิ่มรายการ และปรับราคาให้เข้าถึงตลาดแมสมากขึ้น

ภายใต้ 3 กลยุทธ์ 1.คอนเทนต์หลากหลายครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย 2.เพิ่มช่องรายการความคมชัดสูง หรือ HD 3.กลยุทธ์ราคาแพ็กเกจ เพื่อเข้าถึงลูกค้าให้แมสมากขึ้น 

ในส่วนของ “คอนเทนต์” จะเน้นในเรื่องคอนเทนต์จากต่างประเทศมากขึ้น เป็นในรูปแบบการซื้อลิขสิทธิ์เข้ามา แบ่งเป็นประเภทกีฬา ภาพยนตร์ ซีรีส์ บันเทิง ในสัดส่วนเท่าๆ กัน เพื่อเอาใจลูกค้าหลายกลุ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันทรูวิชั่นส์มีสัดส่วนคอนเทนต์ที่เป็นต่างประเทศถึง 80% และคอนเทนต์ผลิตเอง 20%

อรรถพล ณ บางช้าง

“สำหรับกีฬา จะหันมาเน้นคอนเทนต์โลคอลมากขึ้น เช่น ไทยพรีเมียร์ลีก วอลเลย์บอล กอล์ฟ สนุกเกอร์ แบดมินตัน เพราะคนไทยหันมาเชียร์มากขึ้น ส่วนกีฬาประเภทอื่นเราก็ยังมีลิขสิทธิ์อยู่” อรรถพล ณ บางช้าง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายรายการ บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวถึงทิศทางการวางคอนเทนต์ของทรูวิชั่นส์

นอกจากพฤติกรรมของคนดูทีวีในปัจจุบันมีแนวโน้มในการดูคอนเทนต์ในคุณภาพระดับ HD มากขึ้น พราะโทรทัศน์ที่รองรับ HD มีราคาถูกลง ทรูวิชั่นส์จะนำเเรื่อง HD เป็นจุดขาย ด้วยการอัพเกรดช่องให้เป็น HD มากขึ้นรักษาฐานลูกค้ากลุ่มพรีเมียม

เวลานี้ทรูวิชั่นส์มีรายการในรูปแบบ HD จำนวน 50 ช่อง จากจำนวนทั้งหมด 201 ช่อง โดยที่ตั้งเป้าจะเพิ่มรายการ HD อีก 3 ช่องภายในสิ้นปีนี้ ตั้งใจปั้นรายการของทรูวิชั่นส์เองเป็น HD เพิ่มมากขึ้น เช่น ทรู อินไซต์ งบลงทุนสำหรับ 3 ช่องนี้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

ส่วนกลยุทธ์ “ราคา” ทรูวิชั่นส์มีทั้งหมด 6 แพ็กเกจ ค่าบริการตั้งแต่ 299 – 2,155 บาท/เดือน ทรูจะเพิ่มรายการในแพ็กเกจ พร้อมกับปรับราคาให้ต่ำลงมาอีกเฉลี่ยแพ็กเกจละ 500 บาท เพื่อขยายฐานลูกค้าในกลุ่ม Medium Mass มากขึ้น ตอนนี้เองทรูวิชั่นส์มีลูกค้าในกลุ่มนี้อยู่ 60% และระดับพรีเมียม 40%

นอกจากนั้นใช้วิธีผนึกกำลังจากบริษัทในกลุ่มทรู นั่นคือ ทรูมูฟ และทรูออนไลน์ ทำโปรโมชั่นร่วมกัน ที่ผ่านมามีราคาตั้งแต่ 699, 799 ไปจนถึง 2,599 บาท

ปัจจุบันทรูวิชั่นส์มีฐานลูกค้าทั้งหมด 2 ล้านราย เป็นลูกค้าสมาชิกรายเดือนจำนวน 7 แสนราย ซึ่งใน 7 แสนรายนี้เป็นลูกค้าระดับพรีเมียมที่ใช้แพ็กเกจระดับโกลด์ และแพลตินัมจำนวน 2.5 แสนราย ตั้งเป้าเพิ่มยอดสมาชิกในปีนี้อีก 30%

นับเป็นอีกหนึ่งก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของธุรกิจเพย์ทีวี กับเดิมพันครั้งใหม่ของ “ซีทีเอช” ที่จะกลับมาชิงบัลลังก์กับคู่แข่งอย่าง “ทรูวิชั่นส์” ในสังเวียนรบครั้งใหม่ ที่จะพลิกผันได้หรือไม่ ต้องจับตา