ประชุมบอร์ดดีอีนัดแรกไฟเขียวประมูล 4G ส.ค.นี้ แต่ไม่ฟันธงว่าต้องประมูลในคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ตามที่กสทช.สอบถามคสช.เหตุแบนด์วิธน้อย หวั่นความเร็วเป็นเต่าคลาน ชี้เตรียมนำคลื่น 2600 MHz จากอสทม.มาประมูลแทน เพราะมีเทคโนโลยีและแบนด์วิธที่ดีกว่า คาดรู้ผลภายใน 1-2 สัปดาห์นับจากนี้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติให้กสทช.เตรียมดำเนินการประมูล 4G ได้ทันที เพื่อให้สามารถเปิดประมูลได้ทันภายในเดือนส.ค.นี้ แต่ทั้งนี้คลื่นที่นำมาประมูลไม่ได้จำกัดแค่คลื่น 900 MHz หรือ 1800 MHz เท่านั้น เนื่องจากกสทช.มีคลื่นความถี่มากกว่านั้น ดังนั้นจึงให้กสทช.กลับไปดูว่ามีคลื่นไหนที่จะนำมาประมูลได้บ้าง ซึ่งกสทช.สามารถนำคลื่นตั้งแต่ 900 MHz -2600 MHz มาจัดประมูลได้ทั้งหมดตามความเหมาะสม
ดังนั้นหากกสทช.บอกว่าต้องใช้เวลาในการเตรียมการประมูล 5-6 เดือน การจัดการประมูลก็จะเกิดขึ้นได้ในเดือนส.ค.นี้ จึงไม่ต้องแก้ประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช.)ที่ให้ชะลอการประมูลออกไปถึง 17 ก.ค.นี้เพราะเป็นเวลาที่ครบกำหนดพอดี ส่วนรูปแบบการประมูลเป็นเรื่องของ กสทช. เพราะเป็นอำนาจของ กสทช. ตามกฎหมายเดิม แต่ต้องรายงานให้คณะกรรมการดีอีทราบก่อนว่าจะประมูลคลื่นย่านความถี่ไหน
อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ประชุมมีการเสนอให้ประมูลคลื่นย่านความถี่ 2600 MHz เนื่องจากมีแบนด์วิธที่มากกว่าคือ 120 MHz ขณะที่คลื่น 1800 MHz มีเพียง 25 MHz ส่วนคลื่น 900 MHz มีเพียง 20 MHz เท่านั้น ดังนั้นที่ประชุมจึงเกรงว่าคลื่นที่ได้จะไม่ได้ความเร็วแบบ 4G จริง สิ่งนี้จะเป็นของขวัญชิ้นโบว์แดงที่มอบให้กับประชาชน
ส่วนปัญหาที่ว่าคลื่น 2600 MHz ที่ยังค้างอยู่ที่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งยังมีปัญหาไม่คืนคลื่นมาให้กสทช.จัดสรรนั้น ทางม.ร.ว.ปรีดิยาธร รับปากว่าจะไปเรียกคืนคลื่นความถี่มาให้ภายใน 1-2 สัปดาห์
***กสทช.เพิ่มคลื่น 900 MHz เตรียมประมูล
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ได้อนุมัติให้ปรับลดการ์ดแบนด์ของคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จาก 3.5 MHz เหลือ เพียง 1 MHz ดังนั้นคลื่นความถี่ที่เหลือ 2.5 MHz จะนำไปรวมกับคลื่นความถี่เดิมซึ่งปัจจุบัน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ใช้อยู่และจะหมดสัญญาสัมปทานกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในเดือน ก.ย.58 นี้ จาก 17.5 MHz เป็น 20 MHz ทำให้การประมูลที่จะเกิดขึ้น 2 ใบอนุญาตในคลื่นความถี่ดังกล่าวจะมีคลื่นเพิ่มขึ้นจากเดิม 1 ใบอนุญาต คือ 10 MHz และอีก 1ใบอนุญาต 7.5 MHz เปลี่ยนเป็นใบอนุญาตละ 10 Mhz
การอนุมัติดังกล่าวได้พิจารณาจากข้อเสนอการปรับปรุงตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติตามความเห็นของสำนักงาน กสทช. และคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อบังคับวิทยุระหว่างประเทศ พ.ศ.2555 และนโยบายการใช้คลื่นความถี่ในปัจจุบันและอนาคตของประเทศ และเห็นชอบให้นำข้อเสนอดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป โดยการปรับปรุงตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติครั้งนี้ จะส่งผลให้การใช้งานคลื่นความถี่ของไทยสอดคล้องกับข้อบังคับวิทยุระหว่าง ประเทศ ในหลาย ๆ ย่านความถี่ เช่น 50-54 MHz 146-147 MHz และ 510-790 MHz อีกด้วย
นอกจากนี้ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับการใช้คลื่นความถี่ กิจการประจำที่ ย่านความถี่ 71-76 GHz และ 81-86 GHz (E-band) จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้พิจารณาปรับปรุงภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะแล้ว ได้แก่ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการประจำที่ ย่านความถี่ 71-76 GHz และ 81-86 GHz และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการประจำที่ ย่านความถี่ 71-76 GHz และ 81-86 GHz ซึ่งการอนุญาตให้ใช้ โดยคลื่นความถี่ในย่าน E-band นี้ จะรองรับการใช้งานแบบจุดต่อจุดที่ต้องการความจุสูง (High Capacity Point-to-Point) เช่น การใช้งานในโครงข่ายที่เชื่อมต่อระหว่างสถานีฐานและโครงข่ายหลัก (Mobile Backhaul) ในโครงข่าย 4G หรือการใช้งานเชื่อมต่อเครือข่ายการสื่อสารภายในองค์กรที่ทันสมัย รองรับปริมาณข้อมูลข่าวสารที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ซึ่งประกาศทั้งสองฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป
***เอไอเอส-ดีแทคยิ้มรับประมูล4G
นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร อินทัช กรุ๊ป กล่าวว่า หลังจากที่มีความชัดเจนจากรัฐบาลแล้วก็ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเอกชนจะได้วางแผนการดำเนินการได้ถูกต้อง สำหรับความพร้อมในการเข้าประมูลเอไอเอส มีความพร้อมเกิน 100% ทั้งด้านเงินลงทุนสำหรับใช้ในการประมูลใบอนุญาต และขยายโครงข่าย โดยใช้แหล่งเงินลงทุนจากกระแสเงินสดในมือ รายได้จาการบริหารงาน และเครดิตเงินกู้
ขณะที่นายชัยยศ จิรบวรกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคขอสนับสนุนการประมูลโดยเชื่อว่าถ้ามีจำนวนคลื่นความถี่ที่มากพอต่อความต้องการใช้งานมาประมูลร่วมกัน ผนวกกับการนำเทคโนโลยี 4G ที่ทันสมัยที่สุดมาสู่ประเทศและผู้บริโภค จะสามารถเพิ่มการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคและผู้ใช้งาน รวมถึงสามารถสร้างโอกาสต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ในการใช้งานอย่างมหาศาลเพื่อผู้ใช้งานทั่วประเทศ