พลิกโฉมรถไฟพม่า จากสุดโทรมเป็นรถหรู

ASTVผู้จัดการออนไลน์ – การรถไฟพม่า กำลังจะเปลี่ยนตู้โดยสารของรถไฟสายรอบเมืองในนครย่างกุ้ง จาก “รถร้อน” ให้เป็น “รถเย็น” ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ เป็นการปรับปรุงการให้บริการ โดยซื้อตู้โดยสารรุ่นใหม่จากประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ความร่วมมือช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น การทดลองวิ่งรับส่งผู้โดยสารที่เริ่มเมื่อปีที่แล้ว ทำให้รถไฟปรับอากาศกลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ 
 
เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหากิจการรถไฟ ในสังกัดกระทรวงขนส่งรถไฟ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ทางการได้สั่งซื้อตู้โดยสารจากญี่ปุ่นประมาณ 100 โบกี้ เป็นตู้โดยสารระบบปรับอากาศทั้งหมด ซึ่งจะนำไปเปลี่ยนตู้โดยสารที่ใช้ในรถไฟสายวงกลม ในนครย่างกุ้งปัจจุบัน โครงการนี้ใช้เงินจากความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ หรือ ODA (Official Development Assistance) ในวงเงิน 207 ล้านดอลลาร์ จากญี่ปุ่น
 
พร้อมกันนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังมอบตู้โดยสารปรับอากาศให้อีก 15 คัน เป็น “ของขวัญ” อีกด้วย และ ทั้งหมดมีกำหนดส่งถึงพม่าในเดือน ก.ย.ศกนี้ การดำเนินการเปลี่ยนตู้โดยสารของบรถไฟย่างกุ้ง มีกำหนดแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2558 หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไล้ท์ออฟเมียนมาร์ รายงาน
 
การช่วยเหลือแบบ ODA ในทางปฏิบัติทั่วไปหมายถึง 30% ของวงเงินเป็นการให้เปล่า จำนวนที่เหลือเป็นเงินกู้ผ่อนปรน มีระยะปลอดหนี้ 5-10 ปี และดอกเบี้ยต่ำ
 
ปัจจุบัน รัฐวิสาหกิจรถไฟมีรถให้บริการวิ่งรอบกรุงเก่า จำนวน 23 คัน ในนั้นมีตู้ปรับอากาศ 4 คัน หนังสือพิมพ์รายวันซึ่งเป็นสื่อกึ่งทางการรายงาน
 
ไม่เพียงแต่ปรับปรุงรถไฟเท่านั้น ปัจจุบันรัฐวิสาหกิจรถไฟยังอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงสถานีรถไฟกลางย่างกุ้งอันเก่าแก่ด้วย ปัจจุบัน อยู่ในขั้นตอนศึกษาโดยบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าอาจจะต้องใช้เงินทุนราว 2,500 ล้านดอลลาร์ ในการพัฒนาทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งการพัฒนาที่ดินราว 62 เอเคอร์ (ราว 155 ไร่) โดยอาจจะให้เอกชนเข้าลงทุนบางส่วน หรือให้สัมปทานแบบ BOT ก็เป็นได้
 
รถไฟปรับอากาศพม่า ที่ให้บริการแล่นเป็นวงกลม หรือที่เรียกกันว่า Circular Train ในย่างกุ้ง ให้บริการชาวเมืองวันละนับแสนคน เก็บค่าโดยสารประมาณ 50 เซ็นต์ (หรือ 16 บาทเศษ) ต่อเที่ยว และถูกกว่านั้นสำหรับ “รถร้อน”
 
แต่ไหนแต่ไรมา บริการรถไฟย่างกุ้งอยู่ได้ด้วยเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ระหว่าง 40,000-45,000 ล้านจ๊าต (1,258-1,415 ล้านบาท) ต่อปี มีประชาชนกว่า 100,000 คน หรือคิดเป็นประมาณ 3% ของประชากรกว่า 6 ล้านคน ที่ต้องพึ่งพาการสัญจรด้วยรถไฟสายวงกลม ทั้งไปทำงาน ค้าขาย หรือไปทำกิจธุระต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
 
รถสายนี้ให้บริการมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม ทั้งเก่า และช้าอืดอาด ทั้งยังขึ้นชื่อในเรื่องแออัดและสกปรกอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั่วโมงเร่งด่วน แต่ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย เพราะเป็นระบบขนส่งที่ไปได้ไกลที่สุด ค่าใช้จ่ายถูกที่สุด รวมทั้งเป็นการหลีกหนีจากการจราจรติดขัดในเมืองแทนการนั่งรถเมล์
 
แต่การศึกษาพบว่า เมื่อมีแรงจูงใจ และมีทางเลือกมากขึ้น ชนชั้นกลางก็จะค่อยๆ ลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัวลง หันไปใช้บริการรถไฟสายนี้มากขึ้น ช่วยลดมลพิษจากการปล่อยไอเสียของยวดยานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ จะช่วยลดการจราจรที่แออัดบนท้องถนนลง ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงานโดยรวม และช่วยลดการสูญเงินสำรองสกุลต่างประเทศลงอย่างมหาศาล รวมทั้งยังเป็นการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองอีกด้วย
 

ภาพวันที่ 15 ธ.ค.2557 “รถร้อน” ขบวนรอบเมืองย่างกุ้ง เคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ เร็วกว่า คนเดินเร็วๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในชั่วโมงที่ไม่แออัด ดูสะอาดและโล่งโปร่งดี แต่สิ้นปีนี้ยังไม่ทราบจะมีเหลือให้เห็นอีกหรือไม่ หรือจะเปลี่ยนเป็น “รถเย็น” ไปทั้งหมดตามแผนปรับปรุงการให้บริการ โดยรัฐวิสาหกิจรถไฟพม่า ซึ่งซื้อตู้โดยสารจากญี่ปุ่นถึง 100 คัน. — Agence France-Presse/Soe Than Win
 

ภาพวันที่ 9 ก.ย. 2557 หากมองดูเผินๆ จะเข้าใจว่าชายในภาพ เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วโดยสาร บนรถไฟสายรอบเมืองของนครย่างกุ้ง แท้จริงเป็นพ่อค้าที่นำพระเครื่องขึ้นไปเสนอขายให้ผู้โดยสาร การปรับปรุงการให้บริการที่กำลังดำเนินไปในขณะนี้ น่าจะทำให้สิ่งนี้หมดไป. — Agence France-Press/Christophe Archambault
 

ภาพวันที่ 9 ก.ย.2557 รถขบวนหวานเย็นสายรอบเมืองย่างกุ้ง กำลังมุ่งหน้าไปยัง สถานีรถไฟกลางในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งผู้โดยสารล้นออกไปจนถึงบันไดทางขึ้นลง ปัจจุบันมีชาวย่างกุ้งกว่า 100,000 คน พึ่งพารถไฟในชีวิตประจำวัน แต่เชื่อว่าเมื่อมีขบวนรถปรับอากาศให้บริการ จะมีคนกลุ่มรายได้สูงขึ้น หันไปใช้รถไฟมากขึ้นใช้. — Agence France-Press/Ye Aung Thu
 

ภาพวันที่ 17 ก.ย.2555 เจ้าหนุ่มในภาพโหนตัวอย่างเคยชินที่บริเวณทางขึ้นลง ขณะรถไฟสายรอบเมืองเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ ซึ่งโดยปรกติการนั่งจากสถานีกลางออกไป จนกระทั่งวกกลับไปที่เดิมอีกครั้ง จะใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง รถไฟสายนี้วิ่งอย่างนี้ อยู่อย่างนี้ มาตั้งแต่สมัยยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่ก็กำลังจะเปลี่ยนไป. — Reuters/Damir Sagolj
 

ภาพวันที่ 9 ก.ย.2557 ในชั่วโมงเร่งด่วน ทุกพื้นที่บนรถไฟสายรอบเมืองในนครย่างกุ้ง กลายเป็นที่นั่งโดยสารไปหมด จะยกเว้นก็เพียงหลังคาเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันมีตู้โดยให้บริการเพียง 20 คันเศษ แต่ตามแผนปรับปรุง ภายในปีนี้ตู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 คัน และ เป็นตู้ปรับอากาศทั้งหมด ยังไม่ทราบรายละเอียดว่า “รถร้อน” จะยังอยู่ให้บริการคู่ขนานกันต่อไปหรือไม่อย่างไร. — Agence France-Press/Ye Aung Thu