เอคเซนเชอร์ (ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก: ACN) เผยผลวิจัยล่าสุดเรื่อง “องค์กรที่พร้อมรับมือกับอนาคต: นิยามใหม่ของการทำงานในอาเซียน (The Future Ready Organisation: Reinventing Work in ASEAN) โดยได้เผยถึงปัจจัยเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสขององค์กรในอาเซียน ในยุคที่การทำงานขององค์กรปรับเข้าสู่ ยุคดิจิตอล โครงสร้างประชากรวัยทำงานเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเมื่อมีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเกิดขึ้น รายงานฉบับนึ้ได้นำเสนอกลยุทธ์ที่จะช่วยให้ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนมองเห็นถึงความท้าทายเหล่านี้
ภูมิภาคอาเซียนนั้นมีประชากรวัยทำงานเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในโลก คาดว่าอาเซียนจะมีประชากรกลุ่มนี้ถึง 50 ล้านคนในช่วงปี 2010 – 2020 การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนส่งผลเกิดแนวโน้มการไหลเวียนของแรงงานมีทักษะในภูมิภาคการบริหารบุคลากรหัวกะทิหรือทาเลนต์ในยุคไร้พรมแดนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ
นายนนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ ประจำเอคเซนเชอร์ประเทศไทย ซึ่งได้ร่วมทำงานวิจัยครั้งนี้กล่าวว่า “อาเซียนอยู่ตรงจุดแห่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่กระแสคลื่นลูกใหม่อันเป็นผลมาจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลง ความแพร่หลายของเทคโนโลยีดิจิตอล และการเปิดพรมแดนระหว่างกัน องค์กรต่าง ๆ จึงต้องปรับนิยามการทำงานใหม่ ปรับแนวการบริหารและการรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีทรัพยากรรองรับความต้องการในอนาคตได้”
เชื่อมต่อช่องว่างระหว่างทาเลนต์และเทคโนโลยี
แม้ตลาดผู้บริโภคโดยทั่วไปจะรับนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้อย่างรวดเร็ว แต่กิจการที่มีฐานในอาเซียนส่วนใหญ่มักมีเทคโนโลยีจำกัด หรือนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ล่าช้า ยกเว้นสิงคโปร์ การใช้เครื่องมือใหม่ ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ จึงจำเป็นต่อเมื่อธุรกิจอาเซียนสามารถสร้างสรรค์และนำเทคโนโลยีมาใช้กับพนักงานยุคใหม่และแนวการทำงานในรูปแบบใหม่ได้
ภายในปี 2020 ประชากรอาเซียนราวหนึ่งในสามจะมีอายุระหว่าง 20 – 39 ปี เป็นกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียมหรือรุ่นที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่ช่วงความเป็นผู้ใหญ่ เป็นยุคเริ่มแรกของมิลเลนเนียมใหม่ คนรุ่นนี้มีกรอบความคิดและความต้องการในงานที่ต่างออกไปจากคนทำงานในอดีต การที่องค์กรในอาเซียนจะนำวิธีการทำงานแบบใหม่มาใช้และดึงดูดคนทำงานรุ่นใหม่ จึงต้องไม่ยึดติดกับระบบอาวุโสที่ตายตัว และต้องสร้างบรรยากาศการทำงานที่เปิดกว้าง ยืดหยุ่น และโปร่งใส ให้มากขึ้น
นอกจากนี้ องค์กรในอาเซียนยังต้องมีความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับประโยชน์และความท้าทายของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับการไหลเข้าออกของทาเลนต์ในภูมิภาค องค์กรจึงต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขันในตลาดแรงงานทาเลนต์ที่จะมีมากขึ้น พัฒนาความเป็นมืออาชีพในการบริหารทีมงาน รวมถึงพนักงานที่จะมีความหลากหลายมากขึ้น
ปัจจัยสำคัญจึงอยู่ที่การเข้าถึงทาเลนต์ในตลาดที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งทำให้บริษัทได้ทรัพยากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะและเสริม ความแข็งแกร่งขององค์กรได้ หากสามารถประสานความสามารถของทาเลนต์ที่มาจากที่ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และขยายขีดความสามารถของพวกเขา เพื่อให้องค์กรสามารถค้นหาโอกาสใหม่ ๆ ที่ท้าทาย และต่อยอดการเติบโตต่อไปได้
เตรียมตัวพร้อมสำหรับความสำเร็จ
เอคเซนเชอร์ระบุปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ 7 ประการ ที่ผู้บริหารองค์กรธุรกิจและภาครัฐควรนำไปใช้ เพื่อเตรียมรับมือกับความท้าทายของการทำงานในอนาคต ดังนี้:
ผู้นำองค์กรธุรกิจควร:
- เริ่มพัฒนากลยุทธ์ใหม่ ๆ ในการบริหารทาเลนต์ที่สร้างความแตกต่าง สามารถตอบสนองต่อแรงบันดาลใจและการจัดลำดับความสำคัญส่วนบุคคลของพนักงาน
- ปรับโมเดลการปฏิบัติการใหม่ให้สมดุล เพื่อให้พนักงานแสดงศักยภาพและความยืดหยุ่นที่มีได้อย่างเต็มที่ สามารถปรับตัวเข้ากับแนวการทำงานใหม่ ๆ ได้
- เข้าถึงแหล่งทรัพยากรบุคคลที่มีในภูมิภาค โดยใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของทาเลนต์และเครือข่ายที่มี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจในที่สุด
- พัฒนากรอบแนวคิดทางธุรกิจใหม่ เน้นภาวะผู้นำจากการสั่งการและบังคับบัญชาให้น้อยลง แต่เน้นการเป็นผู้นำด้านการตัดสินใจให้มากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนหรือนำเอาวิธีการทำงานใหม่ ๆ มาใช้
ผู้บริหารภาครัฐและผู้จัดทำนโยบายควร:
- คาดการณ์และจัดสรรการลงทุนด้านต่าง ๆ ของภาครัฐ ที่สามารถรองรับการทำงานของทาเลนต์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทรัพยกรบุคคลเหล่านี้จะสามารถทำงานได้ในภาวะที่ความต้องการของอุตสาหกรรมเปลี่ยนไป
- อำนวยให้เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชนของอุตสาหกรรม หน่วยงานในภาครัฐ และสถาบันการศึกษา เพื่อทำให้อาเซียนและประเทศสมาชิกแต่ละแห่ง เป็นจุดหมายปลายทางของการทำธุรกิจที่นักลงทุนเลือก
- สร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีคุณภาพ เพื่อให้ธุรกิจสามารถนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และใช้ประโยชน์จากเครือข่ายความร่วมมือให้ได้มากที่สุด พัฒนากำลังการผลิตให้เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
“เมื่อแนวโน้มใหม่ที่เกิดขึ้นมีเสถียรภาพชัดเจน และประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคได้เตรียมการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว บริษัทและองค์กรต่าง ๆ ต้องปรับตัวในเชิงรุกและเปลี่ยนโลกแห่งการทำงานไปสิ้นเชิง“ นนทวัฒน์ กล่าว โดยเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในทางบวกในอาเซียน การพัฒนาองค์กรให้สอดคล้องจะช่วยให้สามารถวางตำแหน่งทางธุรกิจ เพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จที่ตั้งไว้ สามารถสร้างฐานที่แข็งแกร่งขึ้น อันจะนำไปสู่การพัฒนาอาเซียนอย่างยั่งยืน