กลุ่มมิตรผล นำเสนอ ‘มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม’ นวัตกรรมการบริหารจัดการไร่อ้อยอย่างยั่งยืนจากองค์ความรู้ระดับเวิลด์คลาส ที่ประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการทำไร่อ้อย เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ลดต้นทุนการผลิต และยกระดับคุณภาพชีวิต รวมทั้งเสริมศักยภาพการแข่งขันด้านอ้อยและน้ำตาลของไทยในระยะยาว
นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ กรรมการ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานพัฒนาและจัดการด้านอ้อย กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้นำด้านอ้อยและน้ำตาลในระดับภูมิภาค แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรในตลาดโลกนับวันจะเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ประเทศคู่แข่ง เช่น ออสเตรเลีย และบราซิล ก็มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ดังนั้นการจะรักษาความสามารถในการแข่งขันของไทยไว้ได้ในระยะยาวนั้น จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีระดับโลกมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับภูมิประเทศ สภาพอากาศ และวิถีชีวิตของชาวไร่อ้อยในประเทศไทย เพื่อปรับเปลี่ยนการทำไร่อ้อยไปสู่รูปแบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพอย่างครบวงจรและยั่งยืน
“ในวันนี้ กลุ่มมิตรผลจึงได้นำเสนอ มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ซึ่งเป็นแนวทางบริหารจัดการไร่อ้อยอย่างยั่งยืนตามแบบฉบับของมิตรผล ที่เกิดจากการศึกษาวิธีการทำไร่อ้อยในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่สามารถปลูกอ้อยได้ผลผลิตต่อไร่สูงที่สุดในโลก จากนั้นจึงนำเทคนิคและความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และวิถีชีวิตของชาวไร่อ้อยในประเทศไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไป”
มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 องค์ประกอบ คือ คัมภีร์ในการบริหารจัดการไร่อ้อยอย่างยั่งยืน (Mitr Phol ModernFarm Theory)มิตรผลไอรอนแมน (Mitr Phol Iron Man) และมิตรชาวไร่ (Mitr Farmer)
โดย คัมภีร์ในการบริหารจัดการไร่อ้อยอย่างยั่งยืน เป็นองค์ความรู้และทักษะการจัดการ ตั้งแต่การเตรียมแปลง ปรับปรุงดิน เตรียมดิน ปลูกอ้อย บำรุงรักษา เก็บเกี่ยว ไปจนถึงการส่งอ้อยเข้าหีบ ผสานกับการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรการเกษตรที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุนการทำไร่อ้อย ประกอบไปด้วยหลักการสำคัญ 4 วิธี ได้แก่
1. การปลูกพืชบำรุงดิน (Legume Fallow) โดยปลูกพืชตระกูลถั่วหมุนเวียน เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และ ถั่วพร้า เนื่องจากพืชตระกูลถั่ว มีแบคทีเรียไรโซเบียมในปมรากถั่วที่สามารถดึงไนโตรเจนในอากาศลงมาเป็นปุ๋ยในดินให้กับอ้อยในอนาคต จึงเป็นการปรับปรุงและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินด้วยวิธีธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นการลดการใช้สารเคมี นอกจากนี้การปลูกพืชตระกูลถั่วในช่วงพักดิน ยังช่วยตัดวงจรของโรคและแมลงศัตรูพืช รวมทั้งสร้างรายได้เสริมจากการจำหน่ายผลผลิตให้กับเกษตรกรได้
2. ลดการไถพรวน (Minimum Tillage) ในการทำไร่แบบเดิมนั้น เกษตรกรต้องไถพรวนดินทั้งแปลงก่อนปลูกอ้อยใหม่ แต่แนวทางของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มจะไถพรวนเฉพาะบนร่องที่ยกขึ้นมาเท่านั้น จึงช่วยรักษาโครงสร้างของดิน และลดพื้นที่เตรียมดินลงประมาณ 50 % ช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง และลดเวลาในเตรียมดินก่อนปลูกอ้อย ทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น จึงสามารถปลูกอ้อยใหม่ได้ทันเวลา
3. ควบคุมแนววิ่งของรถ (Controlled Traffic) โดยสร้างแนวเบดฟอร์ม (Bed Form) ด้วยเครื่องมือยกร่องปลูกอ้อย เพื่อให้เอื้อต่อการนำเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาใช้ในทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การเตรียมดิน การปลูก การบำรุงรักษา ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว โดยกำหนดระยะปลูกอ้อยเป็น 1.85 เมตร และยกร่องให้มีลักษณะเป็นสันที่ความสูง 15-20 เซนติเมตรจากระดับการวิ่งของรถ จะทำให้เครื่องจักรกลการเกษตรในทุกกิจกรรมสามารถวิ่งตามแนวร่องที่กำหนดไว้ และไม่เหยียบย่ำไปบนอ้อยตอ จึงลดการบดอัดของชั้นดิน และลดความเสียหายจากการเก็บเกี่ยว รวมทั้งยืดอายุการไว้ตอได้อีกด้วย
4. ลดการเผาใบอ้อยโดยใช้รถตัด การตัดอ้อยสดและปล่อยใบอ้อยไว้คลุมดินจะช่วยรักษาความชื้นในดินไว้ และควบคุมวัชพืชไปในตัว จึงลดปริมาณการใช้สารกำจัดวัชพืชลง นอกจากนี้ยังช่วยให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากใบอ้อยจะสลายกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้กับอ้อยรุ่นต่อไป ส่วนการไม่เผาใบอ้อยจะช่วยรักษาหน้าดินและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดินเอาไว้
นอกจากองค์ประกอบในเรื่องคัมภีร์องค์ความรู้แล้ว มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ยังมี มิตรผลไอรอนแมน ซึ่งจะทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้และให้คำแนะนำ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษา และสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อให้ชาวไร่อ้อยสามารถเข้าถึงแนวทางมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มได้ง่ายและทั่วถึง องค์ประกอบสุดท้ายที่สำคัญคือ มิตรชาวไร่ ซึ่งเป็นกลุ่มชาวไร่อ้อยที่มีทักษะและองค์ความรู้ สามารถรวมกลุ่มกันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน จนสามารถพัฒนาขึ้นเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งต่อไป
เนื่องจาก มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม เป็นการบูรณาการให้เกิดประสิทธิภาพในทุกขั้นตอน จึงคาดว่าการจัดการไร่อ้อยในแบบใหม่นี้ จะสามารถช่วยลดต้นทุนจากทุกกิจกรรมในการทำไร่อ้อยได้ประมาณ 100-300 บาทต่อตัน ภายในเวลา 5 ปี และเกษตรกรชาวไร่อ้อย จะมีรายได้จากผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นราว2,000-4,000 บาทต่อไร่ ส่งผลให้ชาวไร่มีความกินดีอยู่ดี จากผลกำไรที่เพิ่มขึ้น และยังใช้เวลาในการดูแลไร่อ้อยลดลง จึงมีเวลาเหลือสำหรับทำอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ หรือทำกิจกรรมพัฒนาชุมชนร่วมกัน นอกจากนี้การนำเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาประยุกต์ใช้ในทุกขั้นตอน ยังช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่กำลังเกิดขึ้นในภาคเกษตรได้ในระยะยาว
“มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ไม่เพียงเป็นแนวทางที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนวิถีเกษตรธรรมชาติที่ลดการใช้สารเคมี เช่น การปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อบำรุงดิน และการทิ้งใบอ้อยไว้คลุมดิน ซึ่งกลุ่มมิตรผลเชื่อว่าเป็นแนวทางการทำไร่อ้อยที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง และเหนือสิ่งอื่นใดมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม จะนำไปสู่การจัดการไร่อ้อยที่มีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันด้านอ้อยและน้ำตาลของไทยในระดับนานาชาติได้อย่างต่อเนื่อง” นายบรรเทิง กล่าวทิ้งท้าย