เคยสังเกตมั้ยว่า แบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายๆ แบรนด์ ที่ประสบความสำเร็จ เขามีกลยุทธ์อย่างไรในการสรรหาบุคคลากรเพื่อให้ได้คุณสมบัติที่ตรงตามความต้องการขององค์กร
บางแห่งก็ลงทุนกับทีมทรัพยาบุคคลอย่างเต็มที่ หรือมีจัดโปรแกรมอบรมสำหรับพนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมศักยภาพให้แข็งแกร่งขึ้นไป
แต่สำหรับแบรนด์ความงามระดับโลกอย่าง “ลอรีอัล” มีกลยุทธ์การสร้างคนตามแบบฉบับของตัวเอง กับโครงการ “ลอรีอัล แบรนด์สตอร์ม” (L’ORÉAL BRANDSTROM) ที่เรียกได้ว่าเป็นเวทีปั้นนักการตลาดไฟแรงรุ่นใหม่ให้มีโอกาสแจ้งเกิดในตลาด และยังมีโอกาสเข้าทำงานในลอรีอัลได้ทันทีถ้าสนใจ โดยผ่านทางโครงการ “Management Trainee” ที่โดยปกติจะรับเฉพาะผู้ที่จบปริญญาโทเท่านั้น
คณะกรรมการทั้ง 5 ท่าน ขณะคอมเม้นท์บนเวที
โครงการลอรีอัล แบรนด์สตอร์มได้มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ที่เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมืองต้นกำเนิดของลอรีอัล ปัจจุบันมี 45 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ โดยที่ในประเทศไทยได้จัดโครงการนี้เป็นปีที่ 12 แล้ว ในปีนี้มีนิสิตนักศึกษาเข้าร่วม 40 ทีม รวม 120 คน จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ 6 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, มหาวิทยาลัยนานาชาติสแตมฟอร์ด และวิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
วัตถุประสงค์หลักของโครงการก็เพื่อต้องการเปิดเวทีสร้างนักการตลาด สร้างศักยภาพให้กับนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 4 เข้ามาร่วมทำ Business Game กับลอรีอัล ให้เขาเป็นเสมือนผู้จัดการผลิตภัณฑ์จริงๆ ได้คิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้ทำงานกับบริษัทเอเจนซี่โฆษณาเพื่อศึกษาเรื่องสื่อสารกับผู้บริโภค
มนัสฤดี สุวรรณรัตน์
มนัสฤดี สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นเหมือนโมเดลในการสร้างบุคลากร เป็นอีกกลยุทธ์ในการพัฒนาบุคคลากรของลอรีอัล เรามองว่าการที่เราจะทำแบรนด์ให้แข็งแกร่งระดับโลก รากฐานที่แข็งแกร่งต้องเริ่มต้นจากคนก่อน และความสำคัญในการสร้างคนของลอรีอัลก็คือ ธุรกิจความงามมีการเติบโตตลอดอย่างต่อเนื่อง และมีผู้บริโภคเพิ่มขึ้นทุกปีที่ใช้บิวตี้โปรดักส์ เมื่อบริษัทมีการเติบโต เราก็ต้องสร้างคนเพื่อให้เติบโตทันความต้องการของตลาด ต้องมีการสร้างนักการตลาดรุ่นใหม่ๆ เข้ามาในตลาด”
เมื่อนิสิตนักศึกษาได้เข้าร่วมโครงการ ก็จะได้มีโอกาสเข้ามาทำงานกับทีมงานแบรนด์นั้นๆ จริงๆ ได้เข้าใจตัวตนของแบรนด์ เข้าใจทิศทางของแบรนด์ รวมไปถึงกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนแบรนด์ ผลที่ตามมาคือเขาจะรู้สึกอินกับแบรนด์ ทำให้เขามีความหลงใหลในแบรนด์มากขึ้น
“ในโครงการนี้จะมีโจทย์แต่ละปีที่ไม่เหมือนกันมีการปรับเปลี่ยนตามเทรนด์ของธุรกิจในแต่ละปี ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องของแบรนด์ และการตลาด โดยใช้แบรนด์ต่างๆ ของลอรีอัลเป็นโจทย์ สำหรับโจทย์ในปีนี้ทางผู้บริหารระดับสูงที่ปารีสได้เลือกแบรนด์ลังโคม และมองเห็นเทนด์นักท่องเที่ยว จึงมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนมากขึ้น เกี่ยวข้องกับ Travel Retail เพราะคนเดินทางมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น การซื้อของที่สนามบินเติบโตอย่างต่อเนื่องในดิวตี้ฟรี ทำให้ไม่ได้เน้นเรื่องการตลาดอย่างเดียว แต่จะเน้น Commercial Excellence ที่เน้นทั้งเรื่องการสื่อสาร การขาย การจัดจำหน่าย การจัดเรียงสินค้า และเน้นไปที่การทำดิจิตอลมาร์เกตติ้งเพื่อให้สอดคลอ้งกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันด้วยค่ะ” มนัสฤดีกล่าว
ที่ผ่านมาทางลอรีอัลได้รับนิสิตนักศึกษาที่ผ่านโครงการแบรนด์สตอร์ม ปีละ 2-3 คน ซึ่งตอนนี้มีอยู่กว่า 15 คน โดยที่ไม่ว่าจะอยู่ในทีมที่ชนะหรือไม่ หากสนใจก็สามารถร่วมงานกับทางลอรีอัล โดยผ่านโครงการ Management Trainee เป็นระยะเวลา 12 เดือน และเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝึกหัด หลังจากนั้นก็จะก้าวเข้าสู่ระดับผู้จัดการต่อไป
ทีม Vision Quest รองชนะเลิศอันดับ 2 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มนัสฤดีมองว่า เด็กรุ่นใหม่ถ้ามีโอกาสเข้ามาทำงานที่เสมือนจริง เมื่อทำงานจะประสบความสำเร็จมากกว่า เพราะเขาได้ผ่านการทำงานจริงๆ คุ้นเคยกับแบรนด์ ไม่ใช่มีเพียงแค่ในตำราเรียนเท่านั้น ตลอดระยะเวลา 6 เดือนในโครงการ จะได้ฝึกในการนำเสนอ ได้รับฟีดแบ็กจากผู้บริหาร ทำให้เขามีประสบการณ์จริงๆ ซึ่งข้อโดดเด่นของเด็กไทยคือตั้งใจทำงาน ทำงานเป็นทีมเวิร์ก มีความมุมานะในการทำงานให้สำเร็จ 12 ปีที่ผ่านมาได้เห็นว่าเด็กเก่งขึ้นทุกปีๆ
ถ้าถามว่าบุคลากรแบบไหนที่ทางลอรีอัลต้องการ? แน่นอนว่าอย่างแรกที่ต้องมีคือ “Passion in Beauty” ต้องมีความสนใจในเรื่องความสวยความงาม เครื่องสำอาง ต้องตามเทรนด์ สนใจเรื่องแฟชั่น อย่างที่สองคือ “Entrepreneurial Spirit” ต้องมีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของแบรนด์นั้นจริง ต้องดูแลธุรกิจเหมือนเป็นของตัวเอง อย่างที่สามคือ “Quest for Excellence” เพราะในธุรกิจความงามที่มีการแข่งขันสูงแบบนี้ เรื่องของความใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ ในการที่จะทำทุกอย่างให้ออกมาดีที่สุดนั้น เป็นการสะท้อนภาพลักษณ์แบรนด์ระดับโลกของลอรีอัล และเสริมพิเศษด้วย “Innovation” หรือการคิอะไรใหม่ๆ ที่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าลองสิ่งใหม่ๆ
เพราะสุดท้ายแล้ว ลอรีอัลได้มองว่าแบรนด์ไม่ได้อยู่ได้เพราะการทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีรากฐานที่แข็งแกร่งจากคน รวมไปถึงต้องคำนึงถึงสังคมรอบข้างอีกด้วย
ทีม Siamese Cats รองชนะเลิศอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บรรยากาศระหว่างการพรีเซ้นต์ของทีมที่ชนะเลิศ ทีม Wonder Women จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
น้องๆ ทีม Wonder Women พร้อมรางวัลที่ได้รับ ถ่ายภาพร่วมกับผู้บริหารของ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด
ผู้เข้าแข่งขันโครงการลอรีอัล แบรนด์สตอร์ม (L’ORÉAL BRANDSTROM) 2015
4 ทีมสุดท้ายถ่ายภาพร่วมกับอาจารย์ คณะกรรมการ และผู้บริหารของ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด