เคล็ดไม่ลับช็อปปิ้งสุดคุ้มช่วงสงกรานต์ที่ญี่ปุ่น

เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวชาวไทยจะเดินทางมายังประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด โดยห้างร้านต่างๆก็เตรียมโปรโมชั่นพิเศษไว้ต้อนรับนักช็อปปิ้งชาวไทย  “โต๊ะญี่ปุ่น” ได้รวบรวมเคล็ดไม่ลับในการช็อปปิ้งที่ญี่ปุ่นเพื่อช่วยให้การจับจ่ายสินค้า ณ แดนอาทิตย์อุทัยคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

      
1. ทำความเข้าใจกับมาตรการคืนภาษีสำหรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะข้อกำหนดที่จะต้องซื้อสินค้าในร้านเดียวกันและวันเดียวกันให้ครบตามมูลค่าขั้นต่ำ ดังนั้นจีงควรเลือกร้านที่จะช้อปปิ้งให้ดี ไม่ควรกระจายซื้อหลายๆร้านอย่างละเล็กละน้อย
อ่านรายละเอียดได้จากข่าวย้อนหลัง:พลิกคู่มือช็อปปิ้งปลอดภาษีที่ญี่ปุ่น
      
2. ร้านค้าหลายแห่งนอกจากจะสามารถคืนภาษีในอัตรา 8% แล้ว ยังให้ส่วนลดเพิ่มอีก 5-6% จากบัตรเครดิต ซึ่งจากการสำรวจพบว่าบัตร VISA จะให้ส่วนลดมากกว่า นอกจากนี้ยังมีอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลเยนที่ดีกว่าบัตร Mastercard
      
3. ร้านค้าบางแห่งสามารถให้ “ส่วนลดพิเศษ” เพิ่มเติมจากราคาที่ติดป้ายไว้ในบางกรณี ส่วนลดพิเศษนี้ไม่ใช่การ “ต่อราคา” หากแต่พนักงานขายจะช่วยหาโปรโมชั่นบางอย่างที่ลูกค้าไม่ทราบ เช่น ราคาจากอินเตอร์เน็ต, ราคาขายส่ง หรือ ราคาพิเศษสำหรับลูกค้าเฉพาะราย อย่างไรก็ตาม การลดราคาพิเศษเช่นนี้จะไม่สามารถใช้ร่วมกับการคืนภาษีได้อีก จึงต้องเปรียบเทียบว่าส่วนลดพิเศษที่ได้กับส่วนลดจากการคืนภาษีอย่างไหนคุ้มค่ากว่ากัน นอกจากนี้การขอร้องให้พนักงานขายช่วยหาส่วนลดพิเศษนั้นจำเป็นต้องสื่อสารด้วยภาษาญี่ปุ่นได้ในระดับที่ดีพอสมควร
      
4. ที่ญี่ปุ่นไม่มี “ร้านเดียวที่ราคาถูกทุกอย่าง” โดยร้านแต่ละประเภทจะขายสินค้าราคาถูกเฉพาะอย่าง เช่น เครื่องสำอางค์ซื้อที่ร้านขายยาจะถูกกว่า, ขนมซื้อที่ร้านขายส่งจะราคาถูก, เครื่องใช้ไฟฟ้าก็ควรซื้อที่ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า, อาหารควรซื้อที่ซุปเปอร์มาเก็ต ส่วนร้านสะดวกซื้อ เช่น 7-11, Lawson และอื่นๆ สินค้าแทบทุกอย่างจะแพงกว่าร้านอื่น การซื้อสินค้าในร้านผิดประเภท บางกรณีอาจได้ราคาที่แพงกว่าถึง 20-30%
      
5. ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นิยมสะสมแต้ม ห้างร้านต่างๆจะมีบัตรสมาชิกสะสมแต้ม ซึ่งคุ้มค่ามากเพราะแต้มที่ได้สามารถใช้เป็นส่วนลดได้ทันที นักช็อปอาจใช้วิธีแบ่งชำระเงินเป็นสองครั้ง เพื่อนำแต้มสะสมจากการชำระค่าสินค้าชิ้นแรกไปใช้เป็นส่วนลดของสินค้าชิ้นที่สอง
      
6.การซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าบางอย่างใช้แรงดันไฟฟ้า 110V ในขณะที่ประเทศไทยใช้แรงดันไฟฟ้า 220V
      
7. ควรระวังเรื่องการรับประกันสินค้า เพราะบางกรณีอาจรับประกันเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น
      
8. สินค้าอิเลคทรอนิกส์ควรระวังเรื่องการใช้งาน เพราะสินค้าบางอย่างอาจมีเมนูใช้งานเพาะภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น
      
9. โทรศัพท์มือถือที่จำหน่ายในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังมีการล็อคเครื่องให้ใช้เฉพาะเครือข่ายที่กำหนดเท่านั้น
      
10. สินค้าของที่ระลึกซึ่งขาย ณ แหล่งท่องเที่ยวมักมีราคาแพง และไม่ได้ดีเด่นอะไร เป็นเพียงสินค้าที่ขายให้กับนักท่องเที่ยวเท่านั้น
      
11. แหล่งช็อปปิ้งชื่อดังที่นักท่องเที่ยวนิยมไปกัน บางครั้งไม่ได้มีสินค้าที่ดีจริงหรือราคาคุ้มค่าจริง เพียงแต่มีความสะดวกในการสื่อสาร หากมีโอกาสให้ชาวญี่ปุ่นช่วยพาไปสถานที่ที่ชาวญี่ปุ่นจับจ่ายซื้อของในชีวิตประจำวันจริงๆ จะช่วยให้ได้ของที่เป็นเอกลักษณ์ญี่ปุ่นจริงๆ

12. ของถูกอาจไม่ใช่ของที่คุ้มค่า สินค้าบางอย่างอาจมีราคาแพงกว่า แต่เป็นของที่ไม่สามารถหาซื้อในที่อื่น นอกจากญี่ปุ่นเท่านั้น
      
13. สินค้าลดราคาในห้างสรรพสินค้าที่ญี่ปุ่น คุณภาพดีและราคาถูกเมื่อเทียบกับประเทศไทย
      
14. สินค้าแบรนด์เนมดังอาจมีแหล่งผลิตหลายประเทศ โดยสินค้า Made in Japan อาจแพงกว่าหลายเท่าตัว
       อาหารก็เช่นเดียวกัน ซูชิแบบสายพานกับซูซิที่ปั้นด้วยมือ หรือ ซาชิมิที่ใช้ปลาแช่แข็งกับที่ใช้ปลาสด ราคาต่างกันมาก รสชาติก็ต่างกันมาก
      
16. ควรระวังสินค้าบางประเภทที่นำขึ้นเครื่องบินไม่ได้
      
17. ไม่ควรแลกเงินที่ญี่ปุ่น โดยธนาคารเปิดทำการเฉพาะวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่ 9.00-15.00 น. ขั้นตอนยุ่งยาก และอัตราแลกเปลี่ยนไม่คุ้มค่า หากเงินสดไม่พอ แนะนำให้ใช้บัตรเครดิตจะคุ้มค่ากว่า
      
ประเทศญี่ปุ่นยินดีอย่างยิ่งที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจับจ่ายซื้อสินค้าอย่างเพลินเพลิน และห้างร้านต่างๆก็พร้อมอำนวยความสะดวก และนำเสนอโปรโมชั่นพิเศษมากมาย หากแต่บรรดานักช็อปพึงสังวรณ์ไว้ด้วยว่า จะต้องรับความเสี่ยงเอง หากศุลกากรที่ประเทศไทยจะปฏิเสธไม่ให้นำสินค้าเข้าประเทศ หรือเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม.

ที่มา : http://manager.co.th/Japan/ViewNews.aspx?NewsID=9580000041877