ทุกวันนี้ ตัวการ์ตูน “บ่นบ่น” สาวเกล้าผม บุคลิกขี้หงุดหงิด ชอบบ่นโน่นนี่นั่นไปเรื่อย แถมบางครั้งแอบหยอดข้อคิดให้จี๊ดโดนใจ จนกลายเป็นที่รักของใครหลายคน ด้วยยอดแฟนเพจ “bonbonmonja” กว่า 8 แสนไลค์ ในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี
ที่สำคัญ จำนวนฐานแฟนคลับดังกล่าวเป็นบันไดให้เจ้าของผลงาน “ตรัย”-“วาสิกา อุดมธนสกุล” สาวน้อยอายุยังไม่เต็ม 23 ปี ทำเงินล้านได้จากการขาย “สติกเกอร์” ในโปรแกรมแอปพลิเคชั่น “ไลน์” (Line) เรื่องราวของเธอจึงเป็นต้นแบบจุดไฟให้คนมีฝันและมีฝีมืออีกจำนวนมากอยากจะเดินตาม
“ตรัย”-“วาสิกา อุดมธนสกุล” สาวน้อยอายุยังไม่เต็ม 23 ปี เจ้าของผลงาน
“ตรัยก็แค่เด็กผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่ชอบวาดการ์ตูนมาก วาดตั้งแต่เด็กกับชอบอ่านหนังสือ นิสัยก็เป็นคนขี้บ่น (หัวเราะ) บ่นได้ทุกเรื่อง จนคนรอบตัวคงรำคาญ ไล่ให้ไปทำอะไรที่เป็นสาระบ้างดีไหม เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน เลยวาดการ์ตูนประกอบคำบ่น แล้วโพสต์ลงแฟนเพจตัวเอง” สาวน้อยเล่าถึงที่มาอันแสนเรียบที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของแฟนเพจยอดฮิต
เบื้องต้นไม่เคยคิดถึงการทำเงินใดๆ เลย แค่ให้เพื่อนๆ ช่วยกันกดไลค์แชร์ความสนุก ทว่า ด้วยลายเส้นง่ายแต่รวยเสน่ห์ พร้อมข้อความอ่านแล้ว ทั้งอมยิ้ม ฮา ซึ้ง และบางครั้งเกิดกำลังใจ ส่งให้แฟนเพจ bonbonmonja เพิ่มมากขึ้นๆ ทะลุไปถึงกว่า 3 แสนไลค์ ทางสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ชวนให้รวมเล่มผลงานขาย ส่งให้มีฐานแฟนคลับมากขึ้นไปอีก
ขายสติกเกอร์ผ่านแอปพลิเคชั่น “ไลน์” (Line)
และเมื่อยอดถึง 6 แสนจึงไปเข้าตา “ไลน์ ประเทศไทย” ติดต่อให้ทำ “สติกเกอร์บ่นบ่น” ขายในร้านค้าไลน์ เมื่อเดือนเมษายน 2557 ที่ผ่านมา ถือเป็นผู้ผลิตการ์ตูนไทย 2 รายแรกที่ได้รับคัดเลือก เคียงคู่กับ “บรรลือสาส์น” เจ้าของค่าย “ขายหัวเราะ” อันโด่งดัง โดยยอดดาวน์โหลดการ์ตูนบ่นบ่น 3 วันแรกครองแชมป์ขายดีอันดับ 1 และถึงปัจจุบัน ยังมียอดโหลดเดือนละหลักพันรายต่อเนื่อง รวมแล้วมีรายได้จากการขายสติกเกอร์หลักล้านบาท ในเวลาไม่ถึงปี
“ทางไลน์บอกเหตุผลที่เลือกการ์ตูนของตรัย เพราะมีบุคลิกชัดเจน ไม่ซ้ำใคร จำง่าย และมีเนื้อหาน่าสนใจ ซึ่งรายได้จากยอดขาย 30 บาทต่อหนึ่งการโหลด จะแบ่งกับทางไลน์ ตามสัญญาไม่สามารถเผยตัวเลขได้ บอกได้แค่น้อยกว่าครีเอเตอร์ทั่วไป แต่แลกด้วยการถูกนำเสนออยู่แถวหน้าในร้านค้าไลน์” สาววัย 23 เผย
มีหลาย Action
นอกจากขายสติกเกอร์แล้ว ด้วยจำนวนฐานแฟนเพจกว่า 8.2 แสนไลค์ (นับถึง 9 ม.ค.58) ช่วยเปิดโอกาสสร้างรายได้เพิ่มเติม โดยมีบริษัทผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ 3-4 ราย ลงโฆษณาติดแบรนด์หรือโลโกลงในภาพวาดด้วย
ตรัย เสริมจุดนี้ว่า การคัดเลือกแบรนด์มาลงโฆษณา ไม่ได้คิดแต่เรื่องเงินอย่างเดียว หากเลือกเฉพาะสินค้าที่เหมาะกับฐานแฟนคลับที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงวัย 16-24 ปี นอกจากนั้น ต้องไม่กระทบให้ภาพวาดเสียความสวยงาม หรือยัดเยียดโฆษณามากจนผู้พบเห็นเสียความรู้สึก
โชว์ฝีมือวาดสดๆ
วิธีช่วยให้เฟซบุ๊ก bonbonmonja มียอดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง วาสิการะบุว่าต้องมีความ “เคลื่อนไหวสม่ำเสมอ” โดยช่วงแรกรับผิดชอบดูแลคนเดียวทุกขั้นตอน เฉลี่ยจะโพสต์ประมาณ 3 รูปต่อวัน แต่เนื่องจากปัจจุบันเรียนปี 4 แล้ว (คณะศิลปะและการออกแบบ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ ม.รังสิต) มีภาระหนักในการทำวิทยานิพนธ์ ต้องลดความถี่ลง อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยต้องโพสต์ 1 รูปต่อวัน และขอให้พี่ชายมาช่วยทำหน้าที่แอดมินเสริม
วิธีหาไอเดียในการนำเสนอ อาศัยการอ่าน รวมถึงเก็บข้อคิด และประสบการณ์ตัวเองและคนรอบตัวมาถ่ายทอด เป็นข้อความที่ใช้ภาษาง่ายๆ ขั้นตอนการทำงาน ตั้งแต่วาดภาพ แต่งภาพ และโพสต์ ใช้เวลาต่อครั้งแค่ 15 นาที ทว่า ความยากที่แท้จริง อยู่ที่การคิดหาเรื่องราวที่จะบอกกล่าว ยิ่งปัจจุบันเพจเป็นที่รู้จักในวงกว้าง การนำเสนอต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
“เรื่องที่ตรัยจะเขียนลงไป ส่วนใหญ่จะมาจากอ่าน เน้นเกี่ยวกับความรัก ครอบครัว ให้กำลังใจ และเรื่องราวในชีวิตประจำวันรอบตัว ซึ่งต้องผ่านการคิดทบทวน ไตร่ตรองอย่างดี เพราะในโลกออนไลน์มันรวดเร็วมาก ทำอะไรต้องคิดให้รอบคอบ อย่างเรื่องการเมือง ความเชื่อ ศาสนา ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากๆ จะไม่แตะเลย”
หน้าแฟนเพจ “bonbonmonja”
ด้วยความสำเร็จที่กล่าวมา ย่อมมีนักวาดการ์ตูนหน้าใหม่มองเป็นต้นแบบ อยากได้คำแนะนำ เพื่อเดินตามเป็น “ครีเอเตอร์” ขายสติกเกอร์ไลน์มีรายได้เป็นล้าน และมีฐานแฟนเพจเกือบล้านคนบ้าง
สาวช่างคิด ยอมรับตามตรงว่า ที่มีวันนี้ได้ ส่วนสำคัญหนึ่งมาจากโชคดีที่จังหวะอำนวย ตัวอย่างชัดเจนที่สุด ตอนเปิดแฟนเพจ bonbonmonja เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทุกภาพที่โพสต์ สมาชิกทุกคนจะมองเห็น แต่ปัจจุบัน เฟซบุ๊กปรับเกณฑ์ให้เห็นน้อยลงเรื่อยๆ แม้แต่ตัวเธอเอง ช่วง 2-3 เดือนหลัง ยังต้องยอมจ่ายเงินเฟซบุ๊ก แลกกับให้คนเห็นโพสต์มากขึ้น เพราะจำนวนผู้โหลดสติกเกอร์กว่า 80% มาจากเป็นฐานในโซเซียลมีเดีย ส่วนการเป็น “ครีเอเตอร์” ขายสติกเกอร์ก็มีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ (ยอดถึงวันที่ 9 ม.ค.58 มีกว่าประมาณ 3.8 หมื่นราย) ดังนั้น โอกาสของหน้าใหม่ยากกว่าเธอมาก
“โอกาสของแต่ละคนไม่เท่ากัน ถ้าเรารู้ว่าเราชอบอะไรสักอย่าง ก็ควรทำมันไปเรื่อยๆ จนมีความพร้อม และเมื่อโอกาสเข้ามา เราต้องคว้ามันไว้ให้ได้”
อย่างไรก็ตาม การ์ตูนที่จะแจ้งเกิดได้ ต้องให้โดนใจผู้พบเห็น ด้วยบุคลิกโดดเด่น ดูแล้วจำได้แทบจะทันที พร้อมพยายามนำเสนอไปสู่สายตาคนให้มากที่สุด ผ่านช่องทางต่างๆ ให้หลากหลาย และเบื้องต้นไม่ควรคิดถึงเรื่องผลตอบแทนมากนัก ขอให้ตัวการ์ตูนเป็นที่รู้จักและจดจำได้เสียก่อน ผลประโยชน์อื่นๆ จะตามมาภายหลังเอง
“แม้จะยากแต่ก็มีโอกาส เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีทางเลือกใหม่เสมอๆ ดังนั้น สิ่งสำคัญเหนือกว่า ตรัยมองที่การสะสมความสามารถ โอกาสของแต่ละคนไม่เท่ากัน ถ้าเรารู้ว่าเราชอบอะไรสักอย่าง ก็ควรทำมันไปเรื่อยๆ จนมีความพร้อม และเมื่อโอกาสเข้ามา เราต้องคว้ามันไว้ให้ได้”
ประโยคสุดท้าย ถ้านับเป็นการ “บ่น” ก็คงเป็นเสียงบ่นที่น่าฟังอย่างยิ่ง
แฟนเพจ “bonbonmonja”
“เรื่องที่ตรัยจะเขียนลงไป ส่วนใหญ่จะมาจากอ่าน เน้นเกี่ยวกับความรัก ครอบครัว ให้กำลังใจ และเรื่องราวในชีวิตประจำวันรอบตัว ซึ่งต้องผ่านการคิดทบทวน ไตร่ตรองอย่างดี”
ที่มา : http://manager.co.th/iBizchannel/viewNews.aspx?NewsID=9580000003943