หนึ่งในปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันคือ ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งเศรษฐกิจของชุมชน เช่น ชายหาดต่างๆ ซึ่งมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หากไม่ได้รับการจัดการที่ดีก็จะกลายเป็นปัญหา กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย อันประกอบด้วย บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด ที่นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังมุ่งสร้างความยั่งยืนให้แก่สังคมในด้านต่างๆ รวมถึงการจัดการบรรจุภัณฑ์และการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยกิจกรรมที่ดำเนินการติดต่อกันมาครบ 10 ปีในปีนี้ ก็คือ “กิจกรรมอนุรักษ์ชายฝั่งสากล” ที่ในระดับโลกโคคา-โคลาได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับองค์กรผู้ริเริ่มโครงการนี้ คือ The Ocean Conservancy อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 หรือเป็นเวลากว่า 19 ปี และในประเทศไทย ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 ผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานระดับประเทศและท้องถิ่น และกำลังที่สำคัญคืออาสาสมัครจากพนักงาน ผู้บริโภค และชุมชน
สำหรับ “กิจกรรมอนุรักษ์ชายฝั่งสากล” ในปีนี้กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทยได้จัดกิจกรรมอนุรักษ์ชายฝั่งสากลขึ้นในพื้นที่ชายหาดซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญสองแห่งด้วยกัน โดยในวันที่ 17 กันยายน 2557 จัดกิจกรรมขึ้น ณ หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา มีอาสาสมัครพลังบวกจากพนักงานและประชาชนทั่วไปรวมกว่า 700 คน ช่วยกันทำความสะอาดชายหาด คิดเป็นระยะทางกว่า 2.4 กิโลเมตร รวบรวมขยะ และคัดแยกขยะ ได้ 365 กิโลกรัม และเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2557 ได้จัดกิจกรรมขึ้น ณ หาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี โดยมีพนักงานจากองค์กรพันธมิตร และ อาสาสมัครจากชุมชนโดยรอบหาดเจ้าสำราญรวมกว่า 400 คน ร่วมกันทำความสะอาดชายหาด เก็บขยะ และคัดแยกขยะ คิดเป็นระยะทางรวม 4.2 กิโลเมตร และรวบรวมขยะได้ทั้งสิ้นกว่า 1,342.01 กิโลกรัม จากการร่วมแรงร่วมใจในกิจกรรมอนุรักษ์ชายฝั่งสากลในปี 2557 นี้ อาสาสมัครสามารถทำความสะอาดรวมเป็นระยะทาง 6.6 กิโลเมตร และรวบรวมขยะได้กว่า 1,707.01 กิโลกรัม
นายนันทิวัต ธรรมหทัย ผู้จัดการ องค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “กิจกรรมอนุรักษ์ชายฝั่งสากลในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งก้าวของการทำงานด้านการจัดการบรรจุภัณฑ์และการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนของโคคา-โคลา ซึ่งจะไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้หากปราศจากการทำงานในรูปแบบสามเหลี่ยมความร่วมมือสู่ความยั่งยืนกับพันธมิตรจากหน่วยงานต่างๆ ในระดับท้องถิ่น ภาคเอกชน และที่สำคัญคือ อาสาสมัครพลังบวกกับโคคา-โคลา เพื่อส่งเสริมการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลใหม่ เราดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในปีที่ 10 ด้วยความเชื่อว่าการขับเคลื่อนจากท้องถิ่นจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกได้”
นายสมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา จังหวัดสงขลา กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่หาดสมิหลาในกิจกรรมนี้ว่า “หาดสมิหลาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่งของชาวสงขลา ผมเชื่อมั่นว่ากิจกรรมในวันนี้ จะสามารถทำให้ชายหาดสมิหลาสะอาดมากขึ้น เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และสามารถปลูกฝังชุมชนให้อนุรักษ์ชายหาดให้สะอาดและคงอยู่คู่เมืองสงขลาสืบไป”
นายบุญยอด มาคล้าย นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลหาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของตำบลหาดเจ้าสำราญในกิจกรรมนี้ว่า“หาดเจ้าสำราญถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจต่อชาวเทศบาลตำบลหาดเจ้าสำราญเป็นอย่างมาก เราจึงเล็งเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาและดำรงรักษาสิ่งแวดล้อมของชายหาดให้อยู่คู่เราอย่างยั่งยืน นอกจากนี้การเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการอนุรักษ์ชายฝั่งสากล ยังช่วยสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนชนได้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงความจำเป็นในการรักษาระบบนิเวศวิทยาของชายหาด สร้างจิตสำนึกและวินัยในการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นตัวประสานและสร้างความสัมพันธ์อันดียิ่งระหว่าง หน่วยงานภาครัฐ กับภาคเอกชน และชุมชน ท้องถิ่น ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น”
จากการจัดกิจกรรมอนุรักษ์ชายฝั่งสากลอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 10 ปี โคคา-โคลาได้ร่วมกับพันธมิตรและอาสาสมัครทั้งสิ้นกว่า 17,783 คน ทำความสะอาดชายหาดเป็นระยะทางรวมกว่า 103.30 กิโลเมตร ณ ชายหาดรวมทั้งสิ้น 15 แห่งทั่วประเทศไทย อาทิ ชายหาดบางแสน ชายหาดพัทยา และเกาะเสม็ดในภาคตะวันออก ชายหาดเจ้าสำราญ ชายหาดหัวหิน และเกาะสมุยในภาคใต้ตอนบน และชายหาดสมิหลา ชายหาดปากเมง และชาดหาดปากบาราในภาคใต้ตอนล่าง สามารถเก็บและคัดแยกขยะได้ทั้งสิ้นกว่า 31,498.56 กิโลกรัม นอกเหนือจากการเก็บและคัดแยกขยะใน 4 ประเภท ประกอบด้วย ขยะพลาสติกและยาง ขยะชีวภาพ ขยะแก้วและโลหะ และขยะอันตรายแล้ว กิจกรรมนี้ยังครอบคลุมถึงการเก็บข้อมูลขยะ โดยนำขยะทุกประเภทมาชั่งน้ำหนักและรวบรวมส่งให้หน่วยงานอนุรักษ์ชายฝั่งสากล เพื่อนำไปรวมกับข้อมูลของประเทศอื่นๆ ในการหาแนวทางลดปริมาณขยะต่อไปเพื่อให้โลกของเราดีขึ้นอย่างยั่งยืน สำหรับในระดับประเทศ ได้จัดส่งให้หน่วยงานท้องถิ่นนำไปจัดการและรีไซเคิลอย่างเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ความสำเร็จของกิจกรรมอนุรักษ์ชายฝั่งสากลนี้ถือเป็นความสำเร็จด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดแก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ชุมชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งถือเป็นการสร้างคุณค่าร่วมกัน หรือ Shared Value อันเป็นเป้าหมายด้านความยั่งยืนของโคคา-โคลา