เป็นอีกหนึ่งในความเคลื่อนไหวอีกครั้งของ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” กับการตัดสินใจ ขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ในบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด หรือ ซีเอ็ด จำนวน 49.55 ล้านหุ้น หรือคิดสัดส่วน 12.64% ในราคาหุ้นละ 6 บาท มียอดเงินสุทธิที่บริษัทได้รับ 297 ล้านบาท
โดยหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ในซีเอ็ด นี้แกรมมี่ ได้ขายให้กับ “วุฒิภูมิ จุฬางกูร” ซึ่งเป็นน้องชายของ “ทวีฉัตร จุฬางกูร” ซึ่งหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของซีเอ็ด
สำหรับการขายหุ้นของแกรมมี่ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งในกระบวนการ “ปรับพอร์ตธุรกิจ” เพื่อหันมามุ่งเน้นธุรกิจ “ทีวีดิจิทัล” ที่แกรมมี่ เข้าประมูลชิงใบอนุญาติมาถึง 2 ช่อง คือ ช่อง ONE (ช่อง HDความคมชัดสูง) และช่องจีเอ็มเอ็มชาแนล (ช่อง SD ความคมชัดปกติ)
อย่างทีรู้กันว่า สมรภูมิ “ทีวีดิจิทัล” ปีนี้ ต้องสู้รบกันชนิดดุเดือดเลือดพล่าน เพื่อแย่งชิงเค้กโฆษณา จากคู่แข่งที่มีถึง 24 ราย ซึ่งทุกช่องต่างต้องทุ่มเงินลงทุนผลิตเนื้อหา เพื่อดึงดูดคนดู และเพิ่มเรทติ้งคนดูกันอย่างเต็มที่
“ช่องวัน” นั้นแกรมที่วางจุดยืนไว้ให้เป็นช่องที่มุ่งเน้นผลิตละคร เจาะกลุ่มคนดูทั่วไป ในขณะที่จีเอ็มเอ็มชาแนล จะมุ่งกลุ่มวัยรุ่น ต้องมีเนื้อหาวาไรตี้ เกมโชว์ แกรมมี่ได้คาดหมายปีนี้ จะต้องใช้เงินลงทุน ในการผลิตเนื้อหา โดยประมาณ เฉลี่ยช่องละ 1,000 ล้านบาท เพื่อให้ช่องวัน และจีเอ็มเอ็มชาแนล ให้แจ้งเกิดโดยเร็ว และคืนทุนให้ได้ภายในปีที่ 3
โดยก่อนหน้านี้ แกรมมี่ ได้ปรับพอร์ตการลงทุนมาแล้ว ตั้งแต่การล้างพอร์ตธุรกิจ “เพย์ทีวี” ด้วยการสวอปหุ้นกับ CTH เพื่อปลดเปลื้องตัวเลขขาดทุนที่สะสมมาจากธุรกิจขายกล่องเพย์ทีวีและดาวเทียม
จากนั้นเมื่อปลายปีที่แล้วได้ปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น ในบริษัทจีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี เทรดดิ้ง ซึ่งดำเนินธุรกิจทีวีดิจิทัล “ช่องวัน” โดยให้ “ถกลเกียรติ วีรวรรณ” เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน และถือหุ้นในสัดส่วน 49% แกรมมี่ ถือหุ้น 51% เพื่อให้ “ถกลเกียรติ” รับบทบาท คีย์แมน และหุ้นส่วนทางธุรกิจคนสำคัญ เพื่อนำเอาประสบการณ์ในการทำละคร และเงินทุนมาร่วมกันผลักดัน “ช่องวัน” ให้แจ้งเกิดในเร็ววัน เนื่องจากเดิมพันของช่องนี้ค่อนข้างสูง ต้องสู้กับบิ๊กทีวีที่ครองตลาดเดิมอย่างช่อง 3 และข่อง 7 และยังมีคู่แข่ง ดิจิทัลทีวี อย่างเวิร์คพ้อย และอาร์เอส ก็มีเป้าหมายไม่แตกต่างกันนัก
จากผลสำรวจเรทติ้ง ของนีลเส็นพบว่า เรทติ้งของช่องวันในเดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมาสดๆ ร้อน อยู่ในระดับ 1.7 อยู่ในอันดับ 3 ของช่องทีวีดิจิทัล โดยมีเวิร์คพ้อยท์ เป็นจ่าฝูงได้เรทติ้งไป 6.2 ตามมาด้วย ช่อง 8 มีเรทติ้ง 2.6 ยังตามหลัง ช่อง 7 ที่มีเรทติ้ง 12.4 และช่อง 3 มีเรทติ้ง 7.5 แต่เรทติ้งของทั้งช่อง 7 และ 3 ลดลงไปไม่น้อย เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ปี 2557 ช่อง 7 เคยทำได้ 18.8 และช่อง 3 มีเรทติ้ง 7.5
งานนี้ แกรมมี่ ต้องหันหัวรบเข้าสู่ สนาม “ทีวีดิจิทัล” ต้องเตรียมทั้ง เสบียงกรัง เงินทุน กำลังคน ธุรกิจไหนที่ให้ผลตอบแทนน้อยไม่คุ้มกับการลงทุนก็ต้องตัดทิ้ง ลดการลงทุนลง หันมาทุ่มให้กับธุรกิจที่เดิมพันสูงกว่า โอกาสมากกว่า หากปักหลักแจ้งเกิดในธุรกิจอย่าง “ทีวีดิจิทัล” ได้ โฉมหน้าแกรมมี่ก็จะเปลี่ยนไปทันที