รู้ทันก่อนร่อนใบสมัคร! 7 สิ่งที่ HR ไม่อยากเห็นในเรซูเม่

คำกล่าวที่ว่า “You never get a second chance to make a first impression.” -Unknown คุณไม่สามารถได้รับโอกาสเป็นครั้งที่สองเพื่อสร้างความประทับใจตั้งแต่แรกพบได้นั้นเป็นจริงเสมอ เพราะการที่ฝ่ายบุคคลจำเป็นต้องคัดกรองเรซูเม่เป็นร้อยๆ พันๆ ฉบับที่ส่งเข้ามาเพื่อหาฉบับที่โดนใจและเข้าตามากที่สุดด้วยระยะเวลาอันสั้น การวิจัยจึงชี้ให้เห็นว่าค่าเฉลี่ยของการว่าจ้างตำแหน่งผู้จัดการใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งนาทีในการอ่านเรซูเม่เสียอีก ดังนั้นสิ่งที่เหล่า HR มองหาคืออะไร? และสิ่งที่ผู้สมัครควรหลีกเลี่ยงคืออะไร? มาหาคำตอบไปพร้อมๆ กับ Life on Campus กันดีกว่า..
ชีวประวัติอันแสนน่าเบื่อ!!

ผู้สมัครหลายคนมักชอบที่จะนำเสนอชีวประวัติที่ครอบคลุม รวมไปถึงข้อมูลที่ไม่จำเป็นต้องใส่และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสมัครงานเท่าไหร่นัก ตัวอย่างเช่น บางคนอาจเคยทำงานในช่วงปิดเทอมมา ซึ่งเนื้องานนั้นอาจไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่สมัคร หรือเป็นงานที่ไม่ได้เพิ่มความสนใจให้เหล่า HR เลยสักนิด
ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาคือการใส่ข้อมูลที่เกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานของเราลงไป รวมถึงใส่ทักษะที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่น้องๆ สมัครด้วย เช่นหากบริษัทที่เราสมัครต้องการคนที่มีความสามารถและมีทักษะด้านการตลาด ผู้จัดการฝ่ายจึงต้องการมองหาคนที่ให้ข้อมูลได้ตรงกับความต้องการ มีทักษะและผลงานด้านการตลาดที่เห็นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรม และหากข้อมูลของน้องๆ ไม่เป็นที่เตะตาเตะใจล่ะก็ รับรองว่าเรซูเม่คงต้องไปนอนในลังรวมกับคนอื่นแน่ๆ
รกหูรกตา-ไม่เป็นระเบียบ
เรียกได้ว่าสิ่งแรกเลยที่จะทำให้เหล่า HR ปิดเรซูเมของน้องๆ ไปคือ การใส่ข้อมูลที่ให้ความรู้สึกอึดอัด ตัวอักษรรกสายตาและไม่เป็นระเบียบ เพราะฝ่ายบุคคลจำเป็นต้องใช้เวลาในการกวาดสายตาอย่างรวดเร็วและใช้ระยะเวลาน้อยมาก การแก้ไขที่ดีที่สุดคือการจัดหน้ากระดาษและใส่ข้อมูลให้รัดกุมและมีความกระชับที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยการอ้างอิงถึงชื่อ ตำแหน่งปัจจุบัน และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่เรากำลังสมัคร และต้องทำให้แน่ใจว่าเรามีการร้อยเรียงประวัติการทำงานตั้งแต่จุดเริ่มต้นถึงปัจจุบันได้กระชับและอ่านเข้าใจง่ายที่สุด และที่สำคัญต้องไม่ลืมที่จะเอ่ยถึงความรับผิดชอบและความสำเร็จที่ภูมิใจที่สุดด้วย
เป้าหมายผู้สมัครไม่ชัดเจน! 

หลายคนคงเคยกรอกข้อมูลในเรื่องเหตุผลของการสมัครงาน หรือเหตุผลในการเปลี่ยนที่ทำงาน ด้วยประโยคสุดเบสิคที่ว่า “ต้องการหาตำแหน่งงานที่มีความท้าทายและสามารถเติบโตได้อย่างมืออาชีพ” นั้นจึงเป็นอีกเหตุผลที่ฝ่ายบุคคลเห็นกันจนชินตาเสียแล้ว และอาจทำให้ปิดเรซูเม่ของเราไปดื้อๆ เลยก็ได้ เพราะแท้จริงแล้วสิ่งที่ฝ่ายบุคคลต้องการคือความสามารถและทักษะที่เรามีอย่างแท้จริงมากกว่า
ดังนั้น ผู้สมัครควรให้ความสำคัญไปที่ตัวงาน และตอบคำถามให้ถูกจุดด้วยการเขียนความสามารถ ประสบการณ์การทำงานและทักษะที่เรามี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใกล้ตำแหน่งงานที่ตั้งใจสมัครนี้ไว้ได้มากกว่าการตอบคำถามที่คนอื่นๆ ตอบกันไปแล้วข้างต้นเสียอีก เราจึงควรอ่านรายละเอียดงานให้ชัดเจนอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าความรู้-ความสามารถที่เรามีสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตำแหน่งนั้นๆ ได้หรือไม่
ใส่ข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับงาน
แน่นอนว่าหากผู้สมัครใส่ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมยามว่าง หรือกีฬาที่ชื่นชอบลงมาในเรซูเมแล้วล่ะก็ ฝ่ายบุคคลคงตั้งคำถามกันว่า ‘เกี่ยวกับงานหรือตำแหน่งที่สมัครอย่างไรกัน’ เพราะข้อมูลด้านบนที่ใครหลายคนใส่มาในเรซูเม่นั้น มักจะถูกถามเวลาที่นัดสัมภาษณ์มากกว่า เช่น งานอดิเรกคุณทำอะไรบ้าง กิจกรรมยามว่างของคุณคืออะไร อาจจะถูกถามสัก 2-3 คำถามเพื่อคลายบรรยากาศความตึงเครียด เราจึงไม่ควรที่จะให้ข้อมูลการทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานลงไป แต่หากใครที่เคยมีประสบการณ์หรือเคยทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานที่สมัคร และเราสามารถนำมาเป็นจุดขายเรียกความสนใจจากฝ่ายบุคคลได้ ก็จงอย่าลังเลที่จะเขียนลงไปในเรซูเม่

เหตุผลการว่างงานมีส่วนช่วยในการได้งาน!
แน่นอนว่าการลาออกจากงานหรือการว่างงานเป็นระยะเวลานานล้วนมีผลต่อการตัดสินใจรับเข้าทำงานขององค์กร ดังนั้นเราจึงควรใส่ข้อมูลในช่องว่างระหว่างเวลาตรงนั้นให้กลายเป็นข้อดีเสีย เช่น มีการรับงานฟรีแลนซ์ทำระหว่างที่รองานประจำเรียกสัมภาษณ์ หรือมีการลงเรียนเพิ่มทักษะด้านที่เราสนใจอยู่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อให้ข้อมูลอธิบายไปแล้ว ควรหยิบข้อดีของการทำงานฟรีแลนซ์ หรือการเรียนเสริมทักษะตรงนั้นมาเป็นจุดเชื่อมโยงไปถึงตำแหน่งงานที่สมัครด้วย นั้นอาจเป็นจุดที่ทำให้ฝ่ายบุคคลมองผ่านช่วงเวลาว่างงานของเราไป แต่สนใจทักษะและความรู้ที่เราได้รับมากกว่านั้นเอง
ไม่มีการเคลื่อนไหวในโลกโซเชียล
สำหรับบางองค์กรที่ต้องการเห็นความเคลื่อนไหวและมองหามุมมองดีๆ จากพื้นที่ออนไลน์ของเรานั้น มักใช้เป็นเหตุผลในการเลือกรับเข้าทำงานด้วยเหมือนกัน เช่นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับงานเขียน งานครีเอทีฟสร้างสรรค์ต่างๆ งานด้านเว็บเพจ การที่องค์กรเข้าไปดูเพจหรือเว็บไซด์ส่วนตัวเรานั้นถือเป็นเหตุผลหลักที่เขาต้องการทราบว่าเรามีความคิดและมุมมองอย่างไร มีความคิดสร้างสรรค์มากน้อยแค่ไหน มีความเคลื่อนไหวและมีบทความดีๆ นำเสนอให้เป็นที่น่าสนใจได้เพียงใด
มีการสำรวจออกมาว่า กว่าหนึ่งในสามของผู้จ้างมักมองหาคุณสมบัติเหล่านี้จากผู้สมัคร หรือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เท่ากับ 92 % ขององค์กรซึ่งใช้โซเชียลมีเดียในการเลือกรับพนักงานเข้าทำงาน ดังนั้นเราจึงควรมีการอัพเดตความเคลื่อนไหวอยู่เสมอ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสนใจและความตั้งใจนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ของเราให้คนอื่นได้เห็น

เขียนครั้งเดียว..ส่งทุกที่!!
เชื่อว่าหลายคนคงเคยเขียนเรซูเม่แบบเดียวแต่ส่งไปแทบทุกตำแหน่ง ทุกสายงานและทุกบริษัท แต่นี่เป็นความผิดพลาดที่เราอาจไม่รู้ตัวเพราะตำแหน่งงานแต่ละงานนั้นมีความต้องการที่แตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของคุณสมบัติ ทักษะการทำงาน และประสบการณ์การทำงานต่างๆ และที่สำคัญเลยคือต้องอย่าลืมว่าแต่ละบริษัทนั้นมักมองหาเรซูเม่ที่ให้ข้อมูลได้เหมาะสมกับบริษัทของตน และมีทักษะความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่งที่สมัคร ดังนั้นการเขียนเรซูเม่เพื่อส่งทุกๆ บริษัทนั้นอาจเป็นข้อผิดพลาดอันดับต้นๆ เลยทีเดียว
อ้างอิงข้อมูลจาก..