ไอเอสเอสพี สบช่องเปิดเออีซีจับมือเป็นพันธมิตรร่วมกับต่างชาติ เพิ่มศักยภาพทางเทคโนโลยี และบริการแบบครบวงจร ชี้องค์กรต้องวิเคราะห์จุดแข็ง เติมเต็มจุดอ่อนให้ได้ เชื่อตลาดคลาวด์ในประเทศไทย ต้องให้บริการแบบไทย ชูจุดแข็งบริการหลังการขาย ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า
นายบัณฑิต ว่องวัฒนะสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์เนต โซลูชั่น แอนด์ เซอร์วิส โพรวายเดอร์ จำกัด หรือ ISSP กล่าวว่า จากประสบการณ์การให้บริการคลาวด์ในประเทศไทยมานาน ไอเอสเอสพี พบว่าข้อจำกัดของผู้ให้บริการคลาวด์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คือ 1. เรื่องความเชื่อมั่นในความปลอดภัย และข้อจำกัดเรื่องเน็ตเวิร์คคลาวด์เมื่อไปให้บริการที่เมืองนอก ที่ยังเป็นข้อกังวลของผู้ใช้บริการคลาวด์ ในการเลือกใช้บริการคลาวด์ของต่างประเทศ และ 2. การให้บริการหลังการขาย (After Sale Services) ถึงแม้ว่าบริการคลาวด์จะเป็นบริการแบบเซลฟ์เซอร์วิส แต่คนไทยก็ยังต้องการบริการหลังการขายที่เป็นแบบไทยๆ ดังนั้น ข้อได้เปรียบของผู้ให้บริการคลาวด์ที่อยู่ในประเทศไทย คือสามารถให้บริการหลังการขายและทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความประทับใจได้ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบ ที่ลูกค้าสามารถติดต่อสื่อสารกันเข้าใจได้ง่ายกว่าการเลือกใช้บริการจากชาวต่างชาติ และจะพบว่าเมื่อไปใช้บริการคลาวด์ของต่างประเทศ นอกจากจะไม่มีทางได้พูดกับผู้ให้บริการที่เป็นคนแล้ว ยังต้องใช้ภาษาต่างประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ดี การขยายตลาดไปยังต่างประเทศก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อจะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ไอเอสเอสพีจึงต้องยอมรับในข้อที่เป็นจุดอ่อน คือ การไปเปิดตลาดคลาวด์ในต่างประเทศ และใช้จุดแข็งให้เป็นประโยชน์ คือการที่มีฐานลูกค้าองค์กรและลูกค้าทั่วไปในประเทศไทย มาขยายฐานกลุ่มลูกค้าด้วยการขายบริการที่เพิ่มมากขึ้น และไอเอสเอสพีจำเป็นต้องเสริมศักยภาพการให้บริการคลาวด์ที่มีอยู่ ด้วยการจับมือกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อขยายตลาด ขยายกลุ่มลูกค้าในภูมิภาคนี้ได้มากขึ้น และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้ารายใหม่ๆในประเทศอีกด้วย ซึ่งการไปจับมือกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ เป็นสิ่งที่ไอเอสเอสพีมีประสบการณ์อยู่แล้ว โดยเห็นได้จากซอฟท์แวร์ที่ไอเอสเอสพีนำมาใช้ในการให้บริการคลาวด์ ล้วนแต่เป็นซอฟท์แวร์ที่เป็นที่มีมาตรฐานระดับสากล สามารถไปใช้งานร่วมกับซอฟท์แวร์ในต่างประเทศได้อย่างดี
ปัจจุบันส่วนใหญ่การให้บริการคลาวด์ในประเทศจะอยู่ในรูปแบบการให้บริการแบบอินฟราสตัคเจอร์ (Infrastructure) ระดับ infrastructure as a service คนที่ใช้บริการจำเป็นต้องมีทีมงาน อย่างน้อยที่สุดคือทีมไอที หรือมีผู้ชำนาญการที่จะใช้ และจะจำกัดกลุ่มลูกค้าอยู่แค่บริษัทขนาดใหญ่ หรือหน่วยงานราชการเท่านั้น แต่ไอเอสเอสพีมีความพร้อมที่จะจัดหาบริการคลาวด์โพรไวด์เดอร์ (cloud provider) พร้อมที่จะเอาเซอร์วิสต่างๆมาไว้บนคลาวด์ ด้วยการจัดหาซอฟท์เเวร์ หรือแพลตฟอร์มต่างๆ ขึ้นมาให้บริการบนคลาวด์ และพร้อมที่จะเปิดให้บริการให้กับประชาชนทั่วไป หรือเเม้กระทั่งบริษัทห้างร้านขนาดเล็ก และขนาดกลางใช้ ตลาดของคลาวด์จะขยายได้จากเดิมอีกมาก และค่าบริการคลาวด์จะมีราคาถูกมากอีกด้วย เพราะตลาดคลาวด์ของบุคคลธรรมดา ยังสามารถเติบโตได้อีกเยอะ จากการค้าขายแบบอีคอมเมิร์ชที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
“เมื่อเปิดเออีซี ผู้ให้บริการในไทยเองต้องพัฒนาศักยภาพให้สามารถแข่งขันได้ การไม่พัฒนาเลย แล้วจะมากันไม่ให้ต่างชาติเข้ามา กลัวว่าต่างชาติจะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด สำหรับผมแล้วการที่เปิดการค้าเสรีไม่ใช่วิกฤต แต่มันคือโอกาส คือหากเรารู้จุดอ่อน ว่าเราขาดอะไร เราก็หาพาร์ทเนอร์มาเสริม ซึ่งอาจจะเป็นชาวต่างชาติในอาเซียนนี้ก็ได้ และนำจุดแข็งของเราในเรื่องฐานลูกค้า บริการหลังการขาย ที่คนไทยสามารถเข้าถึงได้ ตรงนี้ต่างหากที่ผมคิดว่ามันคือโอกาสของธุรกิจคลาวด์ในอนาคต” นายบัณฑิต กล่าวทิ้งท้าย