กสทช. เตรียมเปิดประมูล 4G ส.ค.58 2 คลื่นความถี่ 4 ใบอนุญาติ

กสทช.เปิดแผนงานปี 58 ชูนโยบายประหยัดงบประมาณ รับฟังความคิดเห็นรอบด้านเพื่อปรับปรุงหน่วยงานให้ดีขึ้น ย้ำเดินหน้าประมูล 4G ต้นเดือน ส.ค.แน่นอน 2 ความถี่ 4 ใบอนุญาต พร้อมหาเงินเข้ารัฐ เปิดโครงการประมูลเลขสวยกว่า 3 แสนเลขหมาย คาดมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท
       
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงแผนงานของ กสทช.ปี 2558 ว่า ในปีที่ผ่านมา กสทช.ได้รับฟังความคิดเห็นรอบด้านจากหน่วยงานต่างๆ ในเรื่องของการใช้งบประมาณ ทำให้ในปีนี้ กสทช.ต้องเน้นการทำงานแบบประหยัดงบประมาณให้มากที่สุด พร้อมกับปรับปรุงการทำงานด้านต่างๆ ที่ถูกท้วงติงมาให้ดีที่สุดด้วย
       
โดยปีนี้ กสทช.จะต้องจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต และ 900 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต ภายหลังหมดคำสั่งชะลอการประมูลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 17 ก.ค.58 เพื่อนำประเทศไทยเข้าสู่การพัฒนาระบบ 4 G LTE รองรับความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานรองรับนโยบาย Digital Economy ของรัฐบาลอีกด้วย
       
“เราได้ทำหนังสือขอเปิดประมูลต่อทาง คสช.ไปแล้วเมื่อกลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เพราะต้องเตรียมการประมาณ 5-6 เดือน และคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ประมาณต้นเดือน ส.ค. เพื่อไม่ให้สัญญาสัมปทานของเอไอเอสที่จะหมดลงในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ต้องใช้มาตรการเยียวยาอันจะเป็นปัญหาต่อไปอีก ส่วนเรื่องที่กระทรวงไอซีทีจะขอแบ่งคลื่นไปให้ใครทำนั้น ผมถือว่าไม่ได้รับรู้ด้วย เพราะผมทำตามกฎหมายที่ถืออยู่ในปัจจุบัน ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้กฎหมาย เรื่องขายฝัน ผมไม่ทำ ผมทำกับเรื่องปัจจุบันคือ กฎหมายที่ถืออยู่”
       
นอกจากนี้ กสทช.จะนำเลขสวยที่นิยมทั้งเลขเดียวกันวางติดกัน 5 หลัก (089-12x-xxxx) 6 หลัก (081-2xx-xxxx) ที่มีการกำหนดราคาขายสูงมากในตลาดจนเกิดเป็นธุรกิจซื้อขายเลขหมายสวยขึ้นทั้งตามร้านค้าโทรศัพท์มือถือ และบนเว็บไซต์ ออกมาประมูลเพื่อนำเงินส่งรัฐเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้สนใจสามารถเป็นเจ้าของได้ เช่นเดียวกับการประมูลเลขทะเบียนรถยนต์ โดยเลขหมายบางประเภทก็ไม่เคยมีการจำหน่ายในท้องตลาดมาก่อน เช่น เลขหมายที่เป็นตัวเหมือนติดกัน 9 ตัว (099-999 -9999) 8 ตัว (098-888-8888) 7 ตัว (098-999-9999) และ 6 ตัว (091-199-9999) เป็นต้น
       
ทั้งนี้ กสทช.มีเลขสวยอยู่กว่า 3 แสนเลขหมาย โดยจะสามารถประกาศเงื่อนไขในการประมูลได้ในเดือน เม.ย.- พ.ค. จากนั้นจะเริ่มนำเลขสวยทยอยออกมาประมูล คาดว่าจะสามารถนำเงินส่งเข้ารัฐได้ไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท

สำหรับแผนงานที่เกี่ยวกับความมั่นคงนั้น กสทช. ได้พัฒนาระบบการลงทะเบียนเพื่อแสดงตัวตนในการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบ WiFi โดยจะใช้หลักการลงทะเบียนเพียงครั้งเดียวให้สามารถแสดงตัวตนในการเข้าใช้งาน WiFi ได้ทุกที่ทั่วประเทศ หรือ Single Sign On โดยในปีนี้จะกำหนดให้ผู้ใช้บริการ wi-fi ต้องลงทะเบียนการใช้งานเพื่อแสดงตัวตน และตรวจสอบยืนยันผู้ใช้งานจริง เพื่อร่วมกันสร้างความมั่งคง และปลอดภัยของสังคมไทย ลดการแอบอ้างข้อมูลส่วนตัวมาเข้าใช้งาน และหากมีการใช้งานอย่างไม่ถูกต้อง หรือใช้ในการกระทำผิด เช่น การแฮกข้อมูลส่วนตัว หรือการกระทำที่เป็นความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งจะทำให้สามารถระบุตัวตนของผู้ใช้บริการได้อย่างแท้จริง

       
โดยการลงทะเบียนเพื่อแสดงตัวตนในการใช้บริการอินเทอร์เน็ต WiFi นี้จะเป็นการลงทะเบียนเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้น ก็จะสามารถแสดงตัวตนในการเข้าใช้งาน WiFi ได้ทุกที่ทั่วประเทศ หรือ Single Sign On เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ทั้งแก่ตนเองในการที่จะไม่ถูกนำไปแอบอ้างใช้งานในทางที่ผิด และยังเป็นการสร้างความปลอดภัยให้แก่สังคมด้วย รวมทั้งยังเร่งให้มีการลงทะเบียนระบบเติมเงิน โดยคาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เป็นแนวทางของรัฐบาลในการดูแลเรื่องความมั่นคง
       
ส่วนงานด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กสทช.ยังคงเดินหน้าแจกคูปองทีวีดิจิตอล ให้ครบทั้ง 14.1 ล้านครัวเรือน โดยจะทยอยแจกในอำเภอที่มีสัญญาณครอบคลุมตั้งแต่ 80% แล้วอย่างต่อเนื่อง และจะเสนอต่อ คสช. ขอแจกคูปองให้แก่กลุ่มผู้ที่ใช้ทะเบียนบ้านชั่วคราว กลุ่มที่ตกสำรวจ ผู้ที่พักอาศัยอยู่ในบ้านพักข้าราชการ
       
ขณะเดียวกัน ต้องดำเนินการกำกับดูแลให้มีการดำเนินการติดตั้งสถานีวิทยุคมนาคมเพื่อให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ครอบคลุมทั่วประเทศตามแผนที่ได้วางไว้ เพื่อขยายพื้นที่การรับชมของประชาชนให้สามารถรับสัญญาณจากระบบภาคพื้นดินได้อย่างเท่าเทียมกัน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรับชมดิจิตอลทีวีของประชาชนบางส่วนที่ยังรับชมผ่านระบบเคเบิลบอกรับสมาชิก เนื่องจากพื้นที่รับชมยังไม่อยู่ในพื้นที่บริการ นอกจากนี้ คาดว่าจะมีการให้ใบอนุญาตประกอบการให้บริการโทรทัศน์ประเภทกิจการบริการสาธารณะอีก 3 ใบอนุญาต
       
นอกจากนี้ กสทช.ยังมีแผนปรับปรุงคลื่นความถี่ ประมาณ 15 ย่านความถี่ เช่น ย่าน 146-148 MHz (วิทยุสมัครเล่น) ย่าน 700 MHz ย่าน 470-510 MHz (ปรับปรุงเพื่อใช้ในกิจการกระจายเสียง) รวมถึงย่าน 2300-2400 MHz (ปรับปรุงเพื่อนำไปใช้เป็น IMT) จากตารางความถี่ของแผนแม่บทเดิมเพื่อนำเสนอให้ กสทช.พิจารณาก่อนจะเสนอไปยังที่ประชุม WRC หรือ World Radiocommunication Conferences เพื่อให้การใช้ความถี่ของไทยเป็นไปตามมาตรฐานโลก

ที่มา : http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9580000001235