ต้องเรียกว่าเป็นช่วงที่ ‘แอปเปิล’ หวานฉ่ำที่จีน ไม่เรียกว่า ‘หวานฉ่ำ’ ได้อย่างไรเมื่อความสำเร็จถล่มทลายในการเจาะตลาดจีนของเจ้าพ่ออิเล็กทรอนิกส์เบอร์ 1 ‘แอปเปิล (Apple)’ ทำให้หุ้นแอปเปิลดีดตัวทำสถิติใหม่ไปเรียบร้อยที่ระดับ 120 เหรียญสหรัฐ แถมการสำรวจล่าสุดยังพบว่าแอปเปิลคือแบรนด์สินค้าในดวงใจที่ชาวจีนอยากได้รับหรือมอบเป็นของขวัญหรูช่วงตรุษจีนปีนี้ ส่งให้โอกาสที่แอปเปิลจะแซงคู่แข่งอย่างซัมซุง (Samsung) มีสูงมากเมื่อมองในเวทีโลก
สถานการณ์แอปเปิลหวานฉ่ำในตลาดจีนเหล่านี้ถูกหยิบมาเป็นประเด็นร้อนในช่วงสัปดาห์ที่แอปเปิลประกาศผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2014 ตัวเลขในการประกาศครั้งนั้นไม่ได้เรียกความประหลาดใจเนื่องจากยอดขายสินค้าและเม็ดเงินหมุนเวียนของแอปเปิลมักจะเพิ่มขึ้นเป็นปกติ แต่สิ่งที่ทำให้นักสังเกตการณ์ฮือฮาได้เป็นพิเศษคือความต้องการสินค้าแอปเปิลในประเทศจีนที่ขยายตัวชัดเจน
เนื้อหอมที่เมืองจีน
แอปเปิลเปิดเผยว่า ยอดขายรวมสินค้าแอปเปิลในจีนซึ่งรวมจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไต้หวัน นั้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 70% แตะระดับ 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 515,200 ล้านบาท) ทำให้จีนกลายเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ของแอปเปิล คิดเป็นสัดส่วน 21.6% ของรายรับรวมแอปเปิล
ยอดเม็ดเงินสะพัดจากจีนไม่เพียงสะท้อนว่าจีนคือพื้นที่หลักที่จะทำให้แอปเปิลเติบโตยิ่งกว่าเดิม แต่สัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นกว่า 70% ทำให้แอปเปิลกลายเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอันดับ 1 ของจีนไปแล้วเรียบร้อย
หนึ่งในปัจจัยหลักที่นำไปสู่ความสำเร็จนี้ คือการตกลงเซ็นสัญญากับโอเปอเรเตอร์ขาใหญ่เมืองจีนอย่างไชน่าโมบาย (China Mobile) โดยช่วงปลายปี 2013 แอปเปิลจับมือกับไชน่าโมบายจัดจำหน่ายไอโฟนบนเครือข่ายไชน่าโมบายที่มีฐานผู้ใช้จำนวนมากกว่า 800 ล้านราย
ในจำนวนผู้ใช้มากกว่า 800 ล้านรายนี้ มากกว่า 335 ล้านรายเป็นผู้ใช้บริการเครือข่ายข้อมูลความเร็วสูง 3G หรือ 4G ดังนั้นการจับมือกับไชน่าโมบายในฐานะพันธมิตรธุรกิจ จึงกลายเป็นบันไดขั้นสำคัญของแอปเปิลในการตีตลาดแดนมังกรอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าแอปเปิลต้องใช้เวลานานกว่าจะมีวันนี้ เนื่องจากซีอีโอแอปเปิลเปิดเผยว่า แอปเปิลและไชน่าโมบายมีการเจรจากันตั้งแต่ปี 2008 เรียกว่าต้องใช้เวลาเกือบ 6 ปีกว่าโลกจะได้เห็นความสำเร็จของแอปเปิลและซีอีโอคนใหม่อย่างทิม คุก (Tim Cook)
ทิม คุก ‘ตื่นเต้น’
ซีอีโอแอปเปิลยอมรับในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา ว่ารู้สึกตื่นเต้นกับยอดจำหน่ายไอโฟนรุ่นปัจจุบันทั้ง iPhone 6 และ iPhone 6 Plus ในจีน โดยย้ำว่าตัวเลขเหล่านี้แสดงสถิติใหม่ของกลุ่มผู้ใช้ที่เปลี่ยนใจตีจากอุปกรณ์แอนดรอยด์ (Android)
ถามว่าทำไมแอปเปิลจึงตื่นเต้นกับยอดจำหน่ายที่ทำได้ หนึ่งในคำตอบของเรื่องนี้คือเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แอปเปิลเพิ่งจะถูกวิเคราะห์ว่ากำลังเสื่อมมนต์ขลังในตลาดจีน โดยเฉพาะช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาซึ่งการสำรวจพบว่าแอปเปิลถูกแบรนด์ที่ผลิตสมาร์ทโฟนหน้าจอใหญ่เบิ้มแซงหน้าไปแบบไม่เห็นฝุ่น ทำให้การสำรวจของบริษัทวิจัยคานาลิส (Canalys) พบว่าแอปเปิลกลายเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนอันดับ 6 ในจีน แพ้แบรนด์ท้องถิ่นอย่างหัวเว่ย (Huawei), เลอโนโว (Lenovo), ซัมซุง (Samsung), เสี่ยวหมี่ (Xiaomi) และหยู่หลง (Yulong)
ความพ่ายแพ้ในช่วงเวลาที่แอปเปิลมุ่งจำหน่ายไอโฟนรุ่นประหยัดอย่าง iPhone 5C นั้นทำให้แอปเปิลต้องเร่งเครื่องอย่างหนัก เนื่องจากภาวะตลาดอิ่มตัวในสหรัฐอเมริกาและยุโรปทำให้แอปเปิลจำเป็นต้องหาทางขยายตลาดมายังพื้นที่ใหม่ แน่นอนว่าจีนคือเป้าหมายสำคัญ ท่ามกลางจำนวนประชากรมหาศาลที่พร้อมควักกระเป๋าซื้อสินค้าที่อยากได้
ระหว่างการสัมภาษณ์กับสำนักนิวยอร์กไทมส์ ‘ลูคา เมซทริ (Luca Maestri)’ ประธานฝ่ายการเงินของแอปเปิลปฏิเสธที่จะเปิดเผยยอดขายไอโฟนเฉพาะบนแผ่นดินจีน โดยให้ตัวเลขเพียงว่ายอดจำหน่ายไอโฟนนั้นเพิ่มขึ้นราว 83% เมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 2013
ผู้บริหารแอปเปิลเปิดเผยอีกว่ายอดจำหน่ายไอโฟนในสหรัฐฯยังคงสูงกว่าในจีน จุดนี้มีความเป็นไปได้สูงที่ยอดซื้อไอโฟนในจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯในเร็ววันนี้ โดยยอดขายรวมของแอปเปิลในสหรัฐฯมีมูลค่าราว 3.06 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
แพงไม่ว่า ขอใหญ่และดี
การวิเคราะห์ความต้องการของตลาดจีนจากยอดจำหน่าย iPhone 5C เทียบกับ iPhone 6 และ 6 Plus แสดงว่าชาวจีนต้องการสมาร์ทโฟนคุณภาพดีหน้าจอใหญ่ ไม่ใช่สมาร์ทโฟนราคาประหยัด
คำวิเคราะห์นี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะการสำรวจมากมายชี้ว่าชาวจีนยุคใหม่จำนวนมากยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวเพื่อซื้อไอโฟนรุ่นท็อปจากตลาดมืด สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้แอปเปิลหาทางแทรกตัวลงมาจำหน่ายสินค้าด้วยตัวเอง พร้อมกับหันมาเพิ่มกิจกรรมการตลาดในจีนให้เต็มเหนี่ยว แทนที่จะเน้นพัฒนาไอโฟนราคาประหยัดอย่างที่เคยหลงทาง
วันนี้แอปเปิลเปิดร้านค้าปลีกของตัวเองอย่างแอปเปิลสโตร์มากกว่า 15 แห่งในประเทศจีน ขณะเดียวกันก็ไม่ได้หวังพึ่งพาพันธมิตรอย่างไชน่าโมบายเท่านั้น เพราะแอปเปิลวางแผนเปิดร้านเพิ่มอีก 25 สาขาใน 2 ปีนี้
ล่าสุด แอปเปิลรุกหนักในตลาดจีนด้วยการเผยแพร่โฆษณาที่สร้างสรรค์มาเพื่อชาวจีนโดยเฉพาะ โดยโฆษณาที่เริ่มออกอากาศช่วงตรุษจีนนี้ถอดแบบเรื่องราวจากโฆษณาชุดเดอะซอง (The Song) ที่ฉายในกลุ่มประเทศตะวันตกช่วงเทศกาลคริสต์มาสที่ผ่านมา บนเนื้อหาเรื่องความสุขแสนอบอุ่นในช่วงวันหยุดที่เกิดขึ้นได้ด้วยสินค้าแอปเปิล
แชมป์แบรนด์หรูแดนมังกร
การสำรวจของบริษัทฮูหลันรีเสิร์ช (Hurun Research) ของจีนพบว่าแอปเปิลคือแบรนด์สินค้าหรูสำหรับการเลือกซื้อของขวัญที่ชาวจีนต้องการมากที่สุดในช่วงตรุษจีนปี 2015 โดยแบรนด์แฟชันอย่างหลุยส์วิกตอง (Louis Vuitton) หรือแอร์เมส (Hermès) รวมถึงกุชชี่ (Gucci) ชาแนล (Chanel) และคาร์เทียร์ (Cartier) นั้นพ่ายแพ้ราบคาบทั้งในหมวดสินค้าสำหรับหญิงและชาย
การสำรวจนี้สะท้อนว่าไม่เพียงยอดขายไอโฟนที่นำโด่งเหนือสมาร์ทโฟนอื่นในจีน แต่แบรนด์แอปเปิลกลายเป็นชื่อที่ทรงพลังดึงดูดนักชอปกระเป๋าหนักแดนมังกร ผลสำรวจนี้ทำให้แอปเปิลถูกจับตามองอย่างมากในช่วงตรุษจีนปีนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2558) โดยตรุษจีนถือเป็นช่วงที่ชาวจีนจะซื้อและมอบของขวัญให้กันมากไม่แพ้เทศกาลคริสต์มาส
เหนืออื่นใด นักวิเคราะห์มองว่าจุดยืนของแบรนด์ Apple ที่แข็งแกร่งในสายตาผู้บริโภคจีนจะเป็นประโยชน์ต่อการทำตลาดนาฬิกา ‘แอปเปิลวอตช์ (Apple Watch)’ ในอนาคต ซึ่งแม้ในขณะนี้แอปเปิลจะยังไม่เคยเปิดเผยถึงกลยุทธ์บุกตลาดจีนในเชิงลึก แต่เป็นที่รู้กันว่าแอปเปิลมีโอกาสขยายตัวอีกมากในภูมิภาคตะวันตกและภาคกลางของจีน เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างของ Hurun Research ระบุว่ายังไม่มีโอกาสเข้าถึงสินค้าของแอปเปิลเท่าที่ควร โดยครึ่งหนึ่งของร้านค้าปลีกแอปเปิลเป็นร้านที่เปิดในเขตเมืองปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ รวมถึงย่านเศรษฐกิจใหญ่
จับตาแอปเปิลแซงซัมซุง
บริษัทวิจัยไอดีซี (IDC) สรุปผลการสำรวจล่าสุดของวงการสมาร์ทโฟนโลกช่วงไตรมาส 4 ปี 2014 ว่าแม้ซัมซุงจะยังครองแชมป์ในตลาดโลกด้วยยอดจัดส่งมากกว่า 75.1 ล้านเครื่อง แต่ตัวเลขนี้ทิ้งห่างจากอันดับ 2 อย่างแอปเปิลเพียง 600,000 เครื่องเท่านั้น ทั้งที่ไตรมาส 4 ปี 2013 ตัวเลขช่องว่างระหว่างยอดจัดส่งของแอปเปิลและซัมซุงนั้นห่างไกลถึง 33 ล้านเครื่อง
ความสำเร็จของ iPhone 6 และ 6 Plus ในจีนทำให้แอปเปิลสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดได้แบบก้าวกระโดดได้อย่างไม่ต้องสงสัย โดยรายงานจากไอดีซียกตัวเลขยอดขายไอโฟนที่แอปเปิลประกาศในผลประกอบการมาโชว์ว่าอยู่ที่ 74.5 ล้านเครื่อง ทุบสถิติยอดจำหน่ายไอโฟนทุกไตรมาสที่เคยทำมา
ที่สำคัญ การผงาดของแอปเปิลในจีนยังทำให้น้องใหม่ท้องถิ่นอย่างเสี่ยวหมี่รั้งอันดับ 5 ของตารางสมาร์ทโฟนโลก ซึ่งเป็นการตกอันดับราว 2 ขั้นจากที่เคยอยู่อันดับ 3
ไอดีซีสรุปภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนโลกว่าปี 2014 คือปีทองที่ตลาดสมาร์ทโฟนขยายตัวสุดขีด โดยสมาร์ทโฟนมากกว่า 1.3 พันล้านเครื่องถูกจัดส่งจากโรงงานสู่ร้านค้าปลีกตลอดปี คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 27.6% จากยอด 1.02 พันล้านเครื่องในปี 2013
เฉพาะไตรมาส 4 ปี 2014 ที่ผ่านมา ยอดจัดส่งสมาร์ทโฟนโลกมีจำนวน 375.2 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นราว 28.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2013