กรุงศรี ออโต้ ผู้นำธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ เครือกรุงศรี จัดสัมมนาใหญ่ ‘กรุงศรี ออโต้ สมาร์ท ไฟแนนซ์ ต่อยอดการเรียนรู้เพื่อเข้าสู่ตลาด AEC’ ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อเสริมศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจและผู้ประกอบการรายย่อยในเขตชายแดนภาคตะวันออก ให้มีความรู้เพิ่มเติมในด้านการบริหารจัดการธุรกิจและการบริหารเงินลงทุน รวมทั้งโอกาสการลงทุนในประเทศกัมพูชา เพื่อนำไปปรับใช้และเตรียมพร้อมรับมือการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปลายปี 2558 นี้
นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงโครงการ กรุงศรี ออโต้ สมาร์ท ไฟแนนซ์ ว่า “โครงการสมาร์ท ไฟแนนซ์ เป็นหนึ่งในโครงการด้าน CSR ภายใต้แนวปฏิบัติ ‘การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (RL: Responsible Lending)’ ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งในแต่ละครั้งที่จัดโครงการสมาร์ท ไฟแนนซ์ เราจะมีการปรับหลักสูตรและเนื้อหาการอบรมให้ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งในปัจจุบันมียอดผู้เข้าร่วมสัมมนาที่ได้รับประโยชน์จากโครงการจำนวน 2,650 คนแล้ว สำหรับงาน ‘กรุงศรี ออโต้ สมาร์ท ไฟแนนซ์ ต่อยอดการเรียนรู้เพื่อเข้าสู่ตลาด AEC’ ครั้งล่าสุดนี้ มีเหล่าผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยและนักธุรกิจรุ่นใหม่ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการ ในจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวางแผนและการบริหารธุรกิจ เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าอบรมทุกท่านจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้กับการบริหารธุรกิจและการจัดการการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้อบรมก้าวไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจแล้ว ยังทำให้เกิดเครือข่ายระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนให้ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ต่อยอดองค์ความรู้ และปูรากฐานความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจและชุมชนให้ดีขึ้นต่อไปอีกด้วย”
ขณะที่ ดร.สมพร วิริยานุภาพพงศ์ พาณิชย์จังหวัดปราจีนบุรี ให้ความเห็นว่า “การค้าส่งและค้าปลีก เป็นฐานการค้าสำคัญของ GDP จังหวัดปราจีนบุรี การจัดสัมมนาในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่ทางกรุงศรี ออโต้ ได้เข้ามาให้ความรู้กับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม ให้ได้เห็นภาพรวมและโอกาสทางธุรกิจเมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ชัดเจนขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้วางแผนจัดการธุรกิจและรับมือได้อย่างเหมาะสม ในฐานะที่คลุกคลีกับประเทศกัมพูชามานานพอสมควรจึงทราบว่าคนกัมพูชามีกำลังซื้อและรสนิยมคล้ายคลึงกับคนไทย ชอบสินค้าสำเร็จรูปจากไทย อาทิ อาหารพร้อมรับประทาน เสื้อผ้าสำเร็จรูป อุปกรณ์ก่อสร้าง และเฟอร์นิเจอร์ จึงเป็นโอกาสให้คนในบริเวณตะเข็บชายแดน สามารถไปทำการค้ากับกัมพูชาได้ ซึ่งความรู้สึกของคนกัมพูชาที่มีต่อสินค้าและคนไทยเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่สิ่งที่ต้องระวังคือเรื่องความขัดแย้งทางด้านประวัติศาสตร์ที่ไม่ตรงกัน คนไทยควรปรับทัศนคติให้เศรษฐกิจและการค้าอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรม”
ด้าน นางสาวศุภรา เสกาจารย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ภาคตะวันออก (จันทบุรี) กล่าวว่า “ประเทศไทยมีชายแดนติดกับกัมพูชาอยู่หลายแห่ง แต่การค้ากับกัมพูชาที่มีมูลค่ามากที่สุดอยู่ที่อำเภออรัญประเทศ ปัจจุบันเศรษฐกิจของกัมพูชากำลังเติบโต การคมนาคมในประเทศกัมพูชานั้นดีขึ้นมาก ที่สำคัญหลายประเทศยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าที่มาจากกัมพูชา เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเป็นข้อดีของการไปลงทุน หรือสร้างโรงงานผลิตสินค้าในประเทศกัมพูชา ดังนั้น หากเราย้ายฐานไปผลิตที่นั่น เราก็จะได้รับการยกเว้นภาษีการนำเข้าด้วยเช่นกัน นักธุรกิจจึงต้องติดตามข่าวสาร และศึกษาเรื่องรายละเอียดการลงทุนเพิ่มเติม การสัมมนาของกรุงศรี ออโต้ ในครั้งนี้ จึงถือเป็นการนำเสนอข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์ และเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่มองเห็นช่องทางในการทำธุรกิจมากขึ้น อยากให้คนที่อยู่ในเขตชายแดนซึ่งมีข้อได้เปรียบด้านการขนส่งและคุ้นเคยกับคนกัมพูชาอยู่แล้ว ปรับตัวและใช้ข้อได้เปรียบนี้ให้เป็นโอกาสเข้าไปดำเนินธุรกิจก่อนที่คนนอกพื้นที่จะเข้าไปแข่งขัน”
นายสุรพล ตังคะประเสริฐ ประธานกรรมการ บริษัท ฮอนด้า ประสิทธิ์มอเตอร์สระแก้ว (2554) จำกัด คู่ค้าของกรุงศรี ออโต้ ที่มีความเชี่ยวด้านการค้ารถมอเตอร์ไซค์ในเขตจังหวัดสระแก้ว และพื้นที่ชายแดน กล่าวว่า “ตลาดรถมอเตอร์ไซค์ส่งออกไปยังกัมพูชามีมูลค่าเป็นพันล้านบาท โดยเฉพาะธุรกิจรถมอเตอร์ไซค์มือสอง และอะไหล่รถมอเตอร์ไซค์ เพราะคนกัมพูชานิยมแต่งรถแบบคนไทย และมักซื้อรถมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็กไว้ใช้งาน สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ทำให้เราได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ประกอบการรายย่อยที่มีประสบการณ์ในธุรกิจอื่นๆ และมองเห็นความเป็นไปได้ว่าเมื่อเราศึกษาระบบการเงินและกฎหมายอย่างชัดเจนแล้ว หลังการเปิดเสรีทางการค้าอย่างเต็มรูปแบบแล้ว เราอาจจะเข้าไปตั้งร้านจำหน่ายมอเตอร์ไซค์และอะไหล่ของเราเองในกัมพูชา”
ในส่วนของผู้เข้าร่วมสัมมนา นางชุ่ม ยะประดิษฐ์ ประธานกลุ่ม OTOP และวิสาหกิจชุมชน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี กล่าวเสริมว่า “โครงการนี้มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ทำให้ได้รับความรู้ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นเตรียมตัวรับมือกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยจะเริ่มวางแผนตามแนวทางที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ เพราะปัจจุบันกำลังทำธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แฮนด์เมดที่แปรรูปจากต้นกก เช่น ตะกร้า กระเป๋าถือ จานรองแก้ว และสินค้าอื่นๆ อีกกว่าร้อยรายการ เป็นสินค้า OTOP ของจังหวัดปราจีนบุรี ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ โดยส่งออกไปยังประเทศออสเตรเลียเป็นหลัก ตอนนี้เริ่มส่งออกไปประเทศลาวและพม่า พอได้ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศกัมพูชาจากงานสัมมนาครั้งนี้ จึงเห็นลู่ทางที่จะขยายการส่งออกไปยังกัมพูชาด้วย นอกจากความรู้เกี่ยวกับกัมพูชาแล้ว โครงการนี้ยังช่วยให้คำแนะนำแนวการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและหลักการบริหารเงิน โดยจะนำความรู้ที่ได้นี้ไปเสริมกลยุทธ์และต่อยอดธุรกิจต่อไป”
จากข้อมูลสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พบว่าในปี 2556 การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา มีมูลค่ารวมกว่า 93,836 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 84,088 ล้านบาท และนำเข้า 9,748 ล้านบาท จากตัวเลขดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าศักยภาพในการส่งสินค้าออกไปขายยังตลาดกัมพูชามีอนาคตที่สดใส และหากนักธุรกิจบริเวณชายแดนของไทยเตรียมความพร้อมและมองหาโอกาสใหม่ๆ ก็น่าจะทำให้เกิดการขยายตัวทางการค้าเพิ่มขึ้นอีกมาก โครงการ ‘กรุงศรี ออโต้ สมาร์ท ไฟแนนซ์ ต่อยอดการเรียนรู้เพื่อเข้าสู่ตลาด AEC’ จึงถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ ที่อยู่ในเขตชายแดนให้สามารถพัฒนาธุรกิจใหม่หรือสร้างรากฐานให้กับธุรกิจเดิมที่มีอยู่ให้แข่งขันได้ในตลาดอาเซียน