อุทาหรณ์สอนใจ ทวีตแบบไหนถึงอดขึ้นเครื่องบิน

เป็นเรื่องขึ้นมาทีเดียว หลังสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์สั่งห้ามไม่ให้นักวิจัยด้านซีเคียวริตี้รายหนึ่งเดินทางหลังพบว่าเขามีการทวีตข้อความว่า เขาอาจจะสามารถเจาะระบบของเครื่องบินได้
 
คดีปลาหมอตายเพราะปากคราวนี้เป็นความคะนองของคริส โรเบิร์ตส์ (Chris Roberts) ผู้ก่อตั้งบริษัทด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ชื่อ One World Labs ซึ่งในแวดวงไอทีแล้วก็คือบรรดาบริษัทที่พยายามหาช่องโหว่ในระบบไอที และเตือนไปยังบริษัทผู้พัฒนาให้รีบแก้ไข
 
โดยทางสายการบินพบว่าผู้โดยสารรายนี้ทวีตข้อความว่า เขาคิดว่าเขาสามารถปล่อยหน้ากากออกซิเจนออกมาได้ ไม่เพียงเท่านั้น ที่ผ่านมาเขายังได้เคยให้สัมภาษณ์แก่สื่อจำนวนมากในประเด็นเกี่ยวกับระบบการทำงานของเครื่องบิน โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์กับฟ็อกซ์นิวส์ได้ใจความทำนองว่า การเจาะระบบเครื่องบินเพื่อปิดการทำงานของเครื่องยนต์ที่ระดับความสูง 35,000 ฟุตเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในทางทฤษฎี
 
รวมถึงเขายังเคยให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นว่า เขาอาจทำการเชื่อมต่อเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ภายใต้ที่นั่งของเขาเพื่อเข้าไปดูระบบการทำงานของเครื่องบิน ระบบเชื้อเพลิง และระบบการจัดการไฟล์ตได้ด้วย และนี่คือสิ่งที่เขาทวีตจนนำไปสู่เหตุการณ์ดังกล่าว
 
“Find myself on a 737/800, lets see Box-IFE-ICE-SATCOM, ? Shall we start playing with EICAS messages? “PASS OXYGEN ON” Anyone ? :)”
 
รายงานข่าวจากบีบีซีนิวส์ระบุว่า หน่วยงานอย่างเอฟบีไอได้มีการสั่งห้ามไม่ให้เขาเดินทาง แถมยังถูกยึดแล็ปท็อป รวมทั้งถูกสอบสวนเป็นเวลานานกว่า 4 ชั่วโมงเลยทีเดียว
 
ด้าน Rahsaan Johnson ตัวแทนจากสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ได้ออกมาให้เหตุผลถึงการไม่ให้นักวิจัยด้านซีเคียวริตี้รายนี้เดินทางตามเที่ยวบินที่ได้จองไว้ว่า เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้โดยสารรายอื่นๆ พร้อมกันนั้น ตัวแทนสายการบินก็ได้แสดงความเชื่อมั่นในระบบของตนเองว่าจะไม่ถูกเจาะระบบได้ด้วยวิธีที่ มร.โรเบิร์ตส์ อธิบายเอาไว้อย่างแน่นอน
 
เมื่อผู้สื่อข่าวของบีบีซีนิวส์ถามเพิ่มว่า ถ้าระบบของสายการบินไม่มีช่องโหว่ เพราะเหตุใดจึงยังปฏิเสธไม่ให้ มร.โรเบิร์ตส์เดินทางร่วมไฟล์ตไปด้วย ทางสายการบินได้ให้ความเห็นว่า เป็นเพราะการแสดงความคิดเห็นของผู้โดยสารรายนี้มีความเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ภายในเครื่องบิน ซึ่งละเมิดนโยบายของสายการบิน รวมถึงผู้โดยสาร และลูกเรือบางส่วนมีความประสงค์ว่าไม่ต้องการ “ดีล” กับปัญหาเหล่านี้
 
พร้อมกันนี้ ทางสายการบินระบุว่า จะส่งจดหมายอธิบายเหตุผลการสั่งห้ามบินไปยัง มร.โรเบิร์ตส์ภายในสองสัปดาห์นี้
 
ด้านหน่วยงานอย่าง The Electronic Frontier Foundation (EFF) ซึ่งรับบทตัวแทนของ มร.โรเบิร์ตส์ ก็ได้เผยว่า เป็นเรื่องน่าเสียใจที่สายการบินยูไนเต็ดปฏิเสธไม่ให้ มร.โรเบิร์ตส์เดินทาง และหวังว่าทางสายการบินจะเรียนรู้ว่านักวิจัยด้านซีเคียวริตี้เป็นพันธมิตรที่สำคัญยิ่ง ไม่ใช่ตัวอันตรายอย่างที่เข้าใจ
 
โดย Nate Cardozo ทนายความจาก EFF เปิดเผยด้วยว่า เขากำลังดำเนินการขอคืนคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปของ มร.โรเบิร์ตส์ที่ถูกยึดไป หลังไม่พบว่ามีเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการยึดแล็ปท็อปดังกล่าวด้วย