ใหญ่ขึ้นทุกทีกับเจ้าพ่อโซเชียลมีเดีย ล่าสุด เฟซบุ๊ก (Facebook) ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า แอป Messenger ของบริษัทนั้นมียอดการดาวน์โหลดมากกว่า 1 พันล้านครั้งแล้วบน “Google Play” ส่งผลให้ชื่อของแอป Messenger กลายเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ระดับเอ็กซ์คลูซีฟ นอกเหนือจาก Facebook, WhatsApp, Gmail, YouTube, Search และ Maps อย่างเต็มภาคภูมิ
ที่สำคัญ บริษัทที่ได้ขึ้นแท่นดังกล่าว ในโลกตอนนี้มีเพียงสองบริษัทเท่านั้น นั่นคือ กูเกิล (Google) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มแอนดรอยด์ตัวจริงเสียงจริง และอีกรายก็คือ “เฟซบุ๊ก” (Facebook) นั่นเอง
เพียงชั่วเวลา 6 เดือน ภายใต้การดูแลของ David Marcus อดีตประธาน PayPal และ Stan Chudnovsky ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ บริการ Messenger ได้ขยายความสามารถจนกลายเป็นยักษ์ใหญ่พร้อมฟีเจอร์ที่สามารถรองรับได้ทั้งการใช้งานส่วนตัว และการใช้งานในเชิงธุรกิจ มีทั้งการเปิดตัวแพลตฟอร์มอิสระแยกต่างหากจากแอปเฟซบุ๊กตัวหลัก รองรับการชำระเงินผ่านแอป ฯลฯ ซึ่งยักษ์ใหญ่รายอื่น แม้จะมีเงินมากมายมหาศาลแต่บางรายก็พลาดโอกาสในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในวงการนี้ไปอย่างน่าเสียดาย เช่น กูเกิล ที่เปิดตัวบริการ Messenging ช้าเกินไป และนำไปผูกอยู่ใน Google+ รวมถึงการพลาดโอกาสซื้อ WhatsApp ที่ทำให้กูเกิลไม่ได้ก้าวมาอยู่ในจุดนี้นั่นเอง
สำหรับบริการต่างๆ ของแอป Messenger นั้น ปัจจุบันมีทั้ง VOIP, Video Calling, การส่งสติ๊กเกอร์, การส่งคลิปเสียง, การชำระเงินแบบ Peer – to – Peer, การให้ข้อมูลด้านสถานที่ ล่าสุดยังมีการเปิดตัวเกมแรกบนแพลตฟอร์มดังกล่าวแล้วในชื่อ Doodle Draw ซึ่งเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทุกช่องทางการติดต่อสื่อสารของผู้คนในยุคปัจจุบันที่สุดโปรดักต์หนึ่งเลยก็ว่าได้
สำหรับเกม Doodle Draw ซึ่งเกมแรกบนแพลตฟอร์มดังกล่าวก็พร้อมใช้งานทั้งบนแอนดรอยด์และ iOS โดยกติกาในการเล่นก็ไม่ยากมากนัก เพียงแค่ให้ผู้เล่นวาดภาพบางอย่างลงบนหน้าจอ และสามารถเลือกเปลี่ยนสีเส้นได้ จากนั้นก็ส่งภาพนั้นให้เพื่อน เพื่อให้พวกเขาทายว่าคุณวาดภาพอะไร (รวมถึงมีการให้สะสมคะแนนเพื่อซื้อสีเพิ่ม)
ความน่าสนใจของ Messenger คือ การเปิดให้ผู้ใช้ได้แชตกันอย่างเต็มที่ ไม่ใช่การพยายามขายโฆษณา หรือชักชวนให้ซื้อสติ๊กเกอร์ ซึ่งรายงานจาก Techcrunch ระบุว่า หากผู้ใช้ “ติดใจ” แพลตฟอร์มของ Messenger แล้ว อนาคตการจะเพิ่มโฆษณาลงไปก็อาจไม่กระทบต่อความรู้สึกมากเท่าไรนักนั่นเอง
นอกจากนั้น กรณีวันเกิดของเพื่อนในเฟซบุ๊ก จะพบว่าบางครั้งระบบจะแนะนำให้ผู้ใช้ส่งข้อความผ่าน Messenger แทนการโพสต์บนหน้าวอลล์ของเพื่อนด้วยเช่นกัน
อีกทั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กได้ยกเครื่องบริการด้านแผนที่ และ Location-Sharing ใน Messenger ด้วยการใส่ฟีเจอร์ GPS ลงไป ทำให้ผู้ใช้สามารถค้นหาได้ว่าจะพบกับเพื่อนได้ที่ไหนด้วย ซึ่งฟีเจอร์นี้ เคยเป็นส่วนหนึ่งของ Nearby Friends ในแอปหลักอย่างเฟซบุ๊กมาแล้ว
การเห็นอนาคตในธุรกิจการส่งข้อความ ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางของโลกโมบายทุกวันนี้ อาจเป็นคำตอบว่า ทำไม Messenger จึงกลายเป็นแอปที่มีสถิติการดาวน์โหลดทะลุ 1 พันล้านครั้งดังที่ปรากฏ
ที่มา http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9580000066523