Netflix vs Alibaba ศึกนี้ไม่ธรรมดา

จับตา “อาลีบาบา” (Alibaba) เจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซจีนลุยเตะตัดขา “เน็ตฟลิกซ์” (Netflix) ผู้ให้บริการวิดีโอออนไลน์อเมริกันที่วางแผนขยายบริการเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ ล่าสุด Alibaba เตรียมให้บริการวิดีโอสตรีมมิงในจีนเหมือน Netflix ทุกกระเบียดนิ้ว ทั้งรูปแบบบริการ และแผนสร้างละครซีรีส์ของตัวเอง ทั้งหมดนี้ทำให้หุ้น Netflix ตกลงทันที 1.4% ท่ามกลางนักสังเกตการณ์ที่เกาะติดก้าวใหม่ของ Alibaba แบบไม่คลาดสายตา
       
หลุย ชุน หนิง (Liu Chunning) ประธานฝ่ายธุรกิจความบันเทิงดิจิตอลของ Alibaba ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน 2015 ว่า บริษัทจะเปิดให้บริการวิดีโอสตรีมมิงออนไลน์ในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยตั้งเป้าหมายให้บริการของตัวเองเป็นเหมือนบริการสัญชาติอเมริกันอย่าง “เอชบีโอ” (HBO) และ “เน็ตฟลิกซ์” (Netflix) แต่เป็นเวอร์ชันจีน
       
Alibaba ตั้งชื่อบริการของตัวเองไว้ว่า “ทีบีโอ” (TBO) ย่อมาจาก Tmall Box Office โดยผู้ใช้สามารถเหมาจ่ายค่าบริการรายเดือนเพื่อชมวิดีโอแบบไม่อั้น หรือจะจ่ายค่าบริการเพื่อชมภาพยนตร์ หรือรายการวิดีโอที่สนใจแบบทีละเรื่อง ผ่านอุปกรณ์เซ็ตท็อปบ็อกซ์ของ Alibaba และทีวีอัจฉริยะที่ผลิตโดย “ไฮเออร์” (Haier Group Corp.)
       
ไม่เพียงท้าชน กับ Netflix แต่รูปแบบบริการของ TBO จะถอดแบบบริการ Netflix โดยเฉพาะการผลิตคอนเทนต์ หรือวิดีโอของตัวเอง เบื้องต้น Alibaba วางแผนให้บริการ TBO ทั้งในประเทศจีน และประเทศอื่นด้วย
       
จุดนี้เองที่ทำให้สื่ออเมริกันบางรายพาดหัวข่าวตัวใหญ่ว่า Netflix อาจวอดวายเพราะ Alibaba แต่ก็มีบางรายที่เชื่อว่า Alibaba จะช่วยเสริมให้ Netflix สามารถขยายฐานตลาดได้มากขึ้น

 ***Netflix เสียแผนลุยจีน

แม้ Alibaba จะถูกมองว่าเป็นคู่แข่งกับบริษัทออนไลน์เพื่อนร่วมชาติอย่าง “เท็นเซ็นต์” (Tencent) หรือ “ไป่ตู้” (Baidu) ที่ให้บริการวิดีโอออนไลน์ในจีนแล้ว แต่ในมุมของ Netflix บริการวิดีโอออนไลน์ชื่อดังของสหรัฐฯ กลับถูกมองว่า จะได้รับผลกระทบไปเต็มที่ เนื่องจาก Alibaba อาจทำให้ Netflix ไม่สามารถขยายบริการในจีนได้อย่างที่หวังไว้ แถมยังมีความเสี่ยงถูกขโมยลูกค้าหาก Alibaba หันมาให้บริการในสหรัฐอเมริกาบ้าง
       
หนึ่งในความเสี่ยงของ Netflix คือ โครงการลดแลกแจกแถมจาก Alibaba แม้จะยังไม่มีใครรู้ว่า Alibaba จะคิดค่าบริการอย่างไร แต่ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยในขณะนี้พบว่า Alibaba อาจคิดค่าบริการแบบฟรีเมียม (Freemium) ด้วยการเปิดให้ผู้ชมมีโอกาสชมวิดีโอฟรีบางส่วน ซึ่งเป็นรูปแบบบริการที่เชื่อว่าจะเข้าถึงผู้บริโภคในจีนได้ดี
       
10% ของวิดีโอบน TBO อาจเปิดให้ชมฟรี แต่สมาชิกที่จ่ายเงินจะมีสิทธิชมวิดีโอทั้งหมดอีก 90% ที่เหลือได้เสรี รูปแบบบริการที่รู้ใจคนจีนนี้อาจทำให้ Alibaba เป็นที่นิยมเหนือกว่า Netflix ซึ่งมีข่าวว่าจะเริ่มบุกเบิกตลาดจีนในเร็ววันนี้
       
นอกจากนี้ ชื่อของ Alibaba ที่คุ้นหูชาวออนไลน์จีนมากกว่า ยังทำให้ Alibaba มีโอกาสเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายกว่าบริษัทต่างชาติอย่าง Netflix ขณะเดียวกัน Alibaba ยังสามารถผูกพ่วงบริการวิดีโอออนไลน์ไปกับบริการร้านค้าออนไลน์เหมือนที่อเมซอน (Amazon) ทำแล้วได้ผลดีมากในสหรัฐฯ ที่สำคัญ Alibaba ยังมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับรัฐบาลจีน ทำให้การเดินเรื่องเพื่อถือครองลิขสิทธิ์วิดีโอในจีนเป็นไปได้ง่าย ทั้งหมดนี้ถือเป็น 3 แต้มต่อที่ทำให้ภาพของ Alibaba ดูเหนือกว่า Netflix
       
หุ้น Netflix ตกลงทันที 1.4% ที่ Alibaba เปิดเผยแผนให้บริการวิดีโอออนไลน์แบบเก็บค่าสมาชิก ถือเป็นการลดลงครั้งที่ 3 ในรอบ 5 วันหลังจากหุ้น Netflix ทำสถิติสูงสุดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยภาพรวมธุรกิจที่ดูดีในช่วงก่อนหน้านี้ของ Netflix ทำให้หุ้นบริษัทเติบโตมากกว่า 93% ต่อปี

***Alibaba ขี่ม้าขาว?

แม้ Netflix จะให้บริการแล้วในหลายประเทศนอกสหรัฐฯ แต่จำนวนสมาชิกของ Netflix ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับน้อย ปัญหาหนึ่งที่ Netflix กำลังเผชิญคือ ค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อลิขสิทธิ์เพื่อเผยแพร่วิดีโอออนไลน์ในประเทศอื่นที่ไม่ใช่สหรัฐฯ นั้นสูงมาก จนทำให้ Netflix ไม่สามารถเพิ่มวิดีโอที่หลากหลาย ประเด็นนี้เองที่ทำให้นักสังเกตการณ์บางรายเชื่อว่า Alibaba อาจเป็นพระเอกขี่ม้าขาวที่จะทำให้ Netflix ผ่านอุปสรรค์นี้ไปได้
       
เอ็ด มันด์ ลี (Edmund Lee) ผู้สื่อข่าวสำนักรีโค้ด (Re/code) ชี้ว่า เป็นเรื่องยากหาก Netflix จะเข้าสู่ตลาดจีนด้วยตัวเอง Netflix จึงจำเป็นต้องหาพันธมิตร ขณะเดียวกัน Alibaba เองก็ต้องหาทางซื้อลิขสิทธิ์วิดีโอให้ได้มากที่สุด ทั้ง 2 เหตุผลนี้จะทำให้ Netflix และ Alibaba หาทางออกด้วยการเป็นพันธมิตรกัน
       
ข้อมูลล่าสุด ระบุว่า Netflix มีฐานสมาชิกหนาแน่นที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา (ราว 40 ล้านคน) รองลงมาเป็นประเทศอังกฤษ ซึ่งมีฐานสมาชิกเพียง 3.3 ล้านคน ข้อมูลนี้ตอกย้ำว่า Netflix ยังถือลิขสิทธิ์ให้บริการวิดีโอของประเทศอื่นไม่มากพอ โดยสำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์เคยรายงานไว้ว่า Netflix ถือลิขสิทธิ์ให้บริการภาพยนตร์ 8,500 เรื่องในสหรัฐฯ แต่ถือเพียง 3,000 เรื่องในอังกฤษ และน้อยกว่า 2,000 เรื่องในสวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรีย
       
ขณะเดียวกัน วิดีโอเรื่องหลักที่ได้รับความนิยมอย่าง “Mad Men”, “Lost” และ “The Office” ก็ไม่มีการจัดการสิทธิเพื่อฉายในต่างประเทศ รวมถึงซีรีส์ของ Netflix เองอย่าง “House of Cards” ก็ไม่มีการรองรับภาษาฝรั่งเศส
       
ทั้งหมดนี้ Netflix เปิดเผยว่า บริษัทมีค่าใช้จ่ายเรื่องลิขสิทธิ์วิดีโอมากกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2014 ที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายมหาศาลนี้ถือเป็นต้นทุนหลักของ Netflix
       
เบื้องต้น การเป็นพันธมิตรของ Netflix และ Alibaba นั้นมีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากท่าทีของผู้ก่อตั้ง Alibaba อย่างแจ็ก หม่า (Jack Ma) นั้นแสดงถึงจุดยืนชัดเจนมาตลอดเรื่องต้องการเติบโตพร้อมพันธมิตรไม่ใช่คู่แข่ง
       
ที่ผ่านมา Jack Ma ประกาศวิสัยทัศน์สนับสนุนความร่วมมือกับบริษัทอเมริกันอย่างจริงจัง ล่าสุด ซีอีโอ Alibaba ยังเชิญชวนธุรกิจอเมริกันให้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศจีนเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวจีนชนชั้นกลางที่ต้องการซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอเมริกา และประเทศทางฝั่งยุโรป แน่นอนว่าธุรกิจในสหรัฐฯ ตื่นตัวกับเรื่องนี้มาก เนื่องจากจำนวนประชากรชนชั้นกลางของจีนเทียบได้กับจำนวนประชากรทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา แถมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกเป็น 2 เท่าภายใน 7 ปีข้างหน้า
       
หากมองสถิติของ Alibaba ฐานลูกค้าจำนวนมหาศาลจะสามารถกลายเป็นกลุ่มผู้ชมวิดีโอของ TBO ได้แทบจะในทันที จุดนี้โฆษก Alibaba ระบุว่า ผู้ใช้งานประจำ หรือแอ็กทีฟยูสเซอร์ของ Alibaba ในปัจจุบันคือ 350 ล้านคน และมีแนวโน้มว่าจะแซงหน้าจำนวนประชากรทั้งหมดของสหรัฐอเมริกาเช่นกัน
       
ต้องยอมรับว่า ศึกระหว่าง Alibaba และ Netflix ยังต้องรอนับศพทหารในอีกช่วงหลายปีนับจากนี้ แต่ไม่ว่าบทสรุปจะเป็นเช่นไร ชาวออนไลน์จะได้เห็นมิติใหม่ของตลาดวิดีโอออนไลน์แน่นอน
 

ที่มา : http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9580000069113