โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงในประเทศไทย เป็นที่หมายตาของเจ้าของเทคโนโลยีหลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีน ซึ่งมีแนวโน้มจะได้รับสัมปทานในโครงการนี้มากที่สุด ทั้งสองประเทศต่างมีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน และรัฐบาลทั้งญี่ปุ่นและจีนต่างพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้สิทธิ์ในโครงการนี้
พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของไทย ได้พบกับนายอะกิฮิโระ โอตะ รัฐมนตรีกระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค คมนาคม และการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม และมีพิธีลงนามแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศมีการลงนามเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง
รายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่นเปรียบเทียบศักยภาพรถไฟญี่ปุ่นกับจีน
รายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่นได้วิเคราะห์ศักยภาพของรถไฟแดนอาทิตย์อุทัย พร้อมระบุว่า การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เป็นโครงการที่ญี่ปุ่นมีความหวังมากที่สุด ซึ่งหากรถไฟเส้นทางนี้ใช้เทคโนโลยีชินคันเซน ประเทศไทยจะถือเป็นประเทศที่ 2 ในโลก ต่อจากไต้หวันที่ใช้เทคโนโลยีของญี่ปุ่น
ชินคันเซน ปลอดภัยสูงสุด
ข้อได้เปรียบที่สำคัญที่สุดของชินคันเซน คือ เรื่องความปลอดภัย โดยนับตั้งแต่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1964 ถึงปัจจุบันนานกว่า 50ปี ไม่เคยมีอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิตแม้แต่ครั้งเดียว
ในรายการโทรทัศน์ได้เปรียบเทียบให้เห็นว่า รถไฟชินคันเซนที่แล่นด้วยความเร็วถึง 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้นมีความนิ่ง ถึงขนาดที่สามารถวางเหรียญตั้งไว้บนขอบหน้าต่างของรถได้
ความปลอดภัยไม่ใช่เรื่องของอุบัติเหตุเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการออกแบบที่เป็นเหมาะสมกับผู้โดยสารด้วย โดยนักออกแบบของญี่ปุ่นได้ถูกเชิญให้ไปออกแบบภายในรถไฟใต้ดินของนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ ที่ได้ชื่อว่ามีการเกิดอาชญากรรมบนรถไฟสูงที่สุด โดยนักออกแบบของญี่ปุ่นได้ตกแต่งบรรยากาศภายในรถไฟใต้ดินใหม่ และช่วยลดการเกิดอาชญากรรมอย่างได้ผล
มูลค่าการส่งออกเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีน นำหน้าทุกประเทศอย่างไม่เห็นฝุ่น
ชินคันเซนแพงกว่าจีน 3เท่าตัว
อุปสรรคที่สำคัญของรถไฟความเร็วสูงจากญี่ปุ่นคือราคาที่สูงมาก โดยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีเทคโนโลยีนี้ คือ แคนาดา เยอรมนี ฝรั่งเศส และจีนนั้น ต้นทุนการก่อสร้างของรถไฟชินคันเซนสูงที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับรถไฟความเร็วสูงของจีนแล้ว ชินคันเซนแพงกว่าถึง 3 เท่าตัว
จีนคือเจ้าตลาดตัวจริง
วิทยากรในรายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่นยังได้แสดงถึงมูลค่าที่ประเทศสำคัญๆ ส่งออกเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง โดยจีนคือเจ้าตลาดที่ทำเงินจากเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงได้ถึง 3.7 ล้านล้านเยน ขณะที่ แคนาดา เยอรมนี ฝรั่งเศส ทำรายได้ได้ไม่ถึง 1 ล้านล้านเยน ส่วนรถไฟชินคันเซนของญี่ปุ่น ทำรายได้จากการส่งออกเทคโนโลยีได้ไม่ถึง 0.5 ล้านล้านเยนด้วยซ้ำ
ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อนของรถไฟชินคันเซน
บริษัทเอกชนญี่ปุ่นแข่งกับรัฐวิสาหกิจจีน
ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นยอมรับว่า อุปสรรคที่รถไฟญี่ปุ่นที่ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ไม่ใช่เรื่องของเงินทุนหรือความทันสมัย แต่เป็นรูปแบบการบริหารจัดการ โดยบริษัทที่ผลิตรถไฟชินคันเซนมี 2 ราย คือ ฮิตาชิ และคาวาซากิ
หากแต่ ทางฝั่งจีน ผู้ผลิตรถไฟความเร็วสูงคือรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับของคณะรัฐมนตรีจีนโดยตรง โดยแต่เดิมมี 2 บริษัท คือ “หนานเชอ” 中國南車 และ “เป่ยเชอ” 中國北車 แต่ในปี 2015รัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งได้ควบรวมกิจการกันเป็นบริษัท CRRC Corporation Limited หรือ จงกั๋วจงเชอ 中国中车 ซึ่งเป็นกิจการรถไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
การแข่งขันเรื่องรถไฟความเร็วสูงระหว่างญี่ปุ่นจีนนั้น จึงไม่ใช่การแข่งขันระหว่างบริษัทเอกชน แต่เป็นการแข่งขันระหว่างรัฐบาลของ 2 มหาอำนาจแห่งเอเชีย
แผนที่โครงการ “รถไฟเชื่อมเอเชีย” ของรัฐบาลจีน
ศึกการค้า ศึกการเมือง
รัฐบาลทั้งญี่ปุ่นและจีนได้ใช้ความพยายามทางการทูตและการเมืองในหลายมิติ เพื่อให้ได้สิทธิ์ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย โดยเฉพาะรัฐบาลจีนที่นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียง เคยประกาศอย่างชัดเจนในระหว่างการเยือนประเทศไทยว่า “ปรารถนาจะสร้างรถไฟเชื่อมภูมิภาคเอเชียให้ได้” แน่นอนว่ารัฐบาลแดนมังกรจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ยุทธศาสตร์นี้เป็นจริง
ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นยังยกตัวอย่างการจัดตั้ง ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย หรือ AIIB ที่จีนเป็นผู้ริเริ่มและมี 57 ประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกนั้น เป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญของโครงการทางรถไฟเชื่อมเอเชีย ซึ่งการออกแรงผลักดันโดยตรงจากรัฐบาลเช่นนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นไม่อาจจะทำได้เพราะติดขัดเรื่องข้อกฎหมาย แตกต่างจากฝ่ายจีนที่รัฐบาลสามารถสั่งการได้ทุกอย่าง
ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการเดินรถไฟตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่จนถึงวันนี้รถไฟของไทยยังคงล้าหลังเหมือนเช่นเมื่อ 130 ปีก่อน จึงไม่มีใครปฏิเสธว่าการพัฒนาการขนส่งทางรางเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง
อภิมหาโครงการที่มีมูลค่ามหาศาลนี้ไม่เพียงเป็น “ชิ้นปลามัน” ที่ใครๆต่างก็ปรารถนา หากแต่ยังเกี่ยวพันถึงดุลอำนาจของประเทศต่างๆในภูมิภาค รัฐบาลไทยจึงจำเป็นต้องพิจารณาทั้งมิติของการลงทุน, สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเมืองระหว่างประเทศให้รอบคอบ