เปิดวิถีไมโครซอฟท์ “Windows 10” 1 พันล้านชิ้น

เป้าหมายหลักที่ไมโครซอฟท์ตั้งเป็นธงชัยไว้สำหรับระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ของบริษัทอย่าง วินโดวส์ 10 (Windows 10) ที่เรียกว่าเป็นระบบปฏิบัติการแบบใหม่ถอดด้าม ไม่ใช่เวอร์ชันที่อัปเกรดมาจากวินโดวส์ 8 หรือวินโดวส์รุ่นก่อนหน้าเหมือนที่เคยทำมา คือ การที่จะต้องมีอุปกรณ์ที่ใช้งานทั้งหมด 1 พันล้านชิ้น ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า
 
ถ้าเทียบกับประวัติศาสตร์ของไมโครซอฟท์แล้ว อุปกรณ์ 1 พันล้านชิ้น ที่ใช้งานวินโดวส์ 10 อาจจะดูไม่ใช่จำนวนที่มหาศาลจนไม่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ก็เพราะด้วยการที่ในช่วงที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ไม่ได้ผลักดันให้ผู้ใช้มีการอัปเกรดระบบปฏิบัติการให้ใหม่ล่าสุดอยู่เสมอนี่ล่ะที่ทำให้จุดนี้ถือเป็นงานช้างในการก้าวข้ามไป
 
เหตุผลหลักเลยก็คือ ในกลุ่มผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ปัจจุบันที่มีการใช้งานวินโดวส์อยู่ส่วนใหญ่กังวลว่าเมื่อมีการอัปเกรดแล้วจะทำให้การใช้งานได้ยากขึ้น รวมไปถึงความกังวลต่อการที่โปรแกรมเดิมที่เคยใช้งานจะไม่สามารถใช้งานได้บนระบบปฏิบัติการใหม่ในกลุ่มลูกค้าองค์กร ไม่นับรวมกับกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานแบบซอฟต์แวร์เถื่อนอีก
 
ทำให้ในปัจจุบันสัดส่วนผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ของไมโครซอฟท์ ยังมีหลากหลายมาก แม้ว่าวินโดวส์ 8 (Windows 8) จะเปิดตัวออกมาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ยังคงใช้งานวินโดวส์ 7 (Windows 7) มากกว่าครึ่ง ขณะที่สัดส่วนการใช้งานระหว่างวินโดวส์ เอ็กซ์พี (Windows XP) ที่เรียกได้ว่าเป็นระบบปฏิบัติการที่ล้าสมัยไปแล้ว กลับมีสัดส่วนการใช้ใกล้เคียงกับวินโดวส์ 8 และ 8.1 รวมกัน
 
ยิ่งถ้านับรวมกับอุปกรณ์ที่เป็นเครื่องจักรแบบในอุตสาหกรรมต่างๆ กว่า 80% ในตลาดที่ใช้งานวินโดวส์อยู่ด้วยแล้ว ปริมาณตัวเลข 1 พันล้านชิ้นที่ไมโครซอฟท์ตั้งไว้ไม่ใช่จำนวนที่มากเลย แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะทำให้ผู้ใช้ส่วนใหญ่เหล่านี้เปลี่ยนไปใช้งานวินโดวส์ 10 ได้อย่างไร นี่คือภารกิจหลักที่ไมโครซอฟท์ต้องเร่งทำก่อนการเปิดตัววินโดวส์ 10 อย่างเป็นทางการในวันที่ 29 ก.ค.2558 
 

เจสสิก้า ตัน กรรมการผู้จัดการ ไมโครซอฟท์ (สิงคโปร์)
 
ลูกค้าเก่าอัปเกรดฟรี
 
1 ใน 3 กลยุทธ์หลักที่ไมโครซอฟท์นำมาใช้หนีไม่พ้นการแจกให้ผู้ใช้งานเก่าได้อัปเกรดเข้าสู่ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 ได้ฟรีแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ดังจะเห็นได้จากการส่งข้อความขึ้นมาปรากฏบนหน้าจอผู้ใช้งานวินโดวส์ในปัจจุบันว่า สนใจที่จะอัปเกรดไปใช้งานวินโดวส์ 10 หรือไม่ พร้อมกับมีโปรแกรมตรวจสอบอุปกรณ์ในตัวเครื่องว่ารองรับการใช้งานหรือไม่
 
นี่ถือเป็นก้าวแรกที่ไมโครซอฟท์ ประกาศออกมาพร้อมๆ กับการเปิดตัววินโดวส์ 10 และแน่นอนว่า ย่อมมีผู้บริโภคที่สนใจว่ากรณีใช้วินโดวส์เถื่อนอยู่จะสามารถอัปเกรดได้หรือไม่ คำตอบก็คือไม่สามารถอัปเกรดได้ จนกว่าจะมีการซื้อวินโดวส์แบบลิขสิทธิ์มาใช้งาน โดยทางไมโครซอฟท์จะเปิดให้อัปเกรดฟรีในวันที่ 29 ก.ค. เช่นเดียวกัน
 
แน่นอนว่าถ้าลูกค้าเก่าที่ใช้งานวินโดวส์ 7 หรือ 8 ทั้งหลายหันมาอัปเกรดไปใช้งานวินโดวส์ 10 กันหมด ไมโครซอฟท์ก็จะมียอดผู้ใช้งานวินโดวส์ 10 เพิ่มขึ้นมาหลายร้อยล้านชิ้นทันที หรือถ้าลูกค้าไม่อัปเกรดทันทีไมโครซอฟท์ก็มีระยะเวลาให้รออัปเกรดได้ภายใน 1 ปีหลังจากเปิดตัว
 
แต่นั่นก็เป็นเพียงภาพที่ไมโครซอฟท์วาดฝันไว้เฉยๆ เพราะในความเป็นจริง ถ้าดูจากการอัปเกรดระบบปฏิบัติการวินโดวส์ในช่วงที่ผ่านมา ลูกค้าที่จะอัปเกรดมาใช้ระบบใหม่ทันทีเลยมีจำนวนไม่มากนัก ดังนั้น จึงต้องมีการใช้กลยุทธ์อื่นๆ ควบคู่ไปด้วย
 
เร่งให้ข้อมูลนักพัฒนา
 
ในมุมของไมโครซอฟท์จะมีงานประชุมนักพัฒนาที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในชื่อ “Build” ซึ่งจะจัดขึ้นที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ต่อเนื่องกันมาในช่วงปลายปีหลัง แต่ในปีล่าสุด พร้อมกับการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ของวินโดวส์ 10 ไมโครซอฟท์เลือกที่จะยกงาน Build ออกมาจัดในอีกหลายประเทศ เพื่อให้นักพัฒนาได้เข้าถึง และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทีมงานของไมโครซอฟท์ได้อย่างลึกซึ้ง
 
โดยงาน Build 15 จะทยอยจัดขึ้นทั่วโลกใน 26 สถานที่ ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ไล่ไปจนถึงกลางเดือนมิถุนายน ครอบคลุมตั้งแต่อังกฤษ บราซิล รัสเซีย เยอรมนี ญี่ปุ่น เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส จีน อินเดีย และอีกหลายประเทศรวมไปถึงใกล้บ้านเราอย่างสิงคโปร์ และฮ่องกง
 
เจสสิก้า ตัน กรรมการผู้จัดการ ไมโครซอฟท์ (สิงคโปร์) ให้ข้อมูลว่า การที่ไมโครซอฟท์เลือกจัดงานนอกสหรัฐฯ โดยสิงคโปร์เป็น 1 ใน 25 ประเทศ เพราะต้องการที่จะสนับสนุนให้นักพัฒนาเข้าใจถึงความสามารถของวินโดวส์ 10 ที่กำลังจะเปิดตัว และพร้อมที่จะร่วมพัฒนาโปรแกรม และแอปพลิเคชัน
 
“การเริ่มต้นของทุกสิ่งต้องเกิดขึ้นจากนักพัฒนา ทำให้ไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญต่อเหล่านักพัฒนาเป็นอย่างมาก เพื่อที่จะนำเครื่องมือต่างๆ ของไมโครซอฟท์มาช่วยกันร่วมพัฒนานวัตกรรมให้แก่แพลตฟอร์มอย่างวินโดวส์ 10 ที่จะเป็นยุคใหม่ของพีซีนับจากนี้”
 
โดยยุคใหม่ของพีซี ที่ตัน กล่าวก็คือ ฟอร์มแฟกเตอร์ที่เปลี่ยนแปลงไปของคอมพิวเตอร์ จากแต่เดิมที่ผู้ใช้จะคิดว่าคอมพิวเตอร์คือ เดสก์ท็อป โน้ตบุ๊ก หรือแท็บเล็ต แต่ความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องเป็นอุปกรณ์เหล่านี้ อย่างในปัจจุบันมีการพัฒนา Raspberry Pi ที่เป็นเพียงแผงวงจรขนาดเล็ก แต่สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมกลายเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งได้ทันที
 
หรือจะเป็นอุปกรณ์สมัยใหม่อย่าง HoloLens ที่ไมโครซอฟท์กำลังพัฒนาอยู่ ด้วยการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการประมวลผลข้อมูลออกมาเป็นภาพ 3D ผ่านแว่นตาของไมโครซอฟท์ ที่ถือเป็นนวัตกรรมล่าสุดของไมโครซอฟท์ในตลาดตอนนี้ 
 

จิออจิโอ ซาร์โด หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนนักพัฒนาอาวุโส
 
จิออจิโอ ซาร์โด หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนนักพัฒนาอาวุโส ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชัน ได้ให้ข้อมูลถึงฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่จะมีในวินโดวส์ 10 อย่างการใช้ใบหน้าปลดล็อก การเพิ่มส่วนติดต่อผู้ใช้ที่แสดงแอปพลิเคชันที่ใช้งานเป็นประจำให้เข้าถึงได้ทันที มีแถบการแจ้งเตือนต่างๆ ที่สามารถโต้ตอบข้อความได้ทันควัน ระบบสั่งงานอัจฉริยะอย่าง Cortana ที่เป็นระบบที่ใช้ความสามารถของคลาวด์ในการเก็บข้อมูล และเรียนรู้ความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งแน่นอนว่าถ้ามีปริมาณผู้ใช้งานมากแค่ไหน ความแม่นยำของระบบก็จะเพิ่มมากขึ้น
 
รวมไปถึงฟังก์ชันพิเศษอย่าง Continuum ที่สามารถแปลงความสามารถของวินโดวส์ 10 ไม่ว่าจะเป็นบนสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก ให้สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมเพื่อใช้งานได้ทันที อย่างเช่นการนำสมาร์ทโฟนมาต่อกับจอภาพ และเมาส์ ตัวเครื่องก็จะกลายเป็นเดสก์ท็อประบบปฏิบัติการวินโดวส์ให้ใช้งาน
 
โดยทางไมโครซอฟท์ ได้มีการทำข้อมูลสำรวจนักพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระบุว่า กว่า 80% ของนักพัฒนาสนใจที่จะหันมาพัฒนาแอปพลิเคชันบนวินโดวส์ 10 ภายใต้ 3 เหตุผลหลักๆคือ การพัฒนาแอปบนวินโดวส์ 10 สามารถใช้งานได้บนหลากหลายแพลตฟอร์ม ถัดมาคือการที่ไมโครซอฟท์ตั้งเป้าหมายมีผู้ใช้งาน 1 พันล้านชิ้น
 
สุดท้ายคือ การนำเสนอเครื่องมือในการนำแอปพลิเคชันจาก iOS และ Android เพื่อพอร์ตให้มาใช้งานบนวินโดวส์ 10 ได้ทันที เพื่อช่วยเร่งให้นักพัฒนาสามารถเพิ่มจำนวนแอปในวินโดวส์สโตร์อย่างก้าวกระโดด
 

 
ชูแนวคิด Universal Windows Platform
 
การผสานจุดเด่นหลักของไมโครซอฟท์เข้ามารวมกัน ถือเป็นกลยุทธ์สุดท้ายที่น่าสนใจของไมโครซอฟท์ เพราะถ้ามองว่าก่อนหน้านี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของไมโครซอฟท์จะแยกย้ายกันทำการตลาด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของระบบปฏิบัติการ ดีไวซ์ สมาร์ทโฟน และเกมคอนโซล ทำให้ผู้บริโภคที่ใช้งานแทบไม่มีจุดเชื่อมต่อกัน และไม่เกิดความจำเป็นที่จะใช้งานทุกๆ แพลตฟอร์ม
 
ทำให้ไมโครซอฟท์ได้นำแนวคิดอย่าง Universal Windows Platform มาใช้ เพื่อผสานผลิตภัณฑ์ในกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของระบบปฏิบัติการที่พื้นฐานคือ วินโดวส์ 10 ที่สามารถใช้งานได้ทั้งบนแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน พีซี รวมไปถึงเครื่องเกมคอนโซลอย่าง Xbox และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในอนาคตทั้งหลาย (Internet of thing) รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง ไมโครซอฟท์ โฮโลเลนส์ (Microsoft HoloLens)
 
โดยไมโครซอฟท์ แบ่งแนวคิดนี้ออกเป็น 3 ส่วนสำคัญๆ ในการพัฒนาขึ้นมาคือ ไล่ตั้งแต่การออกแบบ พัฒนา และทดลองใช้ โดยเน้นไปที่ใช้งานง่าย สามารถทำงานข้ามแพลตฟอร์มได้ทั้งหมด โดยนำความต้องการของผู้ใช้วินโดวส์เดิมมาเติมเต็มกลายเป็นฟีเจอร์กว่า 2,500 ฟีเจอร์ที่มาจากเสียงของผู้ใช้
 
นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต จากเดิมที่ไมโครซอฟท์เปิดให้ลูกค้าใช้งานผ่าน Internet Explorer (IE) ก็ได้มีการเปลี่ยนเป็น Microsoft EDGE โดยมีพื้นฐานในการพัฒนามาจากแนวคิดง่ายๆ คือ “ทำให้เข้าถึงเว็บไซต์ได้” พร้อมกับมีการพัฒนาส่วนเสริม (Extension) และเว็บแอปเพิ่มเติม
 
ที่สำคัญคือ เมื่อมีการผสานการทำงานระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ก็จะเปิดโอกาสให้นักพัฒนาสามารถเข้าถึงผู้ใช้งานได้วงกว้างได้เช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จาก 1 ในเหตุผลหลักที่นักพัฒนาจะเริ่มทำแอปบนวินโดวส์ 10 เลยก็คือ การพัฒนาแอปเพียงครั้งเดียว แต่สามารถใช้บนอุปกรณ์ที่หลากหลายของวินโดวส์ได้ทันที