ชำแหละ ความถี่ 4G !!

อึมครึมอยู่นาน ถึงแม้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ จะออกมาแถลงผลการประชุมคณะกรรมการเตรียมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เกี่ยวกับการประมูล 4G ที่ระบุว่าจะประมูลภายในเดือน ส.ค.58 และให้ กสทช.กลับไปเสนอแผนในการนำคลื่นความถี่อื่นๆ มาวิเคราะห์ในการเปิดประมูลด้วย อย่าล็อกตัวเองอยู่ที่คลื่น 1800 MHz หรือ 900 MHz โดย กสทช.ต้องไปคิดว่าจะทำยังไง จะได้มีคลื่นของดีมากกว่าที่มีอยู่เดิมเพื่อให้ขยายกว้างกว่าเดิม และนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมดีอีในครั้งหน้า ทั้งยังระบุว่าจะมีการเจรจาเพื่อนำความถี่ 2600 MHz หรือ 2300 MHz ออกมาประมูลก่อน จนทำให้งงกันไปทั้งบางว่ายังไงกันแน่
 
จน “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. ต้องทำเรื่องเสนอ ครม.จนได้ความชัดเจนว่าต้องทำอย่างไรบ้าง โดยที่การประมูล 4G จะไม่ไปแตะต้องประกาศ คสช.ที่สั่งชะลอประมูลก่อนหน้านี้
 
เคาะประมูลทั้ง 2 คลื่น ปลายปี
 
กสทช.ได้ทำเรื่องเสนอ ครม.เพื่อขอเปิดการประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz โดย ฐากร ระบุว่าจะสามารถเปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ได้ในวันที่ 11 พ.ย. 58 ใบอนุญาตละ 12.5 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต และคลื่น 900 MHz ในวันที่ 15 ธ.ค. 58 ใบอนุญาตละ 10 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต (ตามกราฟิก) โดย กสทช.ได้เตรียมงบประมาณในการประมูลทั้ง 2 คลื่นความถี่ไว้ที่ 100 ล้านบาท แต่โจทย์ที่ กสทช.ยังต้องทำควบคู่ไปด้วยคือการมองถึงคลื่นความถี่อื่นที่จะสามารถนำมาเปิดประมูลในระยะยาวได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นคลื่น 2300 MHz ที่อยู่กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ คลื่น 2600 MHz ที่อยู่กับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
 
ทำให้สำนักงาน กสทช. ได้มีการดำเนินการศึกษาแนวทางการนำคลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz และ 2600 MHz มาใช้สำหรับการประกอบกิจการโทรคมนาคม ด้วยการแต่งตั้งคณะทำงานเตรียมการเพื่อเจรจาขอคืนคลื่นความถี่ทั้ง 2 ย่านดังกล่าว รวมถึงย่านอื่นๆ ที่สามารถเจรจาได้เพื่อให้สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป รวมถึงการพิจารณาจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยการเรียกคืนคลื่นความถี่ด้วย
 
4G แบบไหนขึ้นอยู่กับผู้ประมูล
 
ในมุมมองของ รท.เจษฎา ศิวรักษ์ เลขานุการรองประธาน กสทช. กล่าวว่า ในทางเทคนิคแล้วไม่ว่าจะเป็นคลื่นไหน อุปกรณ์รองรับสัญญาณไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ พ็อกเก็ต ไว-ไฟ มีจำนวนไม่ต่างกัน อยู่ที่วัตถุประสงค์ของผู้ประมูลคลื่นไปให้บริการมากกว่าว่าต้องการนำไปให้บริการในเมือง หรือขยายไปต่างจังหวัด เพราะคลื่นยิ่งมีความถี่สูงก็จะเหมาะสำหรับการลงทุนในเมืองขณะที่คลื่นที่มีความถี่ต่ำ เหมาะสำหรับการลงทุนขยายไปรอบๆ เมือง
 
ย่านความถี่ของโทรคมนาคมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ FDD (Frequency Division Duplex) คลื่นรับและส่ง เป็นคลื่นคนละความถี่กัน การรับและส่งจึงสามารถทำพร้อมกันได้ ตัวอย่างที่ใช้กันเช่น Wi-Fi ที่ใช้งานทุกวันนี้ และอีกประเภท คือ TDD (Time Division Duplex) คลื่นรับและส่งเป็นคลื่นเดียวกัน การรับและส่งจึงไม่สามารถทำพร้อมกันได้ เพราะจะเกิดการตีกันของคลื่น แต่ข้อดีคือสามารถล็อกได้ว่า จะให้ค่ารับและส่งวิ่งเท่าไหร่ จึงเหมาะกับการนำมาให้บริการโมบายล์บรอดแบนด์
 
ดังนั้น ไม่ว่าประเทศไทยจะไปทาง FDD หรือ TDD ก็ต้องอยู่ที่วัตถุประสงค์ของผู้ประมูล 4G ว่าจะลงทุนในพื้นที่ในเมืองหรือต่างจังหวัด มีอุปกรณ์รองรับมากเท่าไหร่ เทคโนโลยีได้รับความนิยมหรือไม่
 
ปัจจุบันคลื่น 1800 MHz ที่เป็น FDD มีอุปกรณ์รองรับจำนวน 1,141 รุ่น คลื่น 2600 MHz รองรับ 1,022 รุ่น คลื่น 2100 MHz รองรับ 844 รุ่น ขณะที่ LTE-TDD ส่วนใหญ่จะนิยมใช้กับคลื่น 2300 MHz เป็นอันดับแรก มีอุปกรณ์รองรับ จำนวน 696 รุ่น อันดับที่สอง คือ 2600 MHz รองรับ 606 รุ่น และอันดับที่สามคือ 1900 MHz รองรับ 514 รุ่น
 
ดังนั้น จากตัวเลขความนิยมและอุปกรณ์ที่รองรับทำให้ประเด็นเรื่องเทคโนโลยีไม่ใช่ปัญหาในการใช้ 4G ของประเทศไทย แต่ปัญหาอยู่ที่คลื่นนั้นๆ ใครครอบครองอยู่ และจะนำกลับคืนมาเพื่อนำมาประมูลได้หรือไม่
 
สำคัญว่าคลื่นอยู่กับใคร
 
สอดคล้องกับแนวคิดของ คามิลล่า วอลเทียร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อีริคสันประเทศไทย กล่าวว่า การจะพิจารณาว่าคลื่นใดเหมาะสมสำหรับการทำ 4G ต้องดูว่าคลื่นนั้นๆ ได้ถูกกำหนดอยู่ในแผนคลื่นความถี่หรือไม่ ซึ่งไอทียูมีการกำหนดใช้คลื่นความถี่สำหรับการทำ 3G คลื่นแรก คือ คลื่น 2100 MHz ในปี 1997 คลื่นนี้จึงเป็นแบนด์หลักที่ถูกประกาศออกมา ขณะที่คลื่น 2500-2600 MHz เป็นแบนด์ต่อขยายจาก 2100 MHz เนื่องจากคลื่นไม่เพียงพอ ไอทียูจึงประกาศให้กำหนดมาตรฐานคลื่นนี้ออกมารองรับด้วย ในปี 2000 จึงเรียกได้ว่าเป็นคลื่นแรกๆ ที่ไอทียูประกาศรองรับมาตรฐานคลื่นความถี่
 
ส่วนคลื่น 1800 MHz ที่หลายคนสงสัยว่าทำไมจึงมีการใช้งานแพร่หลายนั้น เป็นเพราะว่าเป็นคลื่น 2G ในระบบ GSM ซึ่งถูกนำมารีฟาร์มมิ่ง หรือจัดระเบียบคลื่นใหม่ให้ใช้บริการ 4G LTE ซึ่งมีฐานลูกค้าที่ใช้งานด้านเสียงแต่เดิมอยู่แล้วจำนวนมาก
 
ดังนั้น หากจะวิเคราะห์แล้วคลื่น 2600 MHz จึงเป็นคลื่นที่เหมาะในการทำ 4G เพราะได้รับรองมาตรฐานคลื่นมาตั้งแต่ช่วงแรก และเหมาะสำหรับการลงทุนเพื่อให้บริการในเมืองจะทำให้มีการรับส่งข้อมูลที่รวดเร็วกว่า โดยคลื่นนี้เป็นมาตรฐานที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากในประเทศแถบยุโรป และแต่ละย่านสามารถนำไปทำ LTE ได้ทั้งหมด ซึ่งการจะนำมาใช้ต้องดูปัจจัยที่เรียกว่า อีโคซิสเต็มส์ 3 ข้อ คือ 1.คลื่นความถี่เป็นคลื่นที่มีมาตรฐานทั่วโลกหรือไม่ 2.โครงข่ายรองรับได้หรือไม่ และ 3.อุปกรณ์เครื่องลูกข่ายรองรับมากหรือไม่ 
 
อีกทั้งคลื่น 2100 MHz และ คลื่น 2500-2600 MHz ทั้ง 2 คลื่นเป็นคลื่นแรกๆ ที่ได้รับการกำหนดให้อยู่ในแผนคลื่นความถี่ ซึ่งนับจากวันที่กำหนดจนปัจจุบันนับเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าเป็นคลื่นที่มีมาตรฐานแน่นอน
 
การที่ประเทศไทยนำ 2100 MHz มาประมูล 3G ในครั้งนั้นก่อน เป็นเพราะมีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ข้อ และเป็นคลื่นที่ว่างอยู่ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ดังนั้น คลื่นที่ไม่มีเจ้าของอย่างคลื่น 1800 MHz ที่หมดสัญญาสัมปทานไปแล้ว และ 900 MHz ที่กำลังจะหมดสัญญาสัมปทานก็น่าจะนำมาประมูลง่ายกว่าด้วยเช่นกัน
 
อย่างไรก็ตาม หากดูกรณีศึกษาจากประเทศในแถบยุโรปจะเห็นว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ให้โอเปอเรเตอร์ที่เหมาะสมคือต้องมี 4 ย่านความถี่ เพื่อให้ง่ายในการลงทุน และเหมาะสำหรับการให้บริการที่แตกต่างกัน กล่าวคือ คลื่นที่มีความถี่สูง ควรลงทุนให้คนในเมืองใช้ ขณะที่คลื่นความถี่ต่ำเหมาะสำหรับลงทุนให้ครอบคลุมไปยังต่างจังหวัดหรือบนเขาสูง เป็นต้น
 
การจัดระเบียบคลื่นความถี่ใหม่หากประเทศไทยทำสำเร็จ จะทำให้ประเทศไทยในอีก 5-6 ปีข้างหน้าจะมีคลื่นสำหรับการให้บริการมากขึ้นอย่างแน่นอน
 
“การที่รัฐบาลประกาศนโยบาย Digital Economy สิ่งที่มาถูกทางคือการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโมบายล์ซึ่งง่ายและสะดวกกว่า ดังนั้น คลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรของชาติที่ไม่มีวันหมด ต้องถูกนำมาจัดสรรให้เอกชนและประชาชนใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
 
ดังนั้น เมื่อรัฐบาลตั้งนโยบาย Digital Economy ขึ้นมาแล้ว นั่นหมายความว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโมบายล์ซึ่งเข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด ประชาชนต้องได้รับความเร็วที่สามารถใช้งานได้จริง ไม่ใช่เต่าคลานอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
 

 
เพิ่มอำนาจ กสทช.เคลียร์คลื่น
 
ประเด็นการจัดสรรความถี่ที่มีความสำคัญกับอนาคตประเทศ ทำให้คณะกรรมการดีอีเตรียมเสนอเพิ่มมาตราใหม่ใน พ.ร.บ. กสทช. ให้มีอำนาจเกลี่ยคลื่นได้ด้วยไม่ใช่เพียงการจัดระเบียบ หรือ Refarming เท่านั้น แต่ต้องสามารถจัดวางแลกความถี่ระหว่างหน่วยงานได้ รวมถึงพิจารณาเรื่องการชดเชย กรณีที่เรียกความถี่คืนเพื่อให้สามารถนำความถี่ที่มีอยู่ทั้งหมดมาจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
 
เรื่องนี้แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะกรรมการดีอี กล่าวว่า คณะกรรมการได้เสนอประเด็นนี้ต่อกฤษฎีกาแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการแก้กฎหมาย เพราะเรื่องนี้แม้แต่ประธาน กสทช.เองก็เห็นด้วย และยอมรับว่าที่ผ่านมา บทบาทและหน้าที่ตลอดจนอำนาจในการเรียกคืนคลื่นมาจัดระเบียบใหม่ขาดประสิทธิผล โดยยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาในเวลาไม่กี่ปี ขณะที่ผู้ครอบครองคลื่นรายเดิมครอบครองมานานนับสิบปี
 
เอกชนพร้อมรับประมูล 4G
 
ทางบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ถือเป็นผู้ให้บริการที่คาดหวังและต้องการให้เกิดการประมูลครั้งนี้มากที่สุด เพราะถือเป็นรายเดียวที่ยังไม่มีคลื่นมาให้บริการ 4G ดังนั้น สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส จึงเตรียมความพร้อมในการเดินหน้าเต็มที่
 
“ไม่ว่า กสทช.จะเปิดประมูลคลื่นความถี่ใด เอไอเอส ก็พร้อมที่จะเข้าประมูล เพียงแต่จะให้ความสำคัญกับช่วงคลื่นที่เป็นช่วงคลื่นความถี่สูงและคลื่นความถี่ต่ำ เพื่อให้สามารถนำมาให้บริการ 4G ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด”
 
โดยในตอนนี้ภายในเอไอเอสกำลังอยู่ในช่วงการเตรียมแผนเพื่อการประมูล 4G ซึ่งในการลงทุนจะอยู่นอกเหนือไปจากงบ 4 หมื่นล้านบาท ที่เคยประกาศสำหรับการลงทุนโครงข่ายไปก่อนหน้านี้ และแน่นอนว่าด้วยเครือข่ายของเอไอเอสที่สามารถรองรับลูกค้าได้ถึงช่วงสิ้นปี ทำให้เอไอเอสต้องเร่งเดินหน้าติดตั้ง และนำมาให้บริการลูกค้าอย่างเร็วที่สุด
 
ในขณะที่ฝั่งบริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชัน จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ที่ล่าสุดได้มีการประกาศแผนนำคลื่น 1800 MHz จำนวน 10 MHz มาจัดสรรใหม่ เพื่อให้นำมาให้บริการ 4G แก่ลูกค้าควบคู่ไปกับ 4G บนคลื่น 2100 MHz จำนวน 5 MHz ที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ดีแทคก็ยังไม่ละความพยายามในการเสนอคืนคลื่น 1800 MHz ในส่วนที่ไม่ได้ใช้ และพร้อมที่จะขยับเลื่อนคลื่นที่ใช้อยู่ เพื่อให้ทาง กสทช.จัดประมูล 1800 MHz ในช่วงคลื่นที่ติดกัน
 
“ตอนนี้คลื่น 1800 MHz ที่ กสทช.จะนำมาประมูลที่เป็นของทรูมูฟ และดีพีซีเดิม จะถูกคั่นกลางด้วยคลื่นที่ดีแทคใช้งานอยู่ ซึ่งทางดีแทคกำลังอยู่ในขั้นตอนการทำข้อมูลเพื่อนำเสนอการขยับคลื่นความถี่ที่ใช้งานลงมา เพื่อให้ กสทช.สามารถเปิดประมูลคลื่น 1800 MHz ที่ติดกัน 25 MHz แทน” ชัยยศ จิรบวรกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าว
 
นอกจากนี้ ยังเสนอว่ากรณีที่ทาง กสทช. กลัวว่าการนำคลื่นของดีแทคที่คืนไปและนำมาเปิดการประมูลจะทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน ก็คิดว่าควรมีการตั้งราคาประมูลให้สูงขึ้นตามที่ต้องการไปเลย เพื่อที่เอกชนจะสามารถลงทุน และนำมาให้บริการเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน และประเทศชาติได้
 
อย่างไรก็ตาม ลาร์ส โอเคะ นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค มองถึงการที่ กสทช.เปิดให้ใบอนุญาตทั้งหมด 4 ใบอนุญาตว่าจะทำให้เกิดการแข่งขันในการประมูลอย่างแน่นอน และพร้อมที่จะนำเงินลงทุนต่อเนื่อง ตราบใดที่มีความต้องการของลูกค้า
 
“จากแผนการให้บริการ 4G ใหม่ที่ดีแทคประกาศออกมา จะทำให้ดีแทคสามารถเริ่มให้บริการ 4G ได้ตั้งแต่ปัจจุบันแม้ว่าจะอยู่ภายใต้ระบบสัมปทานก็ตาม และไม่กังวลถึงการประมูลคลื่นครั้งนี้มากนัก เพราะถือว่ามีการให้บริการแล้วและเชื่อว่าหลังจากนี้ก็จะมีการเปิดประมูลคลื่นความถี่อื่นต่อไป”
 
ทีโอทียังหวังคลื่น 900 MHz
 
ด้านแหล่งข่าวจากฝ่ายบริหารทีโอที กล่าวว่า ตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเปิดประมูลคลื่น 900 MHz ได้หรือไม่ เพราะต้องดูกฎหมายใหม่ที่แก้ก่อนว่าจะเป็นรูปแบบไหน เงื่อนไขการประมูลที่บอกว่าต้องทำให้รัฐเกิดประโยชน์สูงสุด เพราะอย่างไรเสียทีโอทีก็ยังไม่มีแผนเข้าร่วมประมูล 900 MHz สิ่งที่รัฐบาลต้องการให้เคลียร์คดีข้อพิพาทระหว่างเอไอเอสกับทีโอทีตอนนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะตกลงกันได้เหมือนกรณีที่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เจรจากับ ดีแทค ทำให้ กสท โทรคมนาคมไม่มีปัญหาและพร้อมจะร่วมประมูลในคลื่น 1800 MHz
 
ดังนั้น การจะนำคลื่น 900 MHz กลับมาทำตามแผนที่ทีโอทีตั้งใจไว้ก็ยังมีเวลา ส่วนประเด็นเรื่องคลื่น 2300 MHz นั้น ตอนนี้ กสทช.ไม่มีอำนาจในการเรียกคืน เพราะทีโอทียังให้บริการด้านโทรคมนาคมอยู่ ซึ่งถูกต้องตามหลักการได้รับใบอนุญาต ตรงนี้ไม่ใช่ระบบสัมปทาน แต่หาก กสทช.จะเรียกคืนก็ต้องมีการกำหนดเพิ่มเติมในกฎหมายใหม่ที่จะจ่ายเงินชด เชยให้กับทีโอที โดยโจทย์คือการนำคลื่นมาทำ 4G ต้องเป็นการนำมาให้บริการด้วยประสิทธิภาพที่เป็น 4G อย่างแท้จริง ไม่ใช่ช้าเหมือนคลื่น 2100 MHz ที่ประมูลไปทำ 3G แล้วความเร็วก็ยังช้าอยู่