ASTVผู้จัดการออนไลน์ – สำนักงานอัยการสูงสุด ส่งความเห็นเลื่อนจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวีดิจิตอล งวดที่ 2 แก่ กสทช. หลัง 24 พ.ค. นี้ ระบุทำไม่ได้ เหตุประกาศ กสทช. กำหนดหลักเกณฑ์ตายตัว หนำซ้ำประกาศ คสช. ให้นำรายได้ส่งเข้าแผ่นดิน อีกทั้งไม่ใช่นิติกรรมในทางแพ่ง จึงใช้ประมวลแพ่งตกลงกันไม่ได้ แม้จะเปิดช่องแก้ไขกฎหมายแต่จะเจอข้อหาเอื้อประโยชน์เอกชน เตือนทำด้วยความรอบคอบ พบช่อง 7 รายเดียวจ่ายครบ ขณะที่ไตรมาสแรก กลุ่มธุรกิจสื่อขาดทุนยับ
วันนี้ (20 พ.ค.) นายวีรพล ปานะบุตร รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรณีการเลื่อนกำหนดระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ หลังกำหนดระยะเวลาในการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ งวดที่ 2 จะครบกำหนดในวันที่ 24 พ.ค. นี้ และผู้ชนะการประมูลได้มีหนังสือยื่นข้อร้องเรียน เพื่อขอให้ กสทช. เลื่อนกำหนดระยะเวลาในการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ งวดที่ 2 ออกไปอีก 1 ปี โดยอ้างว่าอุตสาหกรรมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลไม่เติบโตตามที่คาดหมาย
ทั้งนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว เห็นว่า ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 ข้อ 10 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การแยกชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ในงวดต่างๆ ไว้เป็นการตายตัว มิได้เปิดช่องให้ กสทช. สามารถใช้ดุลยพินิจเลื่อนกำหนดระยะเวลาการชำระในงวดใดๆ ได้ ประกอบกับประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 80/2557 ลงวันที่ 9 ก.ค. 2557 ให้เงินที่ได้จากการประมูลเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วให้นำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน แทนการให้นำส่งเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ อันเป็นกองทุนในสำนักงาน กสทช. เอง ตามบทบัญญัติเดิม
นอกจากนี้ กำหนดการชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ เป็นไปตามประกาศ กสทช. ซึ่งเป็นกฎหมายอนุบัญญัติของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 หาใช่เป็นนิติกรรมในทางแพ่งที่คู่สัญญาอาจตกลงกันเลื่อนกำหนดระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมหรืออาจนำมาตรา 205 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับได้ กสทช. จึงไม่อาจเลื่อนกำหนดเวลาการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 2 ให้แก่ผู้ชนะการประมูลดังที่หารือได้ นอกเสียจากจะได้มีการแก้ไขประกาศ กสทช. ให้สามารถเลื่อนได้ หรือออกประกาศ กสทช. ฉบับใหม่เพื่อผ่อนผันการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตามประกาศ กสทช. ฉบับดังกล่าวเสียก่อน
“แต่ทั้งนี้ โดยที่การประมูลได้เสร็จสิ้นไปแล้ว การแก้ไขหรืออกประกาศฉบับใหม่ดังกล่าวจะมีผลเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนบางรายหรือไม่ รวมทั้งจะเป็นการทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในบรรดาผู้เข้าประมูลหรือไม่ กรณีเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ กสทช. พึงพิจารณาด้วยความได้เปรียบเสียเปรียบในบรรดาผู้เข้าประมูลหรือไม่ กรณีเป็นปัฐหาข้อเท็จจริงที่ กสทช. พึงพิจารณาด้วยความรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจมีปัญหาข้อกฎหมายว่าการออกประกาศให้มีผลย้อนหลังไปถึงการประมูลที่เสร็จสิ้นไปแล้วจะสามารถกระทำได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ควรจัดได้หารือคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เป็นที่ชัดเจนเสียก่อน” ความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุ
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ บริษัท บีบีทีวี แซทเทลวิชัน จำกัด เจ้าของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 เอชดี เป็นรายแรกและรายเดียวที่มาจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิทัลงวดที่ 2 วงเงิน 683.73 ล้านบาท เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา ส่วนรายอื่นยังไม่มีการจ่ายเงิน ขณะเดียวกัน กสทช. ทำหนังสือไปสอบถามเรื่องการขอเลื่อนจ่ายเงินงวดที่ 2 จากสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่มีเพียงสำนักงานอัยการสูงสุดที่ตอบกลับมา ทำให้การพิจารณาเรื่องนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ รวมทั้งอาจจะมีผลทำให้การจ่ายเงินประมูลงวดที่ 2 ต้องเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ หากผู้ประกอบการไม่สามารถจ่ายเงินได้ตามกำหนด จะต้องชำระค่าธรรมเนียมเพิ่ม 7.5% ของยอดเงินที่ต้องชำระต่องวด โดยเงินประมูลทีวีดิจิตอลรอบ 2 วงเงินรวมทั้งหมด 8,124 ล้านบาท
อนึ่ง ก่อนหน้านี้กลุ่มธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ที่เข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอลได้รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2558 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่มีผลประกอบการขาดทุน ได้แก่ บริษัท นิวส์เน็ตเวิร์ค จำกัด (มหาชน) เจ้าของสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ขาดทุนสุทธิ 173.61 ล้านบาท, บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เจ้าของสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ทีวี เอชดี ขาดทุนสุทธิ 117.05 ล้านบาท, บริษัท โมโนเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เจ้าของสถานีโทรทัศน์โมโนทเวนตี้ไนน์ ขาดทุนสุทธิ 68.05 ล้านบาท, บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เจ้าของสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ขาดทุนสุทธิ 41.55 ล้านบาท, บริษัท เวิร์คพอยท์เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ขาดทุนสุทธิ 11.42 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังพบว่า มีบางบริษัทฯ ที่มีผลประกอบการกำไรสุทธิลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน อาทิ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เจ้าของสถานีโทรทัศน์ เอ็มคอท เอชดี กำไรสุทธิลดลง 170.34 ล้านบาท, บริษัท บีอีซี เวิล์ด จำกัด (มหาชน) เจ้าของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ซึ่งถือใบอนุญาต 3 ช่อง กำไรสุทธิลดลง 404.59 ล้านบาท มีเพียงบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือใบอนุญาต 2 ช่อง และบริษัท เนชั่น บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือใบอนุญาต 2 ช่อง กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มีกำไรสุทธิ 376.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเมื่อปีก่อนขาดทุนสุทธิ 791.70 ล้านบาท และเนชั่นฯ มีกำไรสุทธิ 3.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเมื่อปีก่อนกำไรสุทธิ 2.95 ล้านบาท