สามค่ายมือถือ เอไอเอส ดีแทค ทรู จัดหนัก ออกแพ็กเกจชิงตลาดแรงงาน “ชาวพม่า” ที่เข้ามาทำงานในไทยที่มีเกือบ 5 ล้านคน ล่าสุดดีแทคถึงกับออก “สติกเกอร์ไลน์” ภาษาพม่า เพื่อเอาใจลูกค้าพม่าโดยตรง
ไม่ต้องแปลกใจที่คนไทยจะได้ยินชื่อซิมแปลกๆ อย่าง “ซิมมิงกะลาบา” แถมยังใช้ภาษาพม่าในการสื่อสาร เพราะไม่ใช่แค่ในโลกออฟไลน์เท่านั้นที่ผู้ให้บริการมือถือทำแคมเปญ ออกโปรโมชั่น จัดอีเวนต์ เอาใจคนพม่า แต่ในโลกออนไลน์ก็เช่นกัน “สติกเกอร์ไลน์” ภาษาพม่าเพื่อเจาะตลาดชาวพม่าโดยเฉพาะ
งานนี้ค่าย “ดีแทค” ยอมควักเงินลงทุนเป็นเงิน 3 ล้านบาท เปิด Official Sponsor และออก “สติกเกอร์ไลน์” ที่เป็นภาษาพม่า เพื่อสื่อสารกับลูกค้าพม่าโดยตรง นับเป็นสติกเกอร์ไลน์ตัวแรกในไทยที่ใช้ภาษาพม่า
ดีแทคประเมินแล้ว “คุ้ม” แน่ๆ เพราะฐานลูกค้าชาวพม่าที่ใช้บริการพรีเพด (เติมเงิน) แฮปปี้ของดีแทคเวลานี้มีไม่น้อยกว่า 3-4 ล้านคน เนื่องจากดีแทคเป็นผู้ให้บริการมือถือรายแรกๆ ที่เข้าไปทำตลาดลูกค้าชาวพม่าที่เข้ามาใช้แรงงานในไทย มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7-8 ปี โดยเริ่มจากการรุกไปทำตลาดในพื้นที่ที่มีชาวพม่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น จังหวัดสมุทรสาคร
ในการทำตลาดกับลูกค้าชาวพม่า ดีแทคทำคล้ายกับลูกค้าคนไทย มีการออกแพ็กเกจค่าโทรและบริการต่างๆ ให้โดนใจกับพฤติกรรมของลูกค้าพม่า และเปลี่ยนมาใช้ภาษาพม่าเพื่อสื่อสารได้โดยตรง
ปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) บอกว่า แพ็กเกจที่โดนใจลูกค้าชาวพม่ามากๆ คือ การออกแพ็กเกจค่าโทรวันละ 7-8 บาท เมื่อโทรในเครือข่ายดีแทค ซึ่งแพ็กเกจราคานี้มาจากความต่อเนื่องของดีแทคที่ทำตลาดลูกค้าพม่ามานาน นอกจากโปรโมชั่นแล้วยังมีการจัดอีเวนต์ต่างๆ ที่ทำออกมาเพื่อตอบโจทย์ให้กับลูกค้าชาวพม่าโดยเฉพาะ ทำให้แบรนด์ดีแทคจึงเป็นที่จดจำของลูกค้าชาวพม่า จนกวาดส่วนแบ่งตลาดไม่น้อยกว่า 50%
จนกระทั่งล่าสุดดีแทคได้ตัดสินใจออกสติกเกอร์ไลน์ภาษาพม่า ปกรณ์ บอกว่า วันแรกที่ออกวันเดียวก็มียอดโหลดสติกเกอร์แล้ว 1 ล้านราย โดยคนที่โหลดส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยเพราะเห็นว่าแปลกดี แต่เชื่อว่านับจากนี้ชาวพม่าจะเข้ามาโหลดไปใช้งานเพิ่มขึ้น
ส่วนที่ดีแทคตัดสินใจออกสติกเกอร์ไลน์เป็นภาษาพม่า เพื่อต้องการใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารกับลูกค้าชาวพม่าไม่ว่าจะเป็นลูกค้าของดีแทคโดยตรง และยังรวมไปถึงลูกค้าชาวพม่าที่เป็นของคู่แข่ง ทั้งเอไอเอส และทรู เมื่อโหลดสติกเกอร์ของดีแทคจะได้รู้ข้อมูลข่าวสารของดีแทคผ่านทาง Official Sponsor ได้ด้วย เท่ากับว่าดีแทคสามารถใช้ประโยชน์จากไลน์เป็นช่องทางในการสื่อสาร เพื่อช่วงชิงลูกค้าจากคู่แข่งได้โดยตรง
ประกอบกับในช่วงหลังคู่แข่งอีก 2 ราย คือ เอไอเอส และทรู ได้มีการออกซิมและโปรโมชั่น ออกมาทำตลาดเพื่อแย่งชิงลูกค้าชาวพม่า ทั้งโปรโมชั่น อัตราค่าบริการ รวมถึงการใช้ภาษาพม่า ก็ไม่ได้แตกต่างกัน ยิ่งค่ายทรูที่ออกแบบโฆษณาโดยใช้สีแดงและภาษาพม่า จนทำให้ดูคล้ายกับโปรโมชั่นของดีแทคที่ใช้สีแดงซึ่งเป็นสีของบริการแฮปปี้ที่ใช้เจาะลูกค้าพม่าเช่นกัน
ทางด้าน AIS ได้ออกซิมใหม่ “ซิมมิงกะลาบา” สำหรับชาวพม่า และ “ซิมซัวสะเดย” สำหรับชาวกัมพูชา เพื่อตีตลาดแรงงานชาวพม่าและกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยเฉพาะ ซึ่งแรงงานในกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวันๆ โดยมีอัตราค่าบริการโทรชั่วโมงละ 1 บาท ในเครือข่ายเอไอเอส ตั้งแต่ 6 โมงเช้า – 6 โมงเย็น และสามารถโทรกลับประเทศพม่าในราคานาทีละ 5 บาท และใช้ภาษาท้องถิ่นโดยตรง มีคอลเซ็นเตอร์ที่สามารถให้ข้อมูลภาษานั้นๆ และมีเสียงเพลงรอสายหรือ Calling Melody เป็นเพลงพม่าด้วย
เบญจพร กำเพ็ชร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดส่วนลูกค้าบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “เรามองโอกาสเรื่องแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยที่ค่อนข้างเยอะ แล้วกลุ่มคนเหล่านั้นมีความจำเป็นต้องใช้การโทรเพื่อการสื่อสารอยู่แล้ว ซึ่งในเมืองไทยคนพม่าและคนกัมพูชาเข้ามาทำงานมากที่สุด
จากสถิติที่ทางเอไอเอสได้รวบรวมมานั้น แรงงานชาวพม่าเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยด้วยจำนวนราว 4.5 ล้านคน และมีเพียงแค่ 40% ที่ขึ้นทะเบียนแรงงานอย่างถูกกฎหมาย ซึ่ง 96% ของคนกลุ่มนี้มีโทรศัพท์มือถือเป็นของตัวเอง แต่ยังคงใช้ในรูปแบบของฟีเจอร์โฟน เน้นการโทรมากกว่า ส่วนแรงงานชาวกัมพูชามีทั้งหมดราว 800,000 คน
พฤติกรรมการใช้งานของลูกค้ากลุ่มพม่าจะเน้นหนักในด้านการโทรคิดเป็นสัดส่วน 90% ส่วนอีก 10% เป็นเรื่องของดาต้า สำหรับโซเชียลเน็ตเวิร์ก ชาวพม่าจะเริ่มเล่นเฟซบุ๊กบ้าง แต่ไม่ได้ติดเหมือนคนไทย ส่วนอินสตาแกรม คนพม่ายังไม่เล่น ทำให้ยอดดาต้ายังไม่เพิ่มสูงเท่าที่ควร
จึงเป็นที่มาของอัตราค่าโทร ที่จัดเก็บในอัตราค่าบริการโทรชั่วโมงละ 1 บาท ในเครือข่ายเอไอเอส ตั้งแต่ 6 โมงเช้า – 6 โมงเย็น และสามารถโทรกลับประเทศพม่าในราคานาทีละ 5 บาท และเล่นเฟซบุ๊กได้ฟรี 30 วัน พร้อมกับเพลงรอสายพม่าที่นิยมของชาวพม่า 30 วัน ส่วนชาวกัมพูชา รับโปรโมชั่นโทรกลับกัมพูชา ได้รับส่วนลด 15% หลังนาทีที่ 3 เมื่อโทรผ่านรหัส 003
เบญจพรได้ยกตัวอย่างว่า “จริงๆ คนงานพม่ามีอยู่รอบตัวเรา สังเกตง่ายๆ จากคนใกล้ตัวก็ได้ เช่น เด็กรับใช้ในบ้าน เขามีพฤติกรรมที่ชอบโทร ชอบคุยตลอดทั้งวัน ถ้าคิดค่าโทรเป็นนาทีเขาไม่มีทางสนใจแน่ เราเลยต้องคิดค่าโทรเป็นชั่วโมงไปเลย เอาให้ตอบโจทย์เขาได้มากที่สุด จากนั้นก็เห็นว่าเขาเริ่มเล่นเฟซบุ๊กเพิ่มขึ้นด้วย เลยให้เล่นเฟซบุ๊กฟรี 30 วัน จากนั้นถ้าจะเล่นต่อก็แค่เติมเงิน 50 บาท”
สำหรับซิมพม่า หรือ ซิมมิงกะลาบา เอไอเอสได้ออกมาตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยที่ตั้งเป้าลูกค้าจากกลุ่มชาวพม่าเพิ่มอีกจำนวน 500,000 ราย ส่วนซิมกัมพูชา หรือ ซิมซัวสะเดย ได้วางจำหน่ายเมื่อ 25 ก.ค. 2557 ที่ผ่านมา ตั้งเป้าลูกค้าชาวกัมพูชาเพิ่มขึ้น 100,000 ราย ภายในสิ้นปีนี้
เบญจพรมองว่าการแตกเซ็กเมนต์ออกมาเฉพาะกลุ่มนี้ นอกจากจะเป็นกลยุทธ์ที่สร้างสีสันในตลาดแล้ว ยังจะสามารถขยายฐานลูกค้าในส่วนพรีเพดให้เพิ่มมากขึ้นด้วย จากเดิมที่เอไอเอสมีลูกค้าพรีเพดจำนวน 38 ล้านเลขหมาย ตั้งเป้ามีลูกค้าเพิ่มจากทั้ง 2 ซิม จำนวน 6 แสน – 1 ล้านราย ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเซ็กเมนต์นี้จะมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ เพราะไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี
ตอนนี้เอไอเอสยังมองตลาดของประเทศพม่ากับกัมพูชาเป็นหลัก เพราะดูจากปริมาณในการใช้งานของคนกลุ่มนั้นๆ ซึ่งคนพม่าและคนกัมพูชาเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ในประเทศไทย ส่วนประเทศอื่นยังคงศึกษาอยู่ มองประเทศเวียดนามเป็นประเทศต่อไปที่อาจจะทำตลาด
สำหรับค่ายทรูมูฟ ได้ออก “ซิมมิงกะลาบา” ออกมาเจาะกลุ่มลูกค้าชาวพม่าเช่นกัน โดยใช้ชื่อซิม และใช้ภาษาพม่า โดยทรูมูฟจะเน้นเรื่องค่าโทรทางไกลไปพม่าในอัตรา 5 บาทต่อนาที จากปกติถ้าโทรจากไทยไปพม่า จะคิดในอัตรา 10 บาทต่อนาที เฉพาะรอบที่เติมเงิน 200 บาท แถมพ่วงด้วยการให้ดูทีวีออนไลน์ เล่นเฟซบุ๊ก
ส่วนค่ายดีแทค ได้ออก “ซิมแฮปปี้” สำหรับลูกค้าชาวพม่า ด้วยอัตราโทรจากไทยไปพม่า นาทีละ 5 บาท เช่นกัน ซึ่งดีแทคทำโปรโมชั่นพิเศษร่วมกับร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เมื่อซื้อหรือเติมเงิน 100 บาทในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น จะได้แถมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่าอีก 2 ซอง ควบคู่ไปกับการออกสติกเกอร์ไลน์ภาษาพม่า เพื่อต้องการรักษาฐานลูกค้าพม่าที่บุกเบิกมาไว้ในมือให้ได้มากที่สุด
จะเห็นได้ว่าลูกค้าชาวพม่าที่เข้ามาใช้แรงงานในไทยเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่ ที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือต่างก็พยายามนำเสนอบริการสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้มาได้พักใหญ่ ด้วยการทำโฆษณาและประชาสัมพันธ์เป็นภาษาพม่า
ผลจากการแข่งขันของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ส่งผลให้อัตราค่าโทรทางไกลจากไทยไปพม่า จากปกติที่จัดเก็บในอัตรา 10 บาทต่อนาที เวลานี้ลดลงเหลือ 5 บาทต่อนาที ส่วนค่าโทรในไทยก็เหลือในอัตราลดเหลือชั่วโมงละ 1 บาทเมื่อโทรในเครือข่ายเดียวกัน ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมได้เห็นว่าลูกจ้างชาวพม่าถึงยกมือถือโทรหากันได้ทั้งวัน เพราะนี่คือเกมการแข่งขันของผู้ให้บริการมือถือ ที่ต้องโดนใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด