บริษัทจีนพัฒนา ‘ห้องลองเสื้อ 3 มิติ’ มัดใจนักช้อปออนไลน์

บริษัทจีนซุ่มพัฒนาโปรแกรม ‘ห้องลองเสื้อผ้า 3 มิติ’ ขจัดปัญหาลูกค้าซื้อผิดไซส์ผิดแบบ ส่งเสริมยอดขายให้ร้านค้าโลกออนไลน์แดนมังกร
       
ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เลี่ยงถี่ซื่ออี (量体试衣) ผู้ผลิตโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในนครเฉิงตู ได้ประกาศการรับเงินทุนก้อนใหญ่จากกองทุนร่วมลงทุนเจ๋อซัง (浙商创投) เพื่อนำไปขยับขยายการให้บริการและพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างหุ่นจำลองสามมิติ (3D modelling) ของบริษัท
       
เว็บไซต์เทคอินเอเชียระบุว่า ปัจจุบันเลี่ยงถี่ซื่ออีให้บริการโปรแกรมที่ถูกออกแบบเหมือนเครื่องมือสร้างบุคลิกตัวตนในวีดีโอเกมส์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานรังสรรค์หุ่นจำลองสามมิติของตัวเอง ที่มีขนาดและรูปร่างตรงตามสัดส่วนแท้จริง จากนั้นก็สามารถนำเอาหุ่นฯ ดังกล่าวไปลองสวมใส่เสื้อผ้าที่สนใจจะซื้อบนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ชของบริษัท
       
“นับตั้งแต่การจับจ่ายซื้อสินค้าบนโลกออนไลน์ปรากฏขึ้นมา บรรดาผู้ขายและผู้ซื้อต่างถูกกวนใจว่าลองเสื้อผ้าก่อนซื้อไม่ได้ พาลเกิดปัญหาเลือกผิดไซส์หรือผิดสไตล์บ่อยครั้ง” เฉิน หรง ผู้บริหารระดับสูงด้านปฏิบัติการของเลี่ยงถี่ซื่ออีกล่าว
       
“สำหรับธุรกิจขายเสื้อผ้า อัตราการส่งคืนสินค้าเพราะลูกค้าไม่พอใจนั้นยังคงสูงอยู่มากจนยากจะรับมือ” เฉินเสริมว่า “เทคโนโลยีนี้จึงอาจช่วยทำงานแทน ด้วยการเป็นห้องลองเสื้อผ้าออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ”

อย่างไรก็ดีเลี่ยงถี่ซื่ออียังคงต้องเผชิญกับสองอุปสรรคใหญ่ โดยประการแรกนั้นเกิดจากความล้มเหลวในการจับมือเป็นพันธมิตรกับยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ชภายในประเทศ ซึ่งอาจทำให้บริษัทตกที่นั่งลำบากเพราะไม่มีกลุ่มลูกค้าหมู่มากมาใช้บริการ
       
ข้อมูลจากบริษัทบายซอฟต์ไชน่า (BysoftChina) เอเจนซีดิจิตัลเผยว่า อาณาจักรการช้อปปิ้งบนอินเทอร์เน็ตจีนนั้นถูกครอบครองโดยเว็บไซต์เถาเป่า (Taobao.com) และทีมอลล์ (Tmall.com) ของอาลีบาบา (Alibaba) ซึ่งถือเป็นราชาแห่งธุรกิจแบบผู้ประกอบการ-ผู้บริโภค (B2C) ด้วยส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 57
       
ขณะที่ผลการศึกษาของไอรีเสิร์ช (iResearch) ตอกย้ำพลังของอาลีบาบาถูกส่งเสริมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นด้วยการช้อปปิ้งผ่านมือถือของชาวจีน โดยอาลีบาบาเข้าควบคุมตลาดส่วนดังกล่าวมากกว่าร้อยละ 86 ในปี 2557 ที่ผ่านมา
       
ส่วนอุปสรรคประการที่สองคือเงื่อนไขการใช้โปรแกรม ที่ปรากฏอยู่แต่ในระบบวินโดว์ส (Windows) ของไมโครซอฟต์เท่านั้น แถมผู้ใช้งานยังต้องคอยดาว์นโหลดและติดตั้งแอพพลิเคชั่นเองอีกด้วย เทคอินเอเชียมองว่าจุดนี้เป็นข้อด้อยที่สร้างความยุ่งยากและทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกล้าสมัย

ที่มา : http://manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9580000031833