ทำไม “กำเนิด Tesla Powerwall” จึงเป็นข่าวใหญ่ของโลก?

30 เมษายน 2015 คือฤกษ์ดีที่บริษัทเทสลา (Tesla Motors) เปิดตัวสินค้าใหม่ซึ่งจะทำให้เทสลาไม่ใช่แค่ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่จะเป็นแบรนด์ผู้นำชาวโลกให้ร่วมปฏิวัติระบบเก็บพลังงานสำหรับบ้านและอาคารที่เชื่อว่าจะมีอิทธิพลสูงมากในอนาคต
       
สินค้าใหม่ของเทสลาที่ซีอีโอมหาเศรษฐี “อีลอน มัสก์ (Elon Musk)” ภูมิใจนำเสนอนั้นมีชื่อว่า “เทสลา พาวเวอร์วอลล์ (Tesla Powerwall)” ถือเป็นการเปิดตัวสินค้ากลุ่มแบตเตอรี่สำหรับบ้านหรือ home battery product ตามที่มีข่าวลือมาก่อนหน้านี้
       
แนวคิดของ Tesla Powerwall นั้นไม่ต่างจากพาวเวอร์แบงก์ หรืออุปกรณ์เก็บไฟฟ้าสำหรับชาร์จโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไอทีพกพา ที่ผ่านมา ชาวออนไลน์มักเสียบปลั๊กชาร์จไฟเก็บไว้ในพาวเวอร์แบงก์ก่อนจะพกพาขณะเดินทาง เมื่อสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตแบตเตอรี่อ่อน ก็สามารถต่อสายเคเบิลกับพาวเวอร์แบงก์เพื่อชาร์จไฟได้โดยไม่ต้องกังวลว่าสถานที่นั้นจะมีไฟฟ้าใช้งานหรือไม่
       
สำหรับ Tesla Powerwall ผู้ใช้จะสามารถเก็บไฟฟ้าไว้สำรองใช้กับบ้านได้โดยไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยงไฟดับ จุดต่างของ Tesla Powerwall กับระบบสำรองไฟทั่วไปคือการรองรับการเก็บพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซล รวมถึงการทยอยสำรองชาร์จไฟเก็บไว้ในช่วงที่มีผู้ใช้งานน้อย ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ประหยัดค่าไฟได้
       
ไม่เพียงบ้าน แต่ Tesla Powerwall ออกแบบมาสำหรับอาคารสำนักงานด้วย โดยความจุในการเก็บพลังไฟของ Tesla Powerwall แบ่งเป็นรุ่น 10 กิโลวัตต์ชั่วโมงและ 7 กิโลวัตต์ชั่วโมง สนนราคา 3,500 เหรียญสหรัฐและ 3,000 เหรียญตามลำดับ (ราว 112,000 และ 96,000 บาท) ราคานี้เป็นราคาสำหรับผู้ผลิตหรือซับพลายเออร์เท่านั้น ยังไม่รวมค่าติดตั้งและการเชื่อมต่อระบบแปลงไฟ
       
เทสลาระบุว่า แบตเตอรี่สำหรับบ้านนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานพลังงานจากแสงอาทิตย์ของบ้านเรือน ขณะเดียวกันก็สามารถสำรองไฟในกรณีฉุกเฉินได้ โดยนอกจาก 2 รุ่นความจุที่เปิดตัว เทสลามีแผนผลิตแบตเตอรี่สำหรับสำนักงานที่มีความจุมหาศาลสำหรับใช้กับธุรกิจขนาดใหญ่ยิ่งขึ้นในอนาคต

แผนนี้แสดงความเชื่อมั่นของเทสลาในตลาดแบตเตอรี่สำรองไฟสำหรับอาคารบ้านเรือน แม้ว่าสินค้ากลุ่มแบตเตอรี่เพื่อบ้านจะมีแนวโน้มราคาต่ำลงอีกก็ตาม การสำรวจของบริษัทจีทีเอ็มรีเสิร์ช (GTM Research) ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการสำรองพลังงานสหรัฐฯ (Energy Storage Association) พบว่าในขณะที่ตลาดสำรองไฟจะเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มหรือนิช (niche) ซึ่งมีเม็ดเงินสะพัดเพียง 128 ล้านเหรียญเท่านั้นในปี 2014 แต่อัตราเติบโตของตลาดนี้อยู่ที่ 40% คาดว่าปีนี้อัตราการติดตั้งระบบสำรองไฟในสหรัฐฯจะเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าตัว
       
ถึงปี 2019 งานวิจัยของ GTM Research ประเมินว่าตลาดสำรองไฟจะมีมูลค่าสูงแตะระดับ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 48,000 ล้านบาท
       
การเปิดตัว Tesla Powerwall ยังถูกมองว่าจะเป็นแรงหนุนให้สินค้าแบตเตอรี่เพื่อบ้านที่วางจำหน่ายในตลาดขณะนี้มีการปรับปรุงยิ่งขึ้นในราคาที่ต่ำลง โดยระยะยาว Tesla Powerwall จะสามารถปฏิวัติการใช้พลังงานของชาวโลกได้จริง เนื่องจากการสำรองไฟลักษณะนี้สามารถช่วยให้ผู้คนใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเช่นแสงอาทิตย์หรือกังหันลมได้มากขึ้น ขณะที่ลดการใช้พลังงานอย่างน้ำมันลงได้อีกทาง
       
ประเด็นนี้มีนัยสำคัญ โดยนักวิเคราะห์ยอมรับว่าระบบสำรองไฟจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมในตลาดระบบสร้างพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์หรือลมและน้ำ เนื่องจากพลังงานสะอาดเหล่านี้สามารถสร้างไฟฟ้าได้ทีละน้อย ไม่เพียงพอสำหรับการเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมกัน ข้อจำกัดนี้ทำให้ชาวโลกยังต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากน้ำมันหรือทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป
       
นอกจากบ้านและอาคารสำนักงาน Tesla Powerwall ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าด้วย เนื่องจากสามารถประหยัดค่าไฟและเพิ่มความยืดหยุ่นให้ผู้ใช้ โดยเฉพาะในกรณีที่รถไฟฟ้าสามารถใช้เวลากลางคืน ชาร์จพลังงานแสงอาทิตย์ในระบบสำรองไฟได้

การประหยัดค่าไฟก็เป็นอีกจุดขายของ Tesla Powerwall เนื่องจากราคาค่าไฟฟ้าในช่วงที่มีผู้ใช้งานมากน้อยนั้นถูกแพงไม่เท่ากัน Tesla Powerwall จะช่วยให้ผู้ใช้หลีกเลี่ยงค่าไฟในช่วงเวลาที่แพงที่สุดได้ เพราะสามารถทยอยเก็บไฟฟ้าไว้ในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้น้อย
       
…คนไทยรอต่อไปจ้า…

ที่มา : http://manager.co.th/CbizReview/ViewNews.aspx?NewsID=9580000050316