คนไทยคนแรกผู้คว้ารางวัลออสการ์!! “วราทิตย์ อุทัยศรี”

การประกาศผลรางวัลแห่งภาพยนตร์ที่ขึ้นชื่อลือชาระดับโลก อย่าง รางวัลออสการ์ หรือชื่อเต็ม คือ อคาเดมี อวอร์ดส (Academy Awards) ที่ประกาศเมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แน่นอนว่า นักดูหนังทั่วโลก และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังที่ได้รับการเสนอชื่อนั้น ต่างลุ้นอย่างใจจดจ่อ เพราะถ้าหากได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ย่อมหมายถึง “การการันตีคุณภาพของผลงาน” ชิ้นนั้นเลยก็ว่าได้
 
วกกลับมาที่วงการภาพยนตร์ไทย นับเป็นอีก 1 ปีแล้วเช่นกัน ที่ภาพยนตร์ไทยทำได้แค่เพียง “ตัวแทนหนังของประเทศ” ที่ยังไม่สามารถพาตนเองเข้าสู่ผู้เข้าชิงชนะเลิศสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมได้ ซึ่งหากนับเป็นจำนวนตัวเลขแล้ว ก็ขยับเข้าสู่เรื่องที่ 20 และปีที่ 31 เข้าไปแล้ว ที่แผ่นฟิล์มเลือดช้างศึกยังไม่เคยแม้แต่จะเฉียดเป็น 1 ใน 5 ของสาขาดังกล่าว
 
ถึงอย่างไร อย่างน้อยก็ยังมีคนไทยที่เคยได้รับรางวัลอันทรงเกียรติของเวทีแห่งนี้อยู่เช่นเดียวกัน อย่างที่เราเคยได้ยินข่าวเมื่อช่วงขวบปีที่ผ่านมา อย่าง 2 คนไทยที่ร่วมผลิตหนังแอนิเมชันเรื่อง Frozen รวมไปถึง ตู๋-วราทิตย์ อุทัยศรี ผู้กำกับด้านแอนิเมชันของ Google Creative Lab และเจ้าของผลงานเรื่อง Surface: Film from Below ที่ดีพอจนได้รับรางวัลประเภทเหรียญทอง จากสาขาภาพยนตร์ทางเลือก ในเวทีออสการ์ระดับนักศึกษา เมื่อปี 2010 อีกด้วย
 
ฉะนั้นแล้ว เราลองมาฟังคำตอบจากผู้ที่เคยได้รับรางวัลจากเวทีนี้กัน แล้วคุณจะทราบเหตุผลที่ว่า “ทำไมภาพยนตร์ไทยถึงไม่เคยเฉียดกับรอบชิงชนะเลิศเสียที”
 

 
– อยากให้คุณย้อนถึงผลงานชิ้นนั้นว่า คิดอย่างไรที่เกิดหนังเรื่องนี้ขึ้น
 
งานชิ้นนั้น มันเป็นงานธีสิสจบปริญญาโทของผม คือจริงๆ เราตั้งใจที่จะทำงานแบบชิ้นโบแดงให้มันไม่เหมือนงานเก่า ผมก็เลยทำงานทดลองชิ้นนี้ขึ้นมา เป็นลักษณะที่ถ่ายคน ผสมกับโอเวอร์เลย์กราฟิกไป คือไม่ใช่แค่หนังธรรมดา ซึ่งคอนเซ็ปต์มันก็แปลก แถมวิธีการทำก็แปลกอีก สุดท้ายก็เป็นหนังที่เรามองจากข้างล่างขึ้นข้างบน เหมือนจินตนาการว่า ถ้าเรามองจากใต้พื้นโลก แล้วเราจะเห็นอะไรจากข้างล่าง ให้เห็นจากข้างบน คือเป็นการพลิกมุมมองของคน มันไม่ใช่การเล่าเรื่อง แต่เป็นการสังเกต เหมือนกับเรามองรถจากพื้นล่างน่ะ ถ้าเรามองจากข้างล่างมันจะเห็นอะไรวะ วัตถุที่เราเห็นจากข้างล่าง คือสิ่งที่สัมผัสกับพื้น แล้ววิชวลที่ผมใช้ มันคือการสัมผัสจากพื้น เหมือนเรามีสปอตไลต์ข้างบน แบบว่าของก็จะแบบค่อยๆ เฟดขึ้นมาเรื่อยๆ (ทำท่าประกอบ) คืออะไรที่มันสัมผัสกับพื้น มันจะชัด คือมันจะมองแบบนี้
 
– แนวคิดของหนังเรื่องนี้ ต้องการจะสื่อถึงอะไร
 
เหมือนเราขึ้นเครื่องบินแล้วเรามองลงมาข้างล่างน่ะ อารมณ์เดียวกัน เหมือนเรารู้สึกว่าเราเปลี่ยนมุมมอง ว่าเราเป็นคนใต้ดิน เรากำลังมองข้างบน แล้วไม่ได้เป็นพวกเค้า เป็นบุคคลที่สามที่มองการกระทำของโลกนี้ขึ้นมา คือไม่ต้องเขียนเป็นเรื่องราว เป็นการสื่อภาพที่เป็นวิชวล ไดอะล็อก เป็นการคุยกันระหว่างสิ่งพวกนี้ โลกบน-โลกล่าง แค่มองเฉยๆ 
 
โดยจุดเริ่มของงานชิ้นนี้ มันมาจากกราฟิกของรอยเท้า หรือว่ารอยอะไรพวกนี้แหละ เพราะมันจะสื่อได้หลายอย่างว่า เท้านี้เป็นผู้ชาย-ผู้หญิง ใส่รองเท้ายี่ห้ออะไร รถนี่ไปทางไหน คือ มันเหมือนลายแทงที่อยู่บนพื้น แต่อันนั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว เป็นเหมือนรอยความหลัง ผมก็เลยคิดว่า ถ้าเราดูแบบมีชีวิตเลยล่ะ จะเป็นยังไง คือไม่ต้องดูรอยเท้าแล้ว ดูตอนกำลังเคลื่อนไหวเลย ก็แบบค่อนข้างเพี้ยนเลยแหละ ซึ่งเราก็ศึกษาหาความน่าสนใจมากขึ้น จนเห็นสิ่งที่สัมผัสมากขึ้น แล้วก็เกลือกๆ ไป
 

 
– สรุปก็คือ งานชิ้นนี้ คุณทำแบบเอามันว่างั้น
 
(หัวเราะ) ก็เปรียบความคิดนะว่าเราอยากจะทดลองทั้งความคิดว่า มันจะเป็นยังไงวะ เราก็ลองเทสต์ดู เป็นยังไงไม่รู้ ก็ต้องลองทำเทสต์ดู ถ้าผมทำรอยเท้า ก็ทำได้ แต่พอไปเรื่อยๆ ทำนู่น เจอเทคนิคนี้ ไอ้เทคนิคนี้ จริงๆ ผมเคยเห็นที่แอปเปิลสโตร์ ที่ Fifth Avenue (ถนนสายในมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา) มันจะเป็นการเดินลงใต้ดินใช่มั้ย แล้วพื้นมันเป็นแบบฝ้า แล้วพอเดินลงมา มันจะเป็นแบบเบลอๆ เป็นเงาๆ มันน่าสนใจ
 
– พอเราได้รางวัล ในตอนนั้นรู้สึกยังไง
 
ผมว่าตอนนั้นคงไม่มีคนส่งด้วยมั้ง แล้วทำไมกูได้วะ (หัวเราะ) ก็เป็นพวกงานทดลอง แอนิเมชัน คืออะไรก็ได้ ที่เล่าเรื่องอีกแบบหนึ่ง เขาจะเน้นการเล่าเรื่อง ผมคิดว่าที่ได้รางวัลก็เพราะว่า มันไม่ได้เล่าเรื่องมากขนาดนั้น แต่เรื่องมันเกิดจากแอกชัน
 

 
– การทำงานออกมาซักชิ้น เพื่อตอบโจทย์ “ความมัน” นั้น มันได้อะไรจากตรงนี้
 
ใช่ๆ คือเราสนุก ก็เหมือนเราทำอะไรทุกอย่างอ่ะ ถ้าหากเราทำแล้วสนุก เราก็ยอมทำดีกว่า เงินก็พอมีบ้างไม่มีบ้าง ไม่เป็นไร แต่เราคือสนใจเรื่องการทำงาน อยากจะกระตุ้นตัวเอง คือก็เหมือนศิลปิน คือมันก็ต้องมีการปลุกตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ อะไรที่ไม่เคยทำก็ลองทำ ทำไม่เวิร์ก ก็เปลี่ยนมุมทำอีกแบบหนึ่งก็ได้ เพราะเราไม่ยึดติดไง เพราะเราไม่ได้เรียนแบบแอนิเมชันหรือฟิล์มแบบตรงๆ กฎเกณฑ์ ก็ยืดหยุ่นได้ คือทำไมเป็น ต้องลองทำ การทดลองแม่งมัน แล้วข้อดีและทางออกของมันคือ มีช่องทางให้เผยแพร่ออกมา อย่างน้อยกลับมาสู่สังคมได้ ไม่งั้นมันก็จะอยู่แค่ตรงนั้น หรืออยู่ในแค่ยูทูป
 
– ตอนนั้นรู้สึกท้อมั้ย ที่เราตั้งกลุ่ม B.O.R.E.D. มา 2 ปี แต่คนยังไม่เข้าใจกับสิ่งที่เราทำ
 
คือจุดแรกที่ทำขึ้นมาก็ไม่ได้ทำเพื่อจะเป็นดารานี่หว่า เราทำขึ้นมาเพื่อจะรวมพลังกันทำงานสนุกๆ เพราะว่าแต่ละคนก็มีแบ็กกราวนด์กันคนละอย่าง มีทำกราฟิก ทำอิลลัสเตรท อะไรมาหลายๆ อย่าง พอมาคุยกัน แบบเราอยากจะสร้างอะไรใหม่ๆ แล้วเมืองไทยมันไม่มี ก็รู้สึกว่าน้อยใจนิดๆ ว่าทำไมมันไม่มี เราก็ลองมาทำกันดีกว่า อย่างที่บอกว่ามันมีบางกลุ่มที่ยอมรับได้ หรือคนบางกลุ่มที่กำลังหาอะไรที่มันเป้งๆ เพราะว่าทุกทีในโลกเนี่ย มันอยากหาอะไรที่มันตื่นเต้น แล้วก็ความสด ก็ทำอะไรเหมือนเดิม ก็อยู่ตัวแล้วเฉื่อย เบื่อ ก็ทำไปเรื่อยๆ 
 
ตอนนั้นผมก็มีงานประจำอยู่ ส่วนของทางกลุ่ม ก็ทำมิวสิกวิดีโอให้คลื่น แฟต เรดิโอ ในแต่ละวัน พอผมทำงานประจำเสร็จ ก็ขับรถไปทำงานกับกบ (พงษ์ภาสกร กุลถิรธรรม – ผู้ทำVisual Mapping), คลัง (คูณคลัง เค้าภูไทย – ผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ) ทำกราฟิกแอนิเมชันถึงเที่ยงคืนแล้วกลับบ้าน มันสนุกไง มันเป็นสิ่งที่เราชอบ ก็ทำไปเรื่อยๆ จนมันเกิดเองอ่ะ มันไม่ได้คิดว่าจะต้องเกิด ไม่เกิดก็ไม่เป็นไรไง แต่ไม่คิดว่ามันจะต้องเกิด 
 

 
– แต่พอแจ้งเกิดมาปุ๊บ กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างเลย
 
มันแจ้งเกิดในลักษณะที่เป็นดีไซเนอร์กับศิลปิน ไม่ใช่เพราะเงินนะ คือเพิ่งมาเห็นคุณค่า ผมว่าต้องขอบคุณทาง แฟต เรดิโอ ด้วยเหมือนกัน เพราะว่าตอนที่ผมไปทำคอนเสิร์ตแรกๆ ของทางแฟต ที่ลองทำคือพวกโปรเทกชันข้างหลัง ธรรมดาเขาก็จะมีกล้องแบบถ่ายสด แล้วคนก็เล่นไปเรื่อยๆ แต่พวกพี่แล้วก็มีพี่วิชญ์ (พิมพ์กาญจนพงศ์) ที่ทำ duck unit ตอนนั้นเขาจะเน้นทดลองเหมือนกันก็เลยมาจอยกัน พวกผมจะเป็นพวกกราฟิกเยอะๆ นิดนึง จะเน้นแอนิเมชันเน้นสีสดใส พี่วิชญ์ก็จะผสมๆ กลายเป็นแนวออกอาร์ตๆ นิดหน่อย ก็มาจอยกันทำ คือก็เรียนรู้กันไป
 
– จากการทำงานศิลปะสร้างสรรค์ให้กับทางแฟต เรดิโอ มันอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในตอนนั้น แต่คนเริ่มสนใจแล้ว คิดว่าได้เห็นอะไรจากตรงนั้น
 
ผมคิดว่ามีข้อดี 2 ข้อ หนึ่ง คือ แฟตก็เพิ่งเริ่มเหมือนกัน ก็กลายเป็นดีไซเนอร์มันๆ ที่เขาจะทำอะไรก็ชวนไป เงินไม่มีน้อยๆ ก็ให้ค่าขนมไป แต่ว่าเราไปด้วยกัน ดนตรีกับกราฟิกไปด้วยกันได้ กับ สอง คนที่มาเดินในงานแฟต (เฟสติวัล) ก็มีแบบลูกค้ามา เช่น แก๊งเอ็มทีวีก็มา แก๊งโซนี่มิวสิคก็มา เค้าก็แบบเริ่มรู้จัก มันก็กลายเป็นคอนเนกชันต่อไป คือเราได้ลูกค้าจากนั้น ก็ได้การติดต่อเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่างานเราจะทำแบบเพี้ยนๆ ก็ตาม คือผมว่าถ้ามีคนลองทำอะไรใหม่ๆ คือสไตล์ไทยมันจะแบบมา
 

 
– คล้ายกับว่า คนไทยรับสารเร็วและไปเร็ว ประมาณนั้น
 
ผมคิดว่านิดนึง คือถ้าสมัยก่อนเรื่องเว็บ เรื่องอะไรมันยังไม่ค่อยถึงไง แต่ตอนนี้คนเห็นเยอะ นักเรียนศึกษาเยอะ แต่ปัญหาที่เห็นชัดๆ คือ เรายังไม่ได้เป็นคนสร้าง เราเป็นคนตาม คือคนสร้างก็มีแล้วนะ อย่างร้านกาแฟ จริงจังเลย ปีนี้มาเพียบเลย สั่งเม็ดกาแฟมาทำ คือข้อดีผมว่ากำลังมา ทางดีไซน์ ยังไม่มีกลุ่มเป้งๆ หรือ เพี้ยนๆ พอ คือหลังจากที่กลุ่ม B.O.R.E.D ไป วงการก็ยังไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่ แต่อาจจะไปทางแนวอื่นแทน ไปทางร้านอาหาร ร้านกาแฟแทน
 
คือถ้างานศิลปะแต่ละอย่างมันจะดีได้มันก็ต้องมีคนสนใจและคนสร้างใช่มั้ย แล้วก็อีกอย่างนึงที่สำคัญเลยคือ เงินทอง คือมันจะต้องไปควบคู่กัน ถ้าเป็นอย่างคนเยอรมัน เช่นที่เบอร์ลิน เงินไม่มีแต่อยากทำศิลปะใจสู้ ทำกราฟฟิตีจนกลายเป็นเมืองอาร์ต และกลายเป็นสตรีตอาร์ตจริงๆ ไป ศิลปินอยู่ได้เพราะกูอยากทำอาร์ต เงินน้อยก็ไม่เป็นไร แต่เมืองไทย อาจจะติดนิดนึง อะไรอย่างงี้ แบบทำไม่ได้ตังค์ ไม่ทำดีกว่าหรือเปล่า หรือว่าทำแล้ว ไม่มีใครสนใจ ไม่ทำดีกว่า เลยกลายเป็นว่า ติดความชิลไปนิดนึง
 
– ในความคิดเห็นส่วนตัว เพราะอะไรภาพยนตร์ไทยถึงไม่เคยแม้กระทั่งเฉียดเข้าใกล้ผู้ท้าชิงออสการ์เสียที
 
ผมว่ามันจะมีสไตล์ตามที่เทศกาลนั้นชอบนะ แต่ถ้าเราไปทำตามนั้นมันก็ไม่ใช่ อย่างเมืองคานส์ ที่พี่เจ้ย (อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล – ผู้กำกับภาพยนตร์) เขาได้ เพราะเขาทำอย่างที่อยากทำ เขาก็ไม่ได้ทำเพราะอยากจะชนะเมืองคานส์นะ คือความเพี้ยนมันถึงขั้นปู่ขั้นพ่อแล้วไง แล้วทางฝรั่งเศสมันเป็นแบบศิลปะมากๆ คือของเขาเป็นตัวอย่างที่ดีเลย ที่เมืองไทยไม่ค่อยรับ ดูไม่ค่อยออก แต่ของเขาศิลปะไปเลย
 

 
– แต่ในช่วงระยะหลังนอกจากที่ไม่เคยเข้าเฉียดเหมือนเดิมแล้ว แต่หนังกัมพูชา ได้เข้าชิงแล้ว มันสะท้อนอะไรได้บ้าง
 
คือการทำหนังจริงๆ คือการไปขอเงินเขามาทำ แล้วพอติดเรื่องเงินไม่มี ถ้าไม่ทำหนังตลกหรือตลาด ก็ขายไม่ได้ นอกจากพี่เจ้ยหรือใคร ก็ไปหาทุนเมืองนอกมาทำ มาสนับสนุน คือต้องไปประกวด ทำตัวอย่างทำอะไรมา คือมีสเต็ปของมันอ่ะนะ ผมคิดว่ามันอาจจะเพราะเราทำแบบซ้ำๆ ซากๆ อะไรรึเปล่า การทดลองน้อย หรือการกลัวว่าจะแหวก ถ้าทำแล้วเจ๊ง คือเจ๊งแน่นอน หรือว่าไปขอตังค์ เขาบอกว่าได้ แต่ว่าคุณต้องเปลี่ยนครึ่งเรื่องให้จบแบบแฮปปี้เอนดิ้งนะ คือมันเป็นอย่างงั้นอยู่แล้ว
 
ศิลปินก็ทำได้ไม่เต็มที่ หรือมีความไม่กล้า แต่ศิลปินก็ต้องยอมรับว่า มันก็ต้องมีความเสี่ยงเยอะ แล้วพวกนักธุรกิจเขาก็ไม่อยากเสี่ยง แล้วของไทยมันก็ไม่ได้เป็นศิลปะจ๋าขนาดนั้น ที่จะต้องมีองค์กรที่มารับ เหมือนกับมีโรงหนังอาร์ตที่เดียวในประเทศ ส่วนที่อื่นมันมีฐานความชอบเยอะไง บางทีถ้าคนที่อยากทำแนวนั้น ไปทำต่างประเทศดีกว่า
 
– หรือถ้าเปรียบกับไต้หวันหรือญี่ปุ่น ที่เคยได้รางวัลมาแล้ว คิดว่าเป็นเพราะอะไร
 
ผมคิดว่า “เอกลักษณ์” เป็นสิ่งสำคัญ อย่างญี่ปุ่นมันมาก็เป็นสไตล์ของเขาอยู่แล้ว ไม่แคร์โลกอยู่แล้ว เกาหลีก็น่าสนใจ ทำไมมันเป็นขนาดนั้น เพราะว่าคนเกาหลีส่งลูกไปเรียนต่างประเทศหมดซะส่วนใหญ่ แล้วมีการแข่งขันสูงมาก แล้วไอ้พวกที่เรียนก็เก่งๆ ทั้งนั้น แล้วพอกลับมาที่บ้าน ยึดมาตรฐาน กลายเป็นงานฟิวชัน ทั้งหนัง แฟชั่น มิวสิกวิดีโอ ทั้งหน้าตา คือมันกลายเป็นเอกลักษณ์ของมันไปแล้ว ทุกอย่างมันอยู่ในระดับสูง คือถ้าสู้มึงไม่ได้ กูต้องทำดีกว่ามึง บางทีการแข่งขันมันก็ช่วยยกระดับไอ้นี่ได้ 
 

 
– คือสรุปว่า คนไทยยังคิดแบบในกรอบอยู่
 
ใช่ๆ คือไม่กล้า เล่นแบบเพลย์เซฟ คือกูกลัวถูกด่า แล้วก็สไตล์ไทยอ่ะ คือถ้าทำอะไรเพี้ยนๆ ในหมู่บ้าน เตรียมตัวถูกด่าเลย ในเว็บด่ากันตลอด คือจะด่ากันทำไมวะ แต่ในแต่ละเมือง แต่ละประเทศ ก็จะมีคนที่อยากทำอะไรมันๆ อยู่ แต่ไม่สามารถที่จะเกิดมาเป็นแมสได้ อีกอย่างคือ ถ้าเวลาได้ แล้วที่ที่ถูกต้อง มันจะเกิด มันก็เกิดได้ คือเมืองไทยนี่เดายากมากว่าเทรนด์อะไรจะเกิดขึ้น (หัวเราะ) หินข้อมือคืออะไรวะ หรือ จตุคามมันคืออะไรวะ คือถ้าจะทำตามเทรนด์ พูดเลยว่าอย่า แต่สุดท้ายทุกคนก็หาตังค์เลี้ยงชีพใช่ป่ะ 
 
อย่างที่บอก ถ้าทำติสต์และเพี้ยนมาก คนด่า ตังค์ไม่มีเลิกทำดีกว่า คือมันก็ท้อไง คือผมอาจจะพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะเราไม่ได้อยู่ที่นี่ อาจจะมองจากข้างนอกมาข้างใน แต่ในความคิดลึกๆ ของเรา อยากให้คนไทยสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองขึ้นมา เพราะเรามีครบเว้ย เพราะเรามีวัฒนธรรม มีทั้งความสนุกสนาน ความนอบน้อม อาหาร คือมันมีอะไรที่เล่นได้เยอะมาก โอเค อาหารอาจจะไปไกลแล้ว แต่ทางศิลปะนี่ เพลงเพลิงก็มี แต่นี่ไม่ได้พูดถึงเพลงไทยเดิมอะไรนะ แต่เดี๋ยวนี้มันก็เริ่มมาแล้ว เพลงหมอลำ มาประยุกต์
 
– คือเราต้องมั่นใจในเอกลักษณ์ของเรา
 
ประมาณนั้น แต่ต้องหาให้เจอว่าเอกลักษณ์ของเราคืออะไร ถ้าหาเจอ ไม่แน่ว่าอาจจะมีลายกนกในงานกราฟิกก็ได้ หรือไม่ควรเป็นลายกนกที่เป็นแบบโบราณ มีการผสมผสาน คือไม่ใช่แบบว่า เอาของเก่ามาแปะของใหม่ มันไม่ใช่ ต้องเริ่มจากความคิดว่า ลายกนกคือลายแบบนี้ใช่มั้ย หรือว่าทำไมมันคือลายตกแต่ง หรือเล่าเรื่องเกี่ยวกับรามเกียรติ์ หรืออะไรก็ได้ คือทำเป็นสไตล์ก็ได้ แต่ต้องไม่เหมือนเดิม ต้องพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ให้มีอะไรใหม่ๆ ไม่งั้นก็ของเก่ามาแปะใหม่ แล้วยำก็เละเหมือนเดิม
 

 

 

 
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : พลภัทร์ วรรณดี