ค้าปลีกแข่งเดือดห้างใหม่เปิดท้าชนห้างเก่า จับตาคอมมูนิตีมอลล์ อยู่รอดไม่รอด

CBRE เผยปี 58 ตลาดค้าปลีกแข่งเดือดห้างใหม่เปิดท้าชนห้างเก่า ส่วนคอมมูนิตี มอลล์ เปิดเพียบแถบชานเมืองจับตาอยู่รอด ไม่รอด ด้านตลาดสำนักงานโต อาคารเปิดใหม่อีกกว่า 2 แสน ตร.ม. ขณะที่ความต้องการอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน คาดค่าเช่าปรับขึ้นแบบช้าๆ 
 
นายเจมส์ พิทชอน กรรมการบริหาร หัวหน้าแผนกวิจัย บริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CBRE เปิดเผยว่า ปี 2558 ตลาดพื้นที่ค้าปลีกของกรุงเทพฯ จะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นในย่านชานเมืองระหว่างศูนย์การค้าแห่งใหม่ และศูนย์การค้าที่มีอยู่เดิม กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในทำเลทองของการพัฒนาโครงการค้าปลีกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้จะมีพื้นที่ค้าปลีกใหม่เพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 1.7 ล้านตารางเมตร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่จะอยู่ในย่านชานเมืองที่เป็นแหล่งที่พักอาศัยเกิดใหม่ และบริเวณส่วนต่อขยายระบบรถไฟฟ้า
 
“สำหรับตลาดพื้นที่ค้าปลีกเราจะได้เห็นถึงการแข่งขันกันระหว่างผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ ซึ่งหมายถึงการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นของห้างค้าปลีกในทุกรูปแบบโครงการ ห้างค้าปลีกแห่งใหม่ๆ กำลังเกิดขึ้นมาเพื่อขับเคี่ยวกับห้างค้าปลีกเดิมที่เป็นที่รู้จักมาอยู่ก่อนแล้ว อย่างเช่น แบงค็อก มอลล์ ที่จะขึ้นมาแข่งขันกับเมกาบางนา และเซ็นทรัล พลาซา บางนา นอกจากนั้น เมการังสิต ซึ่งจะเปิดตัวพร้อมกับอิเกียแห่งที่ 2 ในประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้เช่าหลักก็จะขึ้นมาขับเคี่ยวกับ ฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าตลาดในย่านนั้น” นายเจมส์ กล่าว 
 
ในช่วงหลังมานี้ คอมมูนิตี มอลล์ได้กลายเป็นรูปแบบโครงการค้าปลีกที่ได้รับความนิยม แต่ยังคงต้องจับตาดูว่ามีกี่แห่งที่จะสามารถอยู่รอดได้จริง เพราะผลประกอบการของแต่ละแห่งนั้นแตกต่างกัน โครงการ ลา วิลล่า ที่อยู่ติดกับบีทีเอส สถานีอารีย์ นับว่าเป็นโครงการคอมมูนิตี มอลล์ ที่ประสบความสำเร็จเนื่องจากมีทำเลที่ตั้งที่ดี มีประชากรในย่านนั้นหนาแน่น ซึ่งรวมถึงคนที่อาศัยและทำงานในพื้นที่ การเดินทางไปยังโครงการที่ทำได้โดยสะดวก ความหลากหลายของผู้เช่าและไม่มีคู่แข่งโดยตรงที่อยู่ในทำเลเดียวกัน แต่สำหรับในทำเลอื่น คอมมูนิตี มอลล์ หลายแห่งยังต้องเผชิญต่ออัตราการเช่าพื้นที่ที่อยู่ในระดับต่ำ แม้จะอยู่ในทำเลใจกลางเมืองก็ตาม
 
แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนคอมมูนิตี มอลล์ ยังคงมีเพิ่มมากขึ้นในแถบชานเมือง ส่วนราคาค่าเช่าและการเข้าใช้พื้นที่นั้นต้องขึ้นกับปัจจัยหลายประการด้วยกัน เช่น ทำเล ระดับของโครงการ และชื่อเสียงของผู้ประกอบ
 
นอกจากนี้ ซีบีอาร์อียังจับตามองการขยายตัวของของโครงการค้าปลีกในต่างจังหวัด กำลังซื้อที่มีน้อยซึ่งมีสาเหตุจากหนี้ส่วนบุคคลที่สูง และราคาผลผลิตทางการเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำได้ส่งผลกระทบในทำเลดังกล่าว 
 

 
ตลาดสำนักงานโต ค่าเช่าแนวโน้มปรับขึ้น
 
ด้าน นายนิธิพัฒน์ ทองพันธุ์ กรรมการบริหาร หัวหน้าแผนกจัดหาพื้นที่สำนักงาน ซีบีอาร์อี กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา ตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพมหานคร ยังคงเติบโตแม้จะเกิดเหตุการณ์ทางการเมือง ปริมาณการใช้พื้นที่ และค่าเช่ายังปรับตัวสูงขึ้นตลอดทั้งปี สำหรับปี 2558 นี้ ซีบีอาร์อีคาดการณ์ว่าอัตราพื้นที่ว่างในอาคารสำนักงานจะยังลดลงต่อไป และค่าเช่าจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นอีก แต่พื้นที่ว่างอาจจะเพิ่มขึ้นชั่วคราวเนื่องจากจะมีพื้นที่สำนักงานใหม่เพิ่มเข้าสู่ตลาดในปีนี้
 
สำหรับตลาดอาคารสำนักงานพบว่า อัตราพื้นที่ว่างในอาคารสำนักงานในปี 2557 นั้นอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 10% และซีบีอาร์อีคาดการณ์ว่า จะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับดังกล่าวในปี 2558 จากการคาดการณ์ของซีบีอาร์อีจะมีพื้นที่สำนักงานใหม่เพิ่มเข้าสู่ตลาดในปีนี้อีกราว 200,000 ตารางเมตร และเป็นที่คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้พื้นที่สำนักงานในปีนี้จะเพิ่มขึ้นในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน
 
“แม้ว่าตลาดอาคารสำนักงานจะชะลอตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 แต่ทว่าในช่วงครึ่งปีหลังตลาดก็กลับมาคึกคักอีก ทั้งนี้ เพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่ดีขึ้น จึงทำให้ความต้องการพื้นที่สำนักงานเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายนิธิพัฒน์ กล่าว
 
ตัวอย่างเช่น ปริมาณการใช้พื้นที่ในอาคารเอไอเอ แคปปิตอล ทาวเวอร์ แตะระดับมากกว่า 60% ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากอาคารก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย แม้ว่าในช่วงต้นปีมีหลายบริษัทที่ตัดสินใจระงับแผนการขยายตัวก็ตาม ทั้งนี้ ในปี 2558 อาคารภิรัช ทาวเวอร์ แอท เอ็มควอเทียร์ และเอไอเอ สาทร ทาวเวอร์ จะพร้อมเปิดให้บริการ ซึ่งทั้ง 2 อาคารเป็นสำนักงานระดับเกรดเอในย่านซีบีดี และน่าจะได้รับความสนใจจากผู้เช่าทั้งบริษัทไทย และต่างชาติ
 
ดังนั้น ซีบีอาร์อีจึงคาดว่าราคาค่าเช่าจะยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เพียงแต่อยู่ในอัตราที่ช้าลง เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ มากกว่าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด