อดีตแบรนด์มือถืออันดับ 1 ของโลก “โนเกีย (Nokia)” ส่งจดหมายแจ้งพร้อมดำเนินการทางกฏหมายกับบริษัทเทคโนโลยีที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในอังกฤษรายหนึ่ง ฐานนำคำว่า “เฮียร์ (HERE)” มาใช้ในแอปพลิเคชัน ระบุว่าเหตุที่ต้องดำเนินการเช่นนี้เนื่องจากผู้บริโภคอาจเข้าใจผิดคิดว่าแอปพลิเคชันนี้เป็นส่วนหนึ่งของบริการ ‘HERE’ ที่โนเกียพุ่งเป้าพัฒนาเป็นธุรกิจหลักในขณะนี้
ถือเป็นการเปิดศึกชิงคำว่า ‘HERE’ เมื่อบริษัท “โลว์ดาวน์แอป (Lowdownapp)” สตาร์ทอัปเกิดใหม่สัญชาติอังกฤษที่ประกาศตัวเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดิจิตอล ด้วยการให้บริการแอปพลิเคชันซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถบอกเพื่อนได้ว่ากำลังอยู่ในสถานที่ใดด้วยการกดปุ่มคำว่า “HERE” นอกจากแอปพลิเคชันชื่อ Lowdownapp บริษัทนี้ยังให้บริการแอปพลิเคชันชื่อ HERE ร่วมด้วย ทั้งหมดทำให้โนเกียหวั่นใจว่าจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เนื่องจาก HERE เป็นชื่อแบรนด์แอปพลิเคชันและซอฟต์แวร์แผนที่ซึ่งโนเกียดำเนินการประชาสัมพันธ์เต็มที่หลังจดทะเบียนการค้าไว้
สำนักข่าวบีบีซี (BBC) รายงานเนื้อหาในจดหมายว่า โนเกียเปิดเผยมูลค่าการลงทุนสร้างแบรนด์ HERE ของบริษัทว่าสูงถึง 12 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 384 ล้านบาท ซึ่งทำให้แบรนด์ HERE กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ในจดหมายระบุว่า โนเกียให้เวลาบริษัท Lowdownapp ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อเปลี่ยนชื่อหรือรีแบรนด์ (rebrand) คุณสมบัติ “HERE” ในแอปพลิเคชัน พร้อมระบุว่าโนเกียได้จดทะเบียนคำว่า HERE เพื่อใช้กับระบบซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์อย่างถูกต้อง ซึ่งจะครอบคลุมถึงการใช้งานบนแอปพลิเคชันด้วย
แม้โนเกียจะยืนยันว่าการใช้เครื่องหมายพร้อมคำว่า HERE จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดคิดว่าแอปพลิเคชันนี้มีความเกี่ยวข้องกับโนเกีย ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างความเสียหายทางธุรกิจให้กับโนเกียโดยเฉพาะตลาดอังกฤษ แต่เดวิด ซีเนียร์ (David Senior) ซีอีโอ Lowdownapp ให้ความเห็นว่าคำเตือนของโนเกียเป็นเรื่องน่าขัน เนื่องจากคำว่า ‘I’m here’ เป็นคำที่ทุกคนใช้ประกาศว่าได้เดินทางมาถึงสถานที่นั้นแล้ว จุดนี้ทำให้บริษัทเลือกใช้คำว่า HERE ในแอปพลิเคชัน
อย่างไรก็ตาม ซีอีโอสตาร์ทอัปรายนี้ยอมรับว่าจะลบแอปพลิเคชัน HERE ของบริษัทออกไปจากร้านดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน แต่จะหาทางเจรจาเพื่อรอลุ้นว่าจะต้องลบปุ่ม “HERE” ออกจากแอปพลิเคชัน Lowdownapp หรือไม่ต่อไป
ในขณะที่ยังไม่มีรายงานความเห็นใดๆจากตัวแทนโนเกีย การส่งจดหมายขู่ดำเนินการตามกฏหมายนี้ถูกมองว่าจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในวงการแอปพลิเคชัน ซึ่งแสดงว่าผู้พัฒนาจะต้องระมัดระวังการใช้คำที่อาจถูกจดทะเบียนการค้าไว้แล้ว แม้ว่าคำนั้นจะเป็นศัพท์ธรรมดาสามัญที่ประชาชนใช้งานตลอดเวลา