กูเกิล ประกาศเลิกขาย Google Glass แล้ว

19 มกราคม 2015 คือวันที่กูเกิล (Google) ประกาศหยุดจำหน่ายแว่นอัจฉริยะ “กูเกิลกลาส (Google Glass)” ในราคา 1,500 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 45,000 บาทอย่างเป็นทางการ งานนี้โลกออนไลน์ส่งเสียงวิจารณ์ตรงไปตรงมาว่ากูเกิลกำลังยอมแพ้ในการดึงผู้บริโภคให้หันมาซื้อแว่นไฮเทค อย่างน้อยก็ในตอนนี้
       
คำถามคือทำไมกูเกิลจึงยอมแพ้ กูเกิลตอบเรื่องนี้ในบล็อกบริษัทว่าเป็นนโยบายยกระดับโครงการ โดยปิดโครงการทดลอง Google Glass “Explorer” เพื่อดำเนินการต่อในส่วนวิจัย “กูเกิลเอ็กซ์ (Google X)” จึงทำให้ต้องหยุดจำหน่ายแก็ดเจ็ดราคาแพงชิ้นนี้ไป
       
การยกระดับโครงการทำให้กูเกิลกลาสต้องเปลี่ยนชื่อหัวหน้าทีมผู้รับผิดชอบไปด้วย โดยผู้กุมบังเหียนการพัฒนากูเกิลกลาสนับจากนี้ไปคือโทนี ฟาเดลล์ (Tony Fadell) หัวหน้าทีมวิจัยที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีอัจฉริยะอย่าง “เนสต์ แล็บส์ (Nest Labs)” ซึ่งกูเกิลซื้อกิจการมาเมื่อปี 2014 ด้วยมูลค่ามากกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ
       
แม้จะคำแถลงการณ์จะดูสวยงาม แต่สื่อมวลชนวิเคราะห์ว่าการประกาศครั้งนี้เป็นสัญญาณว่ากูเกิลกลาสไม่พร้อมหรือไม่สามารถเข้าถึงวิถีชีวิตผู้บริโภคยุคดิจิตอลได้ ที่ผ่านมา เซเลบฯมากมายสวมแว่นกูเกิลกลาสจนสร้างกระแสตื่นตัวให้ผู้บริโภคอยู่พักหนึ่ง แต่กูเกิลกลาสก็ตกเป็นข่าวถูกห้ามใช้งานในหลายสถานที่ เนื่องจากความกังวลว่าผู้ใช้แว่นจะบันทึกภาพด้วยกูเกิลกลาสโดยไม่ได้รับอนุญาต
       
ทั้งหมดนี้ ประชาสัมพันธ์กูเกิลปฏิเสธไม่ให้ความเห็นใดเพิ่มเติมจากแถลงการณ์

อย่างไรก็ตาม เชื่อกันว่ากูเกิลไม่ได้ยอมแพ้กับการทดลองที่ล้มเหลว แต่พยายามหาทางรักษาชีวิตของโครงการพัฒนาแว่นไฮเทคนี้ไว้ เนื่องจากมีการระบุในโพสต์ชัดเจนว่า กูเกิลจะลงมือสร้างสรรค์อุปกรณ์นี้เพื่ออนาคตต่อไป และผู้ใช้ทุกคนจะได้เห็นกลาสเวอร์ชันใหม่เมื่อทุกอย่างพร้อม
       
เหนืออื่นใด ถึงแม้กูเกิลกลาสจะไม่สามารถแจ้งเกิดในกลุ่มผู้บริโภคได้ในขณะนี้ แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าแว่นไฮเทคของกูเกิลยังมีอนาคตสดใสรออยู่ในตลาดผู้ใช้กลุ่มองค์กรธุรกิจ โดยที่ผ่านมา องค์กรอย่างสายการบิน “เวอร์จิน แอร์ไลน์ส (Virgin Airlines)” มีการทดลองนำกลาสไปใช้ในธุรกิจแล้ว ยังไม่นับอีกหลายหน่วยงานในหลากอุตสาหกรรมที่แสดงทีท่าต้องการนำแว่นกูเกิลกลาสไปใช้เพิ่มความสามารถในการดำเนินงานขององค์กร
       
ถึงบรรทัดนี้ บทสรุปว่ากูเกิลกลาส”ล้มเหลวจึงเลิกขาย”จริงหรือไม่จึงไม่ได้มีความสำคัญมากเท่าการจับตาดูความเคลื่อนไหวของผู้ผลิตในเอเชีย ซึ่งแสดงทีท่าพร้อม”ผลิตแว่นไฮเทคลักษณะเดียวกัน”ออกมาตีตลาด ซึ่งหากโรงงานเอเชียยังเดินหน้าผลิตและจำหน่ายต่อไป เราอาจได้เห็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการแก็ดเจ็ดโลกก็ได้

ที่มา : http://manager.co.th/CBizReview/ViewNews.aspx?NewsID=9580000006752