แจ้งเกิดได้มั๊ย? แอพฯ Vine กับโซเชียลชาวไทย

ปัจจุบันมีโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นมากมายให้คนออนไลน์ได้ใช้กันทุกรูปแบบ ซึ่งสื่อไหนจะโดนหรือไม่โดนนั้น ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน แต่สำหรับคนไทยแล้ว “เฟซบุ๊ค” “ทวิตเตอร์” และ “อินสตาแกรม” ยังคงครองใจชาวออนไลน์ได้อยู่ เพราะยังคงมีพฤติกรรมแชะแล้วแชร์

Vine (ไวน์) เป็นอีกโซเชียลมีเดีย ที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยอยู่ภายใต้ความดูแลของโซเชียลมีเดียตัวพ่ออย่าง “ทวิตเตอร์” แม้ว่าไวน์จะเพิ่งกำเนิดมาได้เพียงแค่ 2 ปี แต่ก็โดนใจวัยโจ๋อยู่พอสมควร เพราะมีฟีเจอร์หลักคือการถ่ายวิดีโอ และต้องมีความยาวเพียง 6 วินาทีเท่านั้น! ซึ่งเป็นการท้าทายความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างมาก ในต่างประเทศมีการใช้ไวน์เป็นหนึ่งในสื่อโฆษณาด้วย

สำหรับในประเทศไทยแล้วคงไม่คุ้นชื่อไวน์เท่าไหร่นัก ลำพังแค่คนใช้ทวิตเตอร์ยังมีตัวเลขราว 4.5 ล้านยูสเซอร์เท่านั้น แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคนไทยได้รู้จัก “แอพไวน์”มากขึ้น จากคลิปวิดีโอสุดฮาจากสาวมัธยมปลายวัย 17 ปี “น้องมะเฟือง” ที่ทำเอาชาวโซเชียลต้องแชร์ความฮาออกไป ทำให้ไวน์เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมทั้งตัวน้องมะเฟืองเองด้วย

น้องมะเฟือง หรือ ณัฐชยา นิ่มสมุทร  เล่าว่า เริ่มเล่นไวน์จริงจังมา 6 เดือนแล้ว เริ่มจากการเล่นทวิตเตอร์เพราะได้ติดตามดาราต่างประเทศที่ชื่นชอบ ซึ่งดาราเหล่านี้จะเล่นทวิตเตอร์เองจริงๆ ต่างจากเฟซบุ๊คที่ส่วนใหญ่จะมีแอดมินดูแลเพจ แต่ที่ทำให้สนใจในตัวไวน์ก็เพราะว่าส่วนตัวเป็นคนชอบสื่ออารมณ์ผ่านท่าทาง มากกว่าการพิมพ์เป็นตัวอักษรผ่านคีย์บอร์ด และดูท้าทายความคิดมากกว่าฟีเจอร์วิดีโอในอินสตาแกรม เพราะต้องจัดการเนื้อหาให้ได้ภายใน 6 วินาที

“ตอนแรกรู้จักไวน์จากคลิปวิดีโอในยูทิวบ์ที่เขาจะมีรวบรวมคลิปเด่นๆ ของคนต่างประเทศเอาไว้ ส่วนใหญ่จะเป็นคลิปตลกๆ ฮาๆ ก็เลยคิดว่าตัวเองน่าจะทำได้ เริ่มต้นคลิปแรกจากจากบ่น การระบายอารมณ์ของตัวเองจากการสอบก่อน จากนั้นก็เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวลองเอามาทำเป็นคลิปวิดีโอ”

คลิปวิดีโอที่ยอดนิยมของไวน์ทั่วโลกส่วนใหญ่จะเป็นในแนวคอมเมดี้ หรือเอ็นเตอร์เทน มีผู้ที่โด่งดังจากคอนเทนต์ประเภทนี้ค่อนข้างเยอะ แต่ก็มีคอนเทนต์ประเภทอื่น อย่างเช่น ร้องเพลง เต้น ทำอาหาร ที่นิยมรองลงมาด้วยเช่นกัน จึงไม่แปลกใจที่น้องมะเฟืองจะแจ้งเกิดเพียงชั่วข้ามคืน ทำให้ปัจจุบันมีผู้ชมคลิปวิดีโอของเธอเกือบ 11 ล้านครั้ง (Loops) และมีผู้ติดตามในทวิตเตอร์กว่า 38,000 คน ผู้ติดตามในไวน์อีก 18,500 คน

แบรนด์โหนกระแส ใช้ไวน์เป็นเครื่องมือ

ในขณะเดียวกันไวน์ก็เหมือนกับโซเชียล มีเดียอื่นๆ ที่เป็นแพลตฟอร์มในการปั้น “Influencer” เพิ่มขึ้นมาประดับวงการ ซึ่งจะใช้คำว่า Vine Star คือคนที่แจ้งเกิดจากไวน์ และมีผู้ติดตามจำนวนมาก ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นกระบอกเสียงของแบรนด์ในการโฆษณาบนช่องทางออนไลน์ในทันที

โดยที่การโฆษณาผ่านไวน์ สตาร์เหล่านี้มองว่ามีอิทธิผลมากกว่าการเป็นเพียงแค่ Product Placement ที่วางแล้วถ่ายรูปคู่สินค้าอย่างเดียว ซึ่งไวน์มี “คอนเทนต์” เป็นตัวชูโรง ทำให้การสื่อสารออกมาดูมีมิติมากกว่า

ยกตัวอย่างแคมเปญ Share a Coke” ที่ทำการโฆษณาผ่านไวน์ สตาร์นามว่า Jake Paul ที่ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 3 ล้านคน มีการชมวิดีโอรวมกว่า 788 ล้านครั้ง ซึ่งเขาไม่ได้เพียงแค่โชว์ขวดโค้กที่มีฉลากเป็นชื่อเล่นอย่างเดียว แต่ทำเป็นคอนเทนต์คอมเมดี้สไตล์ตนเองออกมา แม้จะมีการติดแฮชแท็กชื่อแคมเปญข้างล่างให้รู้ว่าเป็นการโฆษณา แต่คนดูก็ไม่ได้รู้สึกว่าดูโฆษณาอยู่ เพราะเขายังคงครีเอตคอนเทนต์ออกมาเหมือนเดิม

ค่าตัวของไวน์ สตาร์ก็สูงด้วยเช่นกัน มีการเปิดเผยจากเอเจนซี่ด้านการตลาดในต่างประเทศว่า ค่าโฆษณาเพียงแค่ 6 วินาทีนั้นสูงถึง 5,000 – 30,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 160,000 – 960,000 บาท) ขึ้นอยู่กับไวน์สตาร์แต่ละคน แต่อย่างไรก็ตามไวน์ก็ยังมีข้อจำกัดที่กลุ่มผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 13 – 25 ปี ทำให้บางแคมเปญอาจจะไม่เหมาะกับไวน์เท่าไหร่

แต่ก็ใช่ว่าแบรนด์จะทำการตลาดผ่านไวน์ สตาร์อย่างเดียวเท่านั้น โดยที่แบรนด์ใหญ่ๆ มีการครีเอตคอนเทนต์ผ่านช่องทางไวน์ของตนเองด้วยเช่นกัน เช่น ซัมซุง, นิสสัน, โอริโอ้, ไทรเด้น, อเมริกัน แอร์, ซีโฟร่า และทาโค บอล ซึ่งแต่ละคลิปก็มีอัตราการชมในระดับหนึ่งที่ถือว่าไม่ขี้เหร่ แต่ก็มีบางแบรนด์ที่เลือกใช้ไวน์เป็นช่องทางในการลงทีเซอร์โฆษณาก่อนที่จะฉายจริงทางโทรทัศน์ หรือใช้ไวน์ในการแนะนำสินค้าใหม่ ส่วนวงการบันเทิงก็ใช้สำหรับโปรโมทเพลง โปรโมทภาพยนตร์ก่อนนั่นเอง

ในเวลานี้คงต้องจับตาดูว่า “ไวน์” จะเกิดในเมืองไทยแค่ไหน หรือเป็นแค่กระแสของน้องมะเฟืองแล้วผ่านไป ที่อาจจะดังสู้กระแส “เหนี่ยวไก่” ไม่ได้ เพราะยังไม่มีแบรนด์ติดต่อโฆษณา หรือติดต่อมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ แต่เชื่อว่าถ้าไวน์เป็นที่นิยมขึ้นมา การพัฒนาคอนเทนต์ของคนไทยจะก้าวไปอีกหนึ่งระดับ เพราะความท้าทายอยู่ที่ทำอย่างไรให้คนดูเข้าใจภายใน 6 วินาที!

กูรูออนไลน์ชี้ ไวน์ยังไม่ถูกเทสต์คนไทย

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com และนายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ได้ให้ความเห็นว่า “สำหรับแอพพลิเคชั่น Vine คนไทยเล่นกันน้อยมาก ยังไม่มีคนรู้จักด้วยซ้ำ เพราะด้วยพื้นฐานเองที่เชื่อมกับทวิตเตอร์ด้วย ซึ่งคนไทยไม่ได้ใช้เยอะมากขนาดนั้นเมื่อเทียบกับโซเชียลมีเดียอื่นๆ และคอนเทนต์ประเภทวิดีโอคนไทยส่วนใหญ่ยังนิยมใช้โซเชียลแคม กับอินสตาแกรมอยู่ เพราะใช้งานง่าย ถ่ายรวดเดียวครั้งเดียวและโพสท์ลงได้เลย

แต่ Vine ยังมีข้อจำกัดอยู่ที่ต้องทำคอนเทนต์ภายใน 6 วินาที ทีนี้มันก็เป็นเรื่องของครีเอทีฟแล้วที่ต้องดีไซน์คอนเทนต์ยังไง ต้องถ่ายทีละช็อตมาต่อเป็นเรื่องราว อาจจะไม่ถูกจริตคนไทยเท่าไหร่ แต่ในเมืองนอกมีการทำเป็นเรื่องเป็นราว แบรนด์ก็มีทำคอนเทนต์ออกมาด้วย 

แต่ในกรณีน้องมะเฟืองอาจจะไม่ทำให้ Vine บูมขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด นักการตลาดอาจจะยังไม่พุ่งเป้ามากเท่าไหร่ เพราะคนไทยยังเล่นไม่เยอะ คงต้องใช้เวลาสักพักในการทำความเข้าใจ แต่มองว่าที่น่าสนใจมากกว่าคือตัวบุคคล และคอนเทนต์ ทำให้น้องเป็นที่สนใจในสังคมขึ้นมา และคอนเทนต์ประเภทนี้คนไทยก็ชอบอยู่แล้วด้วย”