พิทยพันธ์ ศรีแววเนตร หนึ่งในคณะกรรมการสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) ได้เปิดเผยถึงเทรนด์การตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภคที่มาแรงในปี 2014 โดยมี 5 เทรนด์ใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้
Screens and Internet are to the Next Level : หน้าจอกับโลกดิจิตอล
ด้วยหน้าจอที่มีหลากหลายในปัจจุบัน ผนวกกับความเป็นดิจิตอลหรือการใช้อินเตอร์เน็ต ทำให้เกิดพฤติกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา เป็นสิ่งที่นักการตลาดจะต้องหยิบตรงนั้นขึ้นมา แล้วใช้ให้เกิดประโยชน์กับแบรนด์ให้มากที่สุด และหน้าจอที่พูดถึงมากที่สุดในตอนนี้คือ “ทีวีอะนาล็อก” และ “ทีวีดิจิตอล” ที่เข้ามาเปลี่ยนประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์ในประเทศไทย ในปีที่ผ่านมาจะเห็นว่ายังมีลักษณะฝุ่นตลบ แต่ตอนนี้เหมือนจะมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น มีการแข่งขันในเรื่องคอนเทนต์ เรื่องเรตติ้ง และมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นเรื่อยๆ
ความท้าทายของทีวีดิจิตอลที่เข้ามาเป็นน้องใหม่ในการชิงเค้กคนดูนั้นก็คือ เขาจะมียุทธศาสตร์อย่างไรในการครองใจคนดูให้ได้ บางช่องมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนเช่นในเรื่องของการลงทุนด้านคอนเทนต์อย่างเต็มที่ หรือเน้นในเรื่องการฉายรายการแบบรีรัน และมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายชัดเจนมากยิ่งขึ้น ได้เห็นแต่ละช่องงัดไม้เด็ดออกมาสู้กันมากขึ้น
สิ่งแรกที่ผู้บริโภคต้องการคือ “คอนเทนต์” มีรายการดีๆ ให้ชม บางช่องจะมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน อย่างช่องข่าว ช่องครอบครัว บางช่องก็เป็นวาไรตี้ และพอมีคอนเทนต์ที่ชัดเจนก็จะกำหนดคนดูเช่นกันว่าเป็นระดับแมสที่คนชมได้ทั่วไป หรือเป็นการกำหนดคนชมแบบเฉพาะกลุ่ม นำไปสู่การที่ช่องได้ฐานจำนวนคนดูมากๆ และมีรายได้จากค่าโฆษณา
Television in jeopardy? : ทีวีตายแล้วจริงหรือไม่?
โทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อที่เข้าถึงคนได้มากที่สุดอยู่ และช่วงคนดูโทรทัศน์มากที่สุดยังคงเป็นช่วง “ไพรม์ไทม์” หรือช่วงเวลา 19.00-23.00 น. แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือผู้บริโภคไม่ได้ดูโทรทัศน์เพียงแค่จอเดียวอีกต่อไป เขามักใช้จออื่นประกอบด้วย เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต เป็นต้น
สิ่งที่นักการตลาดควรทำในตอนนี้คือ คอยมอนิเตอร์พฤติกรรมการดูทีวีและใช้จอของผู้บริโภค และหาวิธีที่ให้ผู้บริโภคร่วมกิจกรรมผ่านหน้าจออื่นๆ ระหว่างดูทีวีไปด้วย เพื่อเชื่อมต่อและสร้างเอ็นเกจเมนต์ต่อผู้บริโภคได้
นักการตลาด หรือผู้ประกอบการทีวีต้องคิดดูว่า ที่ผู้บริโภคดูทีวีน้อยลงเป็นเพราะคอนเทนต์หรือเปล่า เขาจึงหลีกเลี่ยงไปดูคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มอื่นๆ มากกว่า ผู้ประกอบการควรทำคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคให้มากขึ้น และต้องเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่นๆ และทำอย่างไรให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมกับเราได้ในขณะที่ดูรายการอยู่ ผ่านพฤติกรรมการใช้สกรีนของเขา
E-Commerce มาแน่
ตัวเลขการเติบโตของอีคอมเมิร์ชในปัจจุบันที่มีมูลค่าถึงเกือบ 8 แสนล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่าจะถึง 1 ล้านล้านในปี 2016 ปัจจัยที่ทำให้อีคอมเมิร์ชเติบโตก็ได้แก่ การเติบโตของอุปกรณ์สมาร์ท ดีไวซ์ต่างๆ และการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติ รวมไปถึงนโยบายของทางภาครัฐที่ผลักดันเรื่องเศรษฐกิจดิจิตอล
เทรนด์เรื่องอีคอมเมิร์ชได้เกิดขึ้นหลังจากเทรนด์เรื่อง Non-line Shopping ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา หรือจะเรียกว่าเป็นการช้อปปิ้งที่ไม่ได้จำกัดที่การซื้อที่ห้างอีกต่อไป แต่เป็นการซื้อของออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการช้อปปิ้งของผู้บริโภคไปอย่างมากเช่นกัน
เช่นเดียวกับที่ทาง “กูเกิล” ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับ ROPO หรือ Research online Purchase offline คือการเชื่อมต่อระหว่างประสบการณ์การช้อปปิ้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน ผลสำรวจส่วนใหญ่บอกว่า 51% ของผู้บริโภคมักจะค้นหาข้อมูลบนโลกออนไลน์ก่อน แล้วจึงตัดสินใจไปซื้อที่หน้าร้าน รองลงมาคือ 47% คือทั้งค้นหาข้อมูลในโลกออนไลน์ และทำการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์เช่นกัน
นักการตลาด หรือผู้ประกอบการด้านอีคอมเมิร์ชต้องหารูปแบบการบริการใหม่ๆ เช่น รูปแบบการจ่ายเงิน หรือการสั่งสินค้าและรับสินค้า ที่ให้ลูกค้าสามารถเลือกสถานที่ในการรับสินค้าได้ โดยที่ไม่จัดกัดว่าจะต้องส่งทางไปรษณีย์เท่านั้น เพราะลูกค้าบางคนรอไม่ได้ อยากสั่งสินค้าและได้สินค้าเลย
Wearable Technology : ไฮเทคอย่างเดียวไม่พอ ต้องแฟชั่นด้วย
ในตอนนี้จะเห็นว่ามีเทคโนโลยีในรูปแบบสวมใส่ได้ออกมาเยอะมาก แต่สุดท้ายต้องดูต่อไปว่าจะเข้ามาอยู่ในชีวิตของผู้บริโภคได้อย่างไร แต่ล่าสุดสมาร์ทดีไวซ์จะฉลาดมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถเชื่อมต่อกับสามาร์โฟน หรืออุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้านได้ อุปกรณ์ในตระกูล “สมาร์ท” จะเริ่มบุกเข้าบ้านมากขึ้น เริ่มต้นจากสมาร์ทโฟน สมาร์ททีวี สมาร์ทดีไวซ์
แต่สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการจากสมาร์ทดีไวซ์เหล่านี้ไม่ใช่แค่ความฉลาดของมัน แต่ยังต้องการความสะดวกสบายในการเชื่อมต่อกับสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ และที่สำคัญมันต้องมีดีไซน์ที่ดี สามารถใส่แล้วไม่เขิน เรียกง่ายๆ ว่าต้องมีความเป็นแฟชั่นอยู่ในตัวด้วย
Social Media : สื่อใหม่ในการขับเคลื่อนสังคม
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าคนไทยกับพฤติกรรมการเล่นโซเชียลมีเดียไม่แพ้ชาติใดในโลก ซึ่งตอนนี้มีจำนวนผู้ใชถึง 28 ล้านยูสเซอร์ และใช้เวลาการเล่นเฉลี่ย 3.7 ชั่วโมง/วัน
อีกทั้งพฤติกรรมของคนไทยในตอนนี้จะเป็นเรื่องของการใช้สื่อโซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ ทั้งการแชร์คลิปวิดีโอ การแชร์ข่าวสาร ตอนนี้ไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มเพื่อน แต่เป็นเหมือนพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมได้ เราได้เห็นทัศนคติของผู้บริโภคแข็งแรงขึ้นจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้บริโภคเขาก็มีอำนาจในมือมากขึ้น ในการแชร์ หรือบอกต่อไปยังคนรอบข้าง
จากพลังของโซเชียลมีเดียจะส่งผลต่อสังคมอย่างรวดเร็วนั้น มีทั้งผลดีและผลเสียต่อแบรนด์ ถ้าแบรนด์ทำผิดพลาดการบอกต่อก็จะเป็นเหมือนไวรัสลามไปทั่ว แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดผลดี แบรนด์ต่างๆ ก็มีความรอบคอบในการทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น มีการกระทำที่โปร่งใสมากขึ้น และที่ได้เห็นบ่อยครั้งก็คือการที่แบรนด์ออกมาแสดงความรับผิดชอบ หรือขอโทษผ่านสื่อสำหรับขอผิดพลาด ซึ่งทั้งหมดเกิดจากพลังของโซเชียลมีเดียนั่นเอง
ภาพจาก Internet