เอไอเอส เผยเตรียมความพร้อมเข้าประมูล 4G ในทุกคลื่นที่ทาง กสทช.เปิดให้ประมูล ส่วนคลื่นที่มีในปัจจุบันเชื่อว่าจะสามารถรองรับลูกค้าได้ถึง 50 ล้านราย หรือภายในสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกัน เดินหน้าตามแผนดิจิตอลไลฟ์ ร่วมมือซีไอเอ็มบีให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ในชื่อ “Beat Banking”
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เปิดเผยว่า ในตอนนี้เอไอเอสให้ความสนใจในการเข้าประมูลคลื่นเผื่อนำมาให้บริการ 4G ในทุกคลื่น ไม่ว่าจะเป็น 900, 1800, 2300 หรือ 2600 MHz ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับที่ กสทช.จะเปิดให้ประมูล
“เชื่อว่าขณะนี้ยังไม่มีความแน่นอน เพราะอย่างคลื่น 2300 MHz และ 2600 MHz ก็เพียงนำขึ้นมาพูดคุยกันเฉยๆ ยังต้องรอให้มีการขอคืนคลื่นเพื่อนำมาจัดสรรอีก ดังนั้น ในตอนนี้จึงยังไม่ได้เตรียมแผนรองรับไว้ แต่ถ้ามีความชัดเจนขึ้นมาทางเอไเอสก็พร้อมที่จะเตรียมแผนเพื่อรองรับอยู่แล้ว”
อย่างไรก็ตาม คลื่นที่เอไอเอสต้องการมากที่สุดคือ 900 และ 1800 MHzเพราะถือเป็นช่วงคลื่นที่เหมาะที่สุดที่จะนำมาให้บริการ 4G เพราะมีทั้งคลื่นความถี่ต่ำ ที่สามารถให้บริการได้ครอบคลุม และคลื่นความถี่สูง ที่รองรับปริมาณแบนด์วิธได้สูง
“ถ้ามีให้เลือกประมูล 4 ช่วงคลื่น แน่นอนว่าเอไอเอสจะต้องเลือกคลื่นที่นำมาให้บริการได้ดีที่สุด และเหมาะสมในการลงทุนมากที่สุด แต่ถ้าไม่มีตัวเลือกก็พร้อมที่จะลงทุน เพื่อนำมาให้บริการแก่ผู้บริโภค เพราะเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วทุกเทคโนโลยีก็จะพัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถนำคลื่นมารองรับการใช้งานได้”
นายสมชัย กล่าวเพิ่มเติมถึงคลื่น 2600 MHz ว่า ถือเป็นคลื่นแรกที่ทางยุโรปเปิดให้มีการนำมาประมูลเพื่อให้บริการ เพียงแต่ว่าด้วยต้นทุนการประมูลที่สูงไปจึงทำให้ผู้เข้าประมูลไม่สามารถนำมาให้บริการแก่ผู้บริโภคได้ทั่วถึง จึงกลายเป็นไม่ได้นำมาให้บริการ และหันมาใช้คลื่นอย่าง 1800 MHz แทน
“จังหวะที่มีการเริ่มให้บริการ 4G ในต่างประเทศ คลื่น 2600 MHz ถือเป็นช่วงคลื่นที่เหลือ และยังไม่ได้มีการนำไปใช้ จึงมีการนำมาให้บริการ 4G แต่ท้ายที่สุดเมื่อคลื่น 1800 MHz ว่าง หลายโอเปอเรเตอร์ก็เลือกที่จะนำมาให้บริการ 4G”
ขณะที่ในส่วนของช่วงคลื่นที่เหมาะสมสำหรับนำมาให้บริการ 4G คือ 20 MHz เพราะจะนำมาให้บริการได้เต็มที่มากที่สุด แต่ถ้าลดลงมาเหลือสัก 10 MHz ก็ยังสามารถนำมาให้บริการได้อยู่ แต่จะไม่ได้ความเร็วสูงสุดตามที่ต้องการ โดยทางเอไอเอสประเมินถึงความสามารถในการรองรับลูกค้าบนคลื่น 2100 MHz จากพฤติกรรมการใช้งานในปัจจุบันว่า จะสามารถรองรับลูกค้าได้ราว 50 ล้านราย หรือถึงช่วงประมาณสิ้นปีนี้ ดังนั้น จึงอยากให้เกิดการประมูลภายในปีนี้
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ และนายสุภัค ศิวะรักษ์
ทั้งนี้ จากการที่เอไอเอสต้องการปรับเปลี่ยนมาเป็นผู้ให้บริการดิจิตอลแบบครบวงจร ตามแนวคิดดิจิตอลไลฟ์ เซอร์วิส โพรวายเดอร์ นอกเหนือไปจากการให้บริการด้านเครือข่ายโทรคมนาคมเพียงอย่างเดียว จึงได้มีการร่วมมือกับพันธมิตรอย่างซีไอเอ็มบีไทย ในการเปิดให้บริการ “Beat Banking” บัญชีเงินฝากอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกที่ ทุกเวลา
นายสมชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา เอไอเอสได้มีการให้บริการอีมันนี่ ในชื่อ เอ็มเปย์ มากว่า 10 ปี มีฐานลูกค้าที่ใช้งานในปัจจุบัน 1.3 ล้านราย จากลูกค้าเอไอเอสทั้งหมด 44.3 ล้านเลขหมาย จึงเชื่อว่าบริการดังกล่าวจะเข้ามาตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคในยุคดิจิตอล
“เอไอเอสไม่ได้วางเป้าหมายในเรื่องของจำนวนผู้ใช้บริการ แต่นำบริการเหล่านี้มาให้ลูกค้าใช้ เพื่อรักษาฐานลูกค้าที่ต้องการใช้ชีวิตดิจิตอลให้อยู่ในเครือข่ายต่อไป ขณะที่ในส่วนของรายได้ทางเอไอเอสก็จะได้ส่วนแบ่งรายได้จากการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้น”
สำหรับการจับมือกับทางซีไอเอ็มบี ไทย ในครั้งนี้ ทำให้ลูกค้าเอไอเอส สามารถเปิดบัญชีเงินฝาก Beat Saving กับทางธนาคาร ได้ด้วยการกดสมัครผ่านโทรศัพม์มือถือ หลังจากนั้นไปยืนยันตนที่ธนาคารก็จะสามารถใช้งาน Beat Banking ได้ทันที โดยในปีแรกจะไม่มีค่าธรรมเนียมในการใช้บริการ
จุดเด่นหลักของ Beat Banking คือ สามารถนำมาชำระบิลค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ทันที ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่ต้องไปใช้บริการธนาคารที่สาขา รวมไปถึงสามารถนำไปใช้แทน Rabbit Card เพื่อชำระเงินค่าสินค้า และบริการต่างๆ ได้ จากความสามารถของ AIS Rabbit Sim ซึ่งจะช่วยให้สามารถกำหนดค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้ด้วย
เบื้องต้น ในช่วงแรกที่เปิดให้บริการจนถึง 30 มิถุนายน 2558 ลูกค้าจะได้รับดอกเบี้ยเงินฝาก 2% ต่อปี โดยคำนวนดอกเบี้ยตามระยะเวลาฝากเป็นรายวัน และจ่ายดอกเบี้ยเป็นรายเดือน โดยสามารถฝากเงินเข้าบัญชี Beat Savings ผ่านตู้เอทีเอ็ม รวมถึงเอไอเอส ชอป ร้านเทเลวิซ บิ๊กซี แฟมิลี่มาร์ท และจุดรับชำระเอ็มเปย์ สเตชั่น รวมกว่า 50,000 จุดทั่วประเทศ และสามารถจ่ายบิลได้กว่า 200 รายการทางมือถือตลอด 24 ชั่วโมง เช่น จ่ายบิลค่าบัตรเครดิต ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์มือถือ เติมเงินบริการ AIS mPAY Rabbit เพื่อใช้ในการขึ้นรถไฟฟ้า และอื่นๆ ฟรีค่าธรรมเนียมการจ่ายบิลผ่าน mPAY Application 10 บิลต่อเดือน
“Beat Saving ถือเป็นบริการแรกที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกับทางพันธมิตรของเอไอเอส และในอนาคตก็จะมีบริการทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ออกมาอีกเรื่อยๆ โดยมีจุดประสงค์สำคัญคือการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า”
ทั้งนี้ ทางซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีลูกค้าบัญชีเงินฝาก 7 แสนราย และตั้งเป้าว่าจะเข้ามาใช้บริการ Beat Banking 1 แสนราย โดยมีเงินสะพัดในระบบนี้ราว 200 ล้านบาท