รายการ American Idol รายการประกวดเพื่อตามหานักร้องชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2002 ครั้งหนึ่งเคยโด่งดังมีผู้ชมกว่า 30 ล้านคน ครองเรตติ้งอันดับ 1 ถึง 8 ปี แต่มาวันนี้สถานี Fox ต้องประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่ารายการนี้กำลังจะปิดฉากลงในซีซันที่ 15 ซึ่งกำลังจะมาถึง ต้นตำรับของรายการประกวดร้องเพลงยุคใหม่ ที่ให้ผู้ชมได้เป็นผู้ตัดสินผ่านการ “โหวต” กำลังจะสิ้นสุดลง เหตุการณ์เป็นอย่างไร และอะไรคือสาเหตุสำคัญ
เรตติ้งดิ่งเหว ยอดขายก็ทรุด
ประวัติศาสตร์ของ American Idol ครั้งหนึ่งเคยสร้างสถิติ เป็นรายการที่มีผู้ชมสูงสุด 38 ล้านวิวในการแข่งขันเมื่อซีซันที่ 2 แต่ในซีซันที่ 14 ซึ่งเป็นซีซันล่าสุดในขณะนี้กลับมีผู้ชมเหลือเพียง 7.74 ล้านวิว ในส่วนของเรตติ้งก็ต่ำสุดตั้งเคยทำมาเช่นกัน ที่เรตติ้ง 1.4 ในกลุ่มผู้ชมอายุ 18-49 ปี ไม่ใช่แค่เรื่องฐานผู้ชมที่น้อยลงโดยเฉลี่ย 38% แต่ยังเป็นเรื่องของผลประโยชน์อย่างอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นตั๋วเข้าชมหรือของที่ระลึกยอดขายก็ลดลงตามไปด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น เป็นเรื่องของความสำเร็จหลังจากลงจากเวทียิ่งเห็นได้ชัดถึงความตกต่ำของเวที American Idol จากเดิม Carrie Underwood ผู้ชนะจากซีซันที่ 4 เคยทำยอดขายได้ 15 ล้านอัลบั้ม กวาดรางวัลแกรมมี อวร์ดส์ไป 7 รางวัล หรือ Kelly Clarksonผู้ชนะจากซีซันแรก ก็เคยขายผลงานได้ 14 ล้านอัลบั้ม ยังมี Jennifer Hudson ผู้เข้าแข่งขันซีซัน 3 ที่ถึงแม้เธอไม่ชนะการแข่งขันแต่ก็โด่งดังจากการเล่นภาพยนตร์เรื่อง Dream Girl จนมีเพลงดัง “And I Am Telling You I’m Not Going” ซึ่งนักร้องหญิงสายดีวาพ่นไฟทั่วโลกนิยมใช้ประกวดร้องเพลงกันอย่างกว้างขวาง ต่างจากผลสำเร็จของผู้ชนะเลิศการประกวดในปัจจุบัน Caleb Johnson แชมป์จากซีซันที่ 13 เปิดดตัวอัลบั้มของเขาในอันดับที่ 24 บนชาร์ตบิลบอร์ด แล้วพอเข้าสัปดาห์ที่ 2 อันดับก็ร่วงแบบกู่ไม่กลับไปอยู่ที่อันดับ 131เรียกได้ว่าทั้งบนเวที และเมื่อลงจากเวทีแล้ว ผลผลิตของ American Idol ไม่เป็นที่นิยมเหมือนที่เคยเป็นมาอีกต่อไปแล้ว ทางสถานี Fox โปรดิวเซอร์ผู้ผลิตรายการจึงประชุมร่วมกันแล้วตัดสินใจประกาศยกเลิกรายการนี้ ปิดฉากตำนานของรายการเรียลลิตี้ หานักร้องด้วยการโหวตที่ซีซัน 15
ใครว่า Reality ประกวดนักร้องต้นทุนถูก
แหล่งข่าวที่ทำงานในรายการนี้กล่าวว่า ผู้ชมบางคนอาจจะคิดว่ารายการประเภท Reality ประกวดนักร้องแบบนี้จะมีต้นทุนไม่สูงนัก แต่ไม่ใช่กับรายการ “American Idol” เพราะแต่ละฤดูกาลสถานีต้องแบกรับต้นทุนกว่า 100 ล้านดอลลาร์ จากค่าตัวของกรรมการระดับ เจนนิเฟอร์ โลเปซ และ มารายห์ แครี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมานั่งแท่นพิธีกรให้กับรายการ American Idol เช่นกัน นักร้องตัวแม่ทั้ง 2 คนนี้ ได้รับค่าตัวคนละ 17.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 18 ล้านเหรียญสหรัฐต่อฤดูกาล ตามลำดับ ขณะที่พิธีกรก็ได้รับค่าตัว 15 ล้านเหรียญต่อ 1 ปี ไหนจะมีค่าโปรดักชันอื่นๆ อีก เพื่อรายการที่ถ่ายทอดสดอาทิตย์ละ 3 ชั่วโมงรายการนี้
และจากสภาพที่เรตติ้งตกต่ำลง ผู้ชมน้อยลง ก็ยิ่งทำให้เกิดสถานการณ์ที่ยากลำบากสำหรับรายการเมื่อสปอนเซอร์เริ่มถอนตัวออกจากรายการ เดิมรายการนี้ได้รับแรงสนับสนุนจาก 3 ยักษ์ใหญ่ ใน 3 อุตสาหกรรม ประกอบไปด้วย AT&T บริษัทโทรคมนาคม Coca-Cola เครื่องดื่มน้ำอัดลมแบรนด์ดัง และ Ford ค่ายรถอันดับต้นๆ ในสหรัฐอเมริกา AT&T ตัดสินใจเลิกต่อสัญญากับรายการนี้เป็นรายแรกตั้งแต่มกราคม ปี 2014 ตามมาด้วย Coca-Cola ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน คงเหลือแต่ Ford เท่านั้น และเมื่อเหลือลูกค้ารายใหญ่เพียงรายเดียว จากเดิมที่รายการนี้จะเริ่มทำ Product Placement ตอนเหลือผู้ประกวด 10 คนสุดท้าย ก็กลายเป็นว่ามีสินค้าและแบรนด์ Ford ให้เห็นกันตั้งแต่เริ่ม ผู้ชมก็เกิดความรู้สึกไม่อยากดูรายการเป็นวงจรที่ฉุดให้สถานการณ์เรตติ้งเลวร้ายลงไปอีก
อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความประทับใจให้ผู้ชมเพื่อปิดท้ายซีซันที่ 15 ให้สวยงามที่สุด ทาง Fox จัดเต็มดึงเอาศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จแล้วมาเป็นแขกรับเชิญทุกๆ สัปดาห์ รวมทั้งดึงตัวกรรมการเก่าๆ กลับมาด้วย นอกจากนี้ได้มีแผนการทำรายการใหม่ร่วมกับกรรมการรุ่นแรกRandy Jackson, Paula Abdul และ Simon Cowell ที่สร้างชื่อเอาไว้ โดยตอนนี้เป็นรายการรูปแบบไหนยังไม่มีข่าวออกมา แต่ที่แน่ๆ คือ น่าจะได้เห็นโปรเจกต์นี้ในปี 2017
เมื่อรายการประกวดเริ่มเดาได้ กลับไปดูรายการที่มีสคริปต์ซะดีกว่า
เหตุผลของการตกต่ำของรายการนี้มาจากการที่คนดูเริ่มเบื่อกับสิ่งที่คาดเดาได้ การประกวดซีซันล่าสุด ผู้ชนะก็คือ Nick Fradiani ซึ่งคู่ชิงของเขาก็คือ Clark Beckham เกิดเป็นภาวะที่ในรอบตัดสินผู้ชายกับผู้ชาย 2 คนแข่งกันอีกแล้ว จนกลายเป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์เรียกว่า “White Guy With a Guitar” Syndrome แค่เป็นผู้ชายผิวขาวเล่นกีตาร์ก็ชนะ ซึ่งคนดูไม่ลุ้น และไม่มีเหตุการณ์ตื่นเต้นอีกต่อไป
อีกปัจจัยหนึ่งของรายการก็คือกรรมการ Jennifer Lopez, Keith Urban และ Harry Connick, Jr. ทั้ง 3 คน เป็นนักร้องดังขวัญใจคนทั่วโลกทั้งในเรื่องการร้องและหน้าตาก็จริง แต่ในการทำหน้าที่เป็นกรรมการของรายการนี้ พวกเขายังมีเสน่ห์ไม่มากพอเท่ากับสิ่งที่กรรมการรุ่นแรกทำเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจารณ์แบบถึงพริกถึงขิงจิกกัดของ Simon Cowell ที่ทั้งพูดถึงผู้เข้าประกวด ไปจนถึงหันมาทะเลาะกับกรรมการด้วยกันเอง กลายเป็นความสนุกที่ผู้ชมชื่นชอบ ทำให้เขาเองก็แจ้งเกิดจากรายการนี้ไปด้วย ก่อนจะไปทำรายการ The X Factor และ Britain’s Got Talent ซึ่งเขาก็พกยี่ห้อกรรมการขาโหดติดตัวไป แล้วคนดูก็เหมือนจะมันกับการที่มีกรรมการสไตล์นี้ในรายการมากกว่าคอมเมนต์ที่เอาแต่อวยผู้เข้าแข่งขัน
ขณะเดียวกันคู่แข่งทั้งแบบรายการเรียลลิตี้ด้วยกันก็มีรูปแบบใหม่ๆ ปรากฏขึ้นมา เช่น เรียลลิตี้ที่เอาชีวิตจริงของเซเลบริตี้มาตีแผ่ที่โด่งดังมากที่สุดก็คงจะเป็นKeeping Up with the Kardashians เรื่องราวของ Kim Kardashian และครอบครัว ซึ่งให้อารมณ์แตกต่างจากการประกวดนักร้อง เพราะผู้ชมดูด้วยความอยากรู้อยากเห็นชีวิตในสังคมชั้นสูงกึ่งหมั้นไส้หน่อยๆ ไม่ใช่อารมณ์รักแบบที่ยอมโหวตให้นักร้อง
แต่ที่ส่งผลกระทบมากที่สุดก็คงจะเป็นการกลับมาของความนิยมในซีรีส์ ตอนนี้รายการที่มีเรตติ้งสูงสุด 3 อันดับแรกของทีวีอเมริกา ได้แก่ The Walking Dead ซีรีส์ซอมบี้ครองโลก และการเอาตัวรอดของพระเอกในฐานผู้นำของกลุ่ม เล่นกับความรู้สึกด้านมืดของจิตใจมนุษย์ที่น่ากลัวยิ่งกว่าซอมบี้, Duck Dynasty ซีรีส์กึ่งเรียลลิตี้เล่าเรื่องธุรกิจของครอบครัว Robertson ที่มีอาชีพล่าฝูงเป็ด และ Game of Thrones ซีรีส์แฟนตาซีที่ตัวเอกต้องแย่งชิงอำนาจกัน เต็มไปด้วยการชิงไหวชิงพริบ สงคราม การเมืองและฉากวาบหวาม ถ้าไม่นับ Duck Dynasty ซึ่งบางฉากก็ดูเพี้ยนและรุนแรงเกินไปแล้ว อีก 2 เรื่องก็ยังได้รับความนิยมในประเทศไทยและทั่วโลก กลายเป็นแม่เหล็กที่นอกจากจะฉายในสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังได้รายได้จากลิขสิทธิ์ต่างประเทศหรือการรับชมช่องทางอื่นอีก
ซีรีส์เหล่านี้ขายที่ตัวบทเป็นหลัก ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับพวกรายการเรียลลิตี้หรือรายการประกวดที่คาดเดาเหตุการณ์อะไรไม่ได้เลย แต่เมื่อรายการที่น่าเดาไม่ได้ ดันเดาได้ขึ้นมา ผู้ชมจึงขอไปเสพผลงานเขียนบทที่ได้รับการวางแผนและคิดมาเป็นอย่างดีแล้ว ซึ่งย้อนกลับไปในยุคของการเริ่มต้นของรายการแบบเรียลลิตี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการที่สมาพันธ์ผู้เขียนบทรวมตัวกันสไตรก์จนไม่มีบทให้นักแสดงเล่นนี่แหละ ซึ่งส่งผลที่สุดกับสถานีโทรทัศน์ที่ต้องหาคอนเทนต์มาออนแอร์อย่างต่อเนื่อง (ถ้าเป็นค่ายหนังยังเลื่อนถ่ายทำ ชะลอโปรเจกต์ไว้ก่อนได้บ้าง) สถานีเลยต้องแก้เกมโดยการทำรายการที่ไม่ต้องมีสคริปต์ซะเลย แต่ในที่สุดดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์จะวนลูปกลับมาที่จุดตั้งต้น
สถานการณ์ที่รายการเรียลลิตี้เรตติ้งตกลงเกิดขึ้นกับทุกๆ รายการ ไม่ว่าจะเป็น
– Celebrity Apprentice : ที่เทป Finale ปิดท้ายซีซันกวาดผู้ชมไปได้แค่ 5.3 ล้านวิว ต่างจากที่เคยทำได้ 11 ล้านวิว
– Dancing with the Star : มีผู้ชม 13.8 ทั้งๆ ที่เมื่อ 3 ปีกอ่นยังมีผู้ชมอยู่ 25 ล้านวิว
– Survivor : ขนาดเรียลลิตี้สไตล์ทึกอึดเอาตัวรอด ที่เน้นกลุ่มเป้าหมายต่างจากรายการประกวดร้องเพลงโดยสิ้นเชิง ก็มีแนวโน้มเดียวกัน จากที่เคยได้ผู้ชมในซีซันแรก 36 ล้านวิว เหลือเพียง 8.3 ล้านวิว
ท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ของรายการเรียลลิตี้ มีเพียง The Voice รายการเดียวเท่านั้น ที่สถานการณ์ดูจะไปได้สวย กล่าวคือ ปัจจุบันได้ยอดผู้ชม 14.6 ล้านวิว ขยับขึ้นจากซีซันแรกที่มีผู้ชม 12.6 ล้านวิว อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาโดยละเอียดจะพบว่า รอบที่ผู้ชมให้ความสนใจมากที่สุดก็คือรอบ Blind Audition แต่พอมาถึงรอบ Final กลับมีผู้ชมน้อยกว่าซะอีก เพราะว่าเมื่อถึงรอบท้ายๆ The Voice ก็เหมือนรายการประกวดร้องเพลงที่อาศัยการโหวตเหมือนรายการอื่นๆ
เรียลลิตี้ประกวดนักร้องไทยสิ้นมนต์ขลังหรือยัง
ในประเทศไทย รายการเรียลลิตี้เฟ้นหานักร้อง2 รายการที่กลายเป็นตำนานไปแล้วกับ Academy Fantasia หรือ AF ปฏิบัติการล่าฝันมาแล้ว 12 ปี กับ The Star ออนแอร์มาถึง 11 ปีเต็ม ทั้งสองรายการตอนนี้ไม่ได้ออกอากาศทางฟรีทีวีเดิมอีกแล้ว เนื่องจากต้นสังกัดคือ ทรู และจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มีช่อง “ทีวีดิจิตอล” เป็นของตัวเอง จึงนำรายการไปออกอากาศในช่องของตัวเอง
ด้วยจำนวนผู้ชมช่องดิจิตอลยังน้อยกว่าช่องฟรีทีวีเดิม ทำให้ผู้ชมมีความผูกพันกับผู้เข้าแข่งขันไม่มากเท่ากับสมัยออกอากาศในฟรีทีวี จนต้องปรับรูปแบบ ในส่วนของเวที Academy Fantasia ที่ออนแอร์มาถึง 12 ปีแล้ว จึงต้องมีการปรับตัว เจาะกลุ่มเป้าหมายกระเป๋าหนักเฉพาะ เอาใจคนกลุ่มเล็กๆ แต่เหนียวแน่น ดูผู้เข้าแข่งขันเหมือนดูพัฒนาการและสนับสนุนลูกหลาน
ค่ายทรูเองนั้นยังคงยืนยันที่จะออกอากาศ AF ต่อไป เพราะประเมินแล้วว่าเป็นรายการที่คนรู้จักดีอยู่แล้ว และเมื่อมีช่องทีวีดิจิตอลของตัวเอง ก็ยิ่งต้องการ “คอนเทนต์” ที่เป็นแม่เหล็กมาออกอากาศ และยังมีในเรื่องของการปั้น “ศิลปิน” ในสังกัดที่นำมาต่อยอดให้เป็นนักร้อง นักแสดง หรือ เป็นพรีเซ็นเตอร์ ให้กับค่ายทรู ที่มีธุรกิจหลากหลายได้ด้วย
ขณะที่ The Star เพื่อเน้นสร้างบุคลากรป้อนช่องทีวีของแกรมมี่และเอ็กแซ็กท์ และยังคงค้นฟ้าคว้าดาวกันต่อ ด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างกันนัก
จะมีแค่ The Voice ที่ดูจะยังแรงอยู่รายการเดียวที่สร้างกระแสให้คนพูดถึงได้ในวงกว้าง ประกอบกับออกอากาศในช่องฟรีทีวีเดิม อย่างช่อง 3 แล้วมี KPN สร้างสีสันได้บ้างในบางครั้ง กับรายการประกวดร้องเพลงย่อยๆ ตามรายการทีวีมากมาย ซึ่งแต่ละรายการก็มีรูปแบบที่เป็นกิมมิกต่างกันออกไป ต้องยอมรับว่าถึงแม้บางครั้งจะเบื่อกับรายการแบบนี้แล้ว แต่อุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศไทยก็ยังมีรูปแบบรายการทางเลือกให้กับผู้ชมไม่มากนัก หรือรายการแปลกๆ ใหม่ๆ ก็ไม่เป็นที่นิยม รายการเรียลลิตี้ประกวดร้องเพลงที่สหรัฐอเมริกาต้นแบบเรื่องวัฒนธรรม Pop Culture เริ่มส่งสัญญาณให้เห็นแล้วว่าเริ่มทรุดลงเรื่อยๆ แต่ในประเทศไทยก็คงต้องรอดูกันต่อไป