1 ปีทีวีดิจิตอล…ปิดฉากทีวีพูล

เลิกแล้วค่ะ ! เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล ปิดฉาก “ทีวีดิจิตอล” เป็นรายแรก ส่งคืนสัมปทาน 2 ช่องดิจิตอล ไทยทีวี และ LOCA ให้กับ กสทช. หลังจากเป็นเจ้าของฟรีทีวีได้แค่ปีเดียว

นับเป็นการ “ปิดฉาก” ธุรกิจ “ทีวีดิจิตอล” เป็นรายแรกจากจำนวน 24 ราย หลังจากที่ เจ๊ติ๋ม พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ได้นำพาทีวีพูลเข้าชิงชัย เพื่อหวังจะนำพา “ทีวีพูล” ที่เธอก่อร่างสร้างมาจากสิ่งพิมพ์และทีวีดาวเทียม และก้าวเข้าสู่สนาม “ทีวีดิจิตอล” เติมเต็มความฝันของการเป็นเจ้าของฟรีทีวีได้เพียงแค่ 1 ปี 

จะว่าไปแล้ว การที่ “เจ๊ติ๋มได้ยื่นเรื่องขอเลิกใบอนุญาตและการประกอบกิจการทีวีดิจิตอลทั้ง 2 ช่อง คือ ช่องไทยทีวี ช่องข่าวและสาระ และช่อง LOCA ช่องเด็กและครอบครัว อาจไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายนัก

เพราะก่อนหน้านี้ เจ๊ติ๋มได้ประกาศไปแล้วว่า จะ“ไม่จ่ายค่าสัมปทาน งวดที่ 2” เนื่องจากเธอคาดการณ์ผิด ธุรกิจทีวีดิจิตอลไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิดไว้ หลังจากขาดทุนไปแล้ว 300 ล้านบาท จากเงินลงทุนที่จ่ายไป 1,000 ล้านบาท

เธอยังระบุด้วยว่า นอกจากคาดการณ์ธุรกิจผิดแล้ว เธอยังโทษว่าเป็นความผิดของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่ไม่สามารถทำตามแผนแม่บท

“ใครจะจ่ายค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอลก็จ่ายไป แต่เราไม่ยอมจ่ายแน่ๆ ยอมรับว่าเราคาดการณ์ผิดพลาด ที่ไปประมูลมาสองช่อง เหมือนล่องเรืออยู่แล้วเห็นสิ่งใหม่ดีกว่า ก็ไปร่วมและก็ไม่ได้ดีอย่างที่คิดไว้”

(อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง เจ๊ติ๋มทีวีพูล ยอมรับ “คาดการณ์ผิด” ทีวีดิจิตอลไม่สวยหรูอย่างที่คิด http://www.positioningmag.com/content/60268)

เธอได้ดิ้นหาทางออกด้วยการให้บริษัท MV Television (MVTV) ที่มีชัยยุทธ ทวีปวรเดช  เป็นเจ้าของ เข้ามาเป็นพันธมิตรผลิตรายการในทีวีดิจิตอลทั้ง 2 ช่อง ตามช่องทางที่กฎหมายเปิดให้ คือ 40% หรือ 9 ชั่วโมงต่อวัน เจ๊ติ๋มยืนยันว่า เธอไม่ได้ขายหุ้น แต่เป็นข้อตกลงการทำธุรกิจร่วมกัน 5 ปี แต่เธอเองจะเข้าไปถือหุ้นใน MVTV จำนวนหนึ่ง แต่ไม่เปิดเผยว่าเป็นสัดส่วนเท่าใด
 
รวมทั้งยังได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนในบริษัทไทยทีวี จาก 200 ล้านบาท เป็น 800 ล้านบาท  พร้อมกับได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายน 2558 ซึ่งรายชื่อของผู้ถือหุ้นใหม่ก็ไม่ธรรมดา นอกจากยังคงมีชื่อของ บิ๊กโอสถสภา อย่าง ธนา ไชยประสิทธิ์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด ถือหุ้นอยู่แล้ว ยังมีชื่อของบิ๊กทหาร เช่น พลเอก มงคล เผ่าพงษ์คล้าย ซึ่งทำงานเป็นรองเลขาธิการของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และพลเอก ธวัชชัย สมุทรสาคร เพื่อนร่วมรุ่น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเป็นประธานบอร์ด บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด

เจ๊ติ๋มระบุด้วยว่า หลังจากปรับโครงสร้างบริษัทแล้ว เธอจะหันไปเปิดช่องทีวีพูลบนแพลตฟอร์ม “ทีวีดาวเทียม” เพื่อกลับไปยืนใน “จุดเดิม” อีกครั้ง

“หลังปรับโครงสร้างบริษัทฯแล้ว เราจะไปทำช่องทีวีดาวเทียม การเข้าสู่ทีวีดิจิตอล เพราะเราคิดว่ามีตลาดใหม่ที่ไฉไลกว่าเก่า แต่เมื่อตัดสินใจผิด ก็ต้องกลับไปยืนในจุดเดิมอีกครั้ง”

เจ๊ติ๋มมองว่า หลังจากที่ไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทาน งวดที่ 2 แล้ว จะทำให้เธอกลับมาพ้นขีดอันตราย พลิกจากขาดทุนมากำไร เพราะค่าใช้จ่ายหลักๆ อย่างค่าคอนเทนต์ไปตั้งแต่ปีที่แล้ว และยังมี MVTV มาช่วยเรื่องรายการ และหารายได้ร่วมกัน

หนำซ้ำเจ๊ติ๋มยังวาดฝันนำไทยทีวีเข้าตลาดหลักทรัพย์ MAI ในปีหน้า ด้วยมูลค่าธุรกิจรวมประมาณ 6,000 ล้านบาท เพราะรวมกับสื่อสิ่งพิมพ์บันเทิงที่เป็นรายได้หลักของเธอด้วย

แต่เอาเข้าจริงแล้วกลับไม่เป็นไปตามที่เธอวาดฝันไว้ ส่วนหนึ่งก็มีกระแสข่าวว่า  สัมพันธภาพระหว่างเจ๊ติ๋มและพันธมิตรอย่าง MVTV  เริ่มมีปัญหา เนื่องจากสไตล์การบริหารงานของเจ๊ติ๋มที่มักจะกุมอำนาจการตัดสินใจไว้เบ็ดเสร็จ ไม่ปล่อยให้ MVTV เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร 

ขณะเดียวกัน MVTV ก็มีอุปสรรคในเรื่องการเข้ามาผลิตรายการให้กับช่อง LOCA เนื่องจากรายการส่วนใหญ่ของ MVTV เป็นลิขสิทธิ์ภาพยนตร์จีน เป็นคนละแนวทางกับช่องเด็ก และครอบครัว ซึ่งมีกฎเกณฑ์และกติกามากกว่าปกติ 

จะว่าไปแล้ว ปัญหาการไม่ลงรอยกับพันธมิตรเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ตั้งแต่ในช่วงที่เจ๊ติ๋มไปชักชวนค่ายโพสต์ พับลิชชิ่งให้มาผลิตรายการในช่องไทยทีวี แต่ต้องแยกทางกันในที่สุด รวมถึงการดึงมืออาชีพอย่างนรินทร ณ บางช้าง ก็ต้องโบกมืออำลากันไป

นอกจากนี้ สถานการณ์ของไทยทีวีก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เรตติ้งของรายการอยู่ในอันดับท้ายๆ ยังถูกวิจารณ์เรื่องของคุณภาพรายการ ขาดจุดเด่น ส่วนการผลิตละครที่เดิมตั้งใจจะมาชนกับช่อง 7ก็มีกระแสข่าวมาตลอดว่าต้องหยุดถ่ายทำเพราะไม่มีเงินทุนทำต่อ จนเจ๊ติ๋มได้ออกมาปฏิเสธว่าสายป่านยาวพอจะอยู่ต่อไปได้ไม่เดือดร้อนก็ตาม แต่ในที่สุดก็ต้องเลื่อนออกอากาศไป

ไม่เพียงแต่ปัญหาภายใน สภาพเศรษฐกิจก็ไม่เป็นใจ เม็ดเงินโฆษณาที่คาดหมายไว้ไม่ได้มากมายอย่างที่ประเมินไว้ ช่องทีวีดิจิตอลเวลานี้ต้องแข่งขันดุเดือดเลือดพล่าน แข่งกันลดแลกแจกแถม ยิ่งช่องไทยทีวีสู้รายอื่นไม่ได้ หากปล่อยต่อไปจะยิ่งลำบาก เพราะนอกจากค่าสัมปทานแล้ว ยังมีค่าผลิตคอนเทนต์ หากยังยื้อต่อไปอาจยิ่งเจ็บหนัก สู้หันกลับไปสู่ธุรกิจเดิมอย่างทีวีดาวเทียม น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า 

จนในที่สุดก็นำไปสู่การไม่จ่ายเงินค่าสัมปทานทีวีดิจิตอล งวดที่ 2 ประกอบไปด้วย ช่องไทยทีวี 176.80 ล้านาท และช่อง Loca  92.80 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 269.60 ล้านบาท ให้กับ กสทช.ตามเดดไลน์ที่ กสทช.ประกาศไว้ คือวันที่ 25 พฤษภาคม 2558  หากไม่จ่ายจะต้องเสียค่าปรับ 7.5% ต่อปี

ที่สำคัญ ในวันที่ 25 พฤษภาคม เจ๊ติ๋มยังได้ทำหนังสือไปที่ กสทช. เพื่อขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิตอล 2 ช่อง คือ ช่องไทยทีวี และช่อง LOCA ซึ่งได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2557 

ในหนังสือระบุว่า สาเหตุที่ต้องคืนใบอนุญาตทีวีดิจิตอล เป็นเพราะ กสทช.ไม่ได้ควบคุมและกำกับดูแลให้การเปลี่ยนแปลงทีวีดิจิตอลเป็นไปตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงฯ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ประกอบการอย่างร้ายแรง แม้ว่าจะส่งหนังสือบอกกล่าวแล้วหลายครั้ง โดยให้มีผลตั้งแต่ 15 วัน นับตั้งแต่ กสทช.ได้รับหนังสือฉบับนี้ โดยที่บริษัทไม่จำเป็นต้องเยียวยา เพราะผู้ชมทีวีดิจิตอลมีไม่มาก

ทางด้าน กสทช.เองออกมาระบุไว้ชัดเจนว่า ถึงแม้ไทยทีวีจะขอคืนใบอนุญาตก็ตาม แต่ก็ต้องจ่ายเงินค่าสัมปทานอยู่ดี เพราะในสัญญาระบุไว้ว่า หากผู้ประกอบการไม่ดำเนินการต่อ จะต้องจ่ายค่าสัมปทานทีวีดิจิตอลให้ครบตามกำหนด โดย กสทช.ได้ให้ผู้ประกอบการทำ “แบงก์การันตี” ไว้ครอบคลุมค่าสัมปทานทั้ง 6 ปีไว้แล้วล่วงหน้าแล้ว

นั่นหมายความว่า ไทยทีวีจะต้องจ่ายเป็นค่าสัมปทานทีวีดิจิตอล  2 ช่อง เป็นเวลา 6 ปี  โดยแบ่งเป็น ช่องไทยทีวี จ่าย 1,321 ล้านบาท ช่อง LOCA จ่าย 648 ล้านบาท รวมมูลค่า 2 ช่อง ที่ต้องจ่าย 1,960 ล้านบาท โดย กสทช.สามารถหักจากแบงก์การันตีได้ทันที เป็นเรื่องที่ทั้งไทยทีวี และ กสทช.ต้องเจรจากันต่อ

แต่การปิดฉากทีวีดิจิตอลของเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล หลังจากใช้เวลาเข้าสู่ธุรกิจนี้เพียงแค่ปีเดียว  ได้สะท้อนถึงสถานการณ์ของทีวีดิจิตอลที่ยังเต็มไปด้วยปัญหาและความท้าทาย ช่องที่อยู่รอดได้ ต้องมีสายป่านยาวพอ และสู้ด้วยคุณภาพรายการ

สถานการณ์ของทีวีดิจิตอลเองก็ไม่สู้ดี ถึงแม้จะมีการระบุถึงยอดโฆษณาและ “เรตติ้ง” ของทีวีดิจิตอลเพิ่มสูงขึ้นจนแซงหน้า “ทีวีอนาล็อก” บางช่องไปแล้วด้วยซ้ำ แถมมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาทีวีดิจิตอลยังสูงขึ้นทุกเดือน

แต่เอาเข้าจริงแล้ว กลับไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด มีเดียเอเยนซีต่างก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันแล้วว่า การประเมินตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาทีวีดิจิตอลนั้นสูงเกินจริงถึง 60-80 %

ล่าสุด สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด ออกมาบอกแล้วว่า ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาทีวีดิจิตอลที่ “นีลเส็น” เปิดเผยออกมานั้น สูงเกินความเป็นจริงร่วม 60-70% เนื่องจากทีวีดิจิตอลมีการลดราคาโฆษณาลงมาจากราคาตั้ง (Red Card) ไม่ต่ำว่า 70-80%  ซึ่งเธอมองว่า ช่องทีวีดิจิตอลที่จะอยู่รอดได้ต้องมี “สายป่าน” ยาวจริงๆ เพราะถึงแม้ว่าบางช่องจะมีเรตติ้งดีก็จริง แต่ในแง่โฆษณากลับไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจนิ่งมาก เอเยนซีโฆษณาส่วนใหญ่ให้คำตอบว่า ลูกค้าไม่มีเงินโฆษณา เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ทั้งในช่วงที่มีการประท้วง หรือมีเรื่องภัยธรรมชาติ แต่พอผ่านไปลูกค้าก็กลับมาลงโฆษณา ทำให้คาดการณ์ได้ยากว่า ครึ่งปีหลังภาพรวมของเม็ดเงินโฆษณาทีวีดิจิตอลจะเป็นอย่างไร 

ทีวีดิจิตอลบางช่องที่มีเรตติ้งสูงขึ้นตลอด และเคยประกาศขึ้นค่าโฆษณาเป็นเท่าตัวตั้งแต่ต้นปี ก็ยังทำไม่ได้ เพราะโฆษณาไม่ลง ต้องปรับลดราคาค่าโฆษณาลงมาอีกครั้ง เพื่อให้โฆษณากลับมาอีกครั้ง สะท้อนว่าเอเยนซีเองยังไม่พร้อมจะทุ่มเงินให้กับทีวีดิจิตอล

มีเดียเอเยนซีและเจ้าของสินค้าบอกไปในแนวทางเดียวกันว่า ถึงแม้ว่าจะเริ่มใช้งบโฆษณาไปกับทีวีดิจิตอลแล้วก็ตาม แต่จะเลือกบางช่องที่มีเรตติ้งสูงจริงๆ โดยยังคงเลือกช่องทีวีอนาล็อกเดิม เพราะมีฐานคนดูจำนวนมากก่อน แม้ว่าอัตราค่าโฆษณาช่องอนาล็อกจะสูงมากกว่าช่องดิจิตอลก็ตาม ทำให้สถานการณ์ของ “ทีวีดิจิตอล” ยังตกที่นั่งลำบาก บางช่องเริ่มลดต้นทุนด้วยการนำรายการมา “รีรัน” เพื่อประคับประคองธุรกิจไว้ เพราะงานนี้ ใครสายป่านยาวย่อมมีโอกาสรอดได้มากที่สุด ส่วนใครจะเป็นรายต่อไป ต้องลุ้นกันต่อ