กว่า 17 ปีของห้าง’พันธุ์ทิพย์พลาซ่า’ ในการเป็นศูนย์กลางการค้าด้านไอทีของเมืองไทย และนับเป็นต้นแบบตึกคอมพ์ทั่วประเทศไทยในปัจจุบัน หากแต่การแข่งขันทางธุรกิจกำลังจะเปลี่ยนแปลงให้ ‘พันธุ์ทิพย์พลาซ่า’ กลายเป็นเพียงตำนานประวัติศาสตร์ของไทย หลังกลุ่มทุน’ทีซีซี’ ประกาศยกเครื่อง ‘พันธุ์ทิพย์พลาซ่า’ ใหม่ให้กลายเป็นศูนย์เทคโนโลยี เพื่อการแข่งขันทางธุรกิจที่ดีกว่า
นิยามใหม่ ‘ศูนย์เทคโนโลยี’
ณภัทร เจริญกุล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มรีเทล บริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด เปิดเผยว่าโครงการ ‘พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า’ กำลังปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงคอนเซ็ปต์ครั้งใหญ่ หลังจากที่ได้เปิดดำเนินกิจการมานานกว่า 30 ปีแล้วเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะยกเลิกความเป็นศูนย์ไอที (Information Technology) เพื่อปรับเป็นศูนย์เทคโนโลยีที่มากกว่าไอที โดยปัจจุบันแม้ว่าความต้องการสินค้าด้านนี้ยังมีอยู่แต่ภาพรวมของตลาดไม่ได้เติบโตมากนัก ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เมื่อสินค้าด้านไอทีเสียมักจะไม่ซ่อมแต่จะซื้อใหม่แทน ผู้ประกอบการด้านไอทีหลายรายจึงต้องปรับตัว ส่งผลให้พื้นที่ไอทีในหลายๆ ห้างมีการเปลี่ยนแปลงไป
‘เมื่อเราปรับเป็นศูนย์เทคโนโลยี ความหมายจะดูกว้างขึ้น เพราะไลฟ์สไตล์คนเราทุกวันนี้อยู่ติดกับเทคโนโลยีทั้งนั้น ทุกอย่างรอบตัวอะไรก็แล้วแต่ที่มีเทคโนโลยีเราจะนำมาเสนอในศูนย์แห่งนี้ทั้งหมด ซึ่งมองแล้วยังไม่มีศูนย์ไหนที่มีคอนเซ็ปต์แบบนี้ชัดเจน นอกจากนั้นเรายังจะปรับทุกอย่าง ทั้งการจัดการ ภาพลักษณ์ สินค้า และบริการ ตลอดจนที่จอดรถให้มีความทันสมัยและมีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิมที่ค่อนข้างจะเก่ามาก’
หากแต่การปรับคอนเซ็ปต์ครั้งนี้ ขาดการสื่อสารที่ดีกับผู้ค้าจำนวนมากกว่า 300 รายภายในศูนย์ ถึงทิศทางและระยะเวลาการดำเนินการที่ชัดเจน จนเกิดปัญหาการประท้วงของกลุ่มผู้ค้าขึ้นบ่อยครั้งตลอดช่วงเวลาของความอึมครึมในการปรับปรุงศูนย์
สัญญาณบ่งชี้วิกฤต
บรรยากาศการค้าขายภายในศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์เริ่มมีความเงียบเหงานับตั้งแต่ต้นปี 2557 เป็นต้นมา ด้วยภาวะการณ์แข่งขันที่รุนแรงของการเกิดห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้ามากมายในบริเวณประตูน้ำ ตลอดจนพฤติกรรมการบริโภคสินค้าไอที ที่เริ่มเข้าใกล้ผู้คนมากขึ้น พฤติกรรมการซื้อสินค้าจึงเปลี่ยนแปลงเป็นซื้อในสถานที่ใกล้บ้านและสะดวกในการเดินทางมากขึ้นจากเดิมที่จะนึกถึง ‘พันธุ์ทิพย์’ เมื่อต้องการอุปกรณ์ไอทีทุกชนิด
ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี 2 เดือนที่ร้านค้าภายในต้องปรับตัวและเปลี่ยนทำเล เพื่อปรับโฉมตามนโยบายของศูนย์การค้าอยู่บ่อยครั้ง หลังเกิดการก่อสร้างตลอดแนวของตัวห้างทั้งด้านหน้าและด้านในอย่างทุลักทุเล ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงทิศทางที่ชัดเจนของการบริหารในอนาคต จนนำไปสู่การรวมกลุ่มและประท้วงนโยบายบริหารขึ้นอย่างต่อเนื่อง
‘เราพยายามคุยกับผู้บริหารศูนย์ตลอดเวลา เพื่อหาคำตอบว่าท้ายที่สุดแล้วศูนย์แห่งนี้จะมีการปรับปรุงเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ ซึ่งก่อนหน้านี้มีกำหนดออกมาว่าจะปรับโฉมเป็นไลฟ์สไตล์ ที่คาดว่าจะปรับปรุงเสร็จในราวเดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมา แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เสร็จ ยังมีการก่อสร้างเกิดขึ้นอยู่ตลอดทั้งห้าง ทำให้ผู้คนที่เข้ามาจับจ่ายซื้อของ เข้าใจผิดคิดว่าห้างแห่งนี้กำลังจะปิดตัว และก็ส่งผลให้ยอดขายตกลงอย่างที่เห็น’ เสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการปรับโฉม
ความพยายามของผู้ค้ายังรวมไปถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุนกิจกรรมทางการตลาดของศูนย์การค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อที่มากขึ้น หากแต่การก่อสร้างที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ผู้ซื้อลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด และแม้ว่าจะมีความพยายามสร้างเว็บไซต์ของศูนย์ขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อ-ขายผ่านระบบออนไลน์ ก็ไม่ได้รับการเหลียวแลอย่างจริงจัง โดยยังคงเป็นเพียงโครงการที่ยังทำไม่เสร็จมาจนปัจจุบัน
‘เราถูกย้ายสถานที่กลับไป กลับมา ตามนโยบายการบริหาร ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีความพยายามที่จะสร้างโซนโทรศัพท์มือถือบนชั้น M แต่ก็ไม่สำเร็จ ท้ายที่สุดร้านค้าที่มีจำนวน 600 กว่าร้านค้าก็เริ่มหาสถานที่แห่งใหม่เพื่อคงความอยู่รอดของกิจการ จนปัจจุบันเหลืออยู่เพียงแค่ 300 กว่าร้านค้าเท่านั้น’
ถึงคราวผู้ค้าต้องปรับตัว?
บรรยากาศที่เงียบเหงาของห้าง กลายเป็นความลำบากที่ผู้ค้าภายในศูนย์ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมานานมากกว่า 1 ปี โดยราคาค่าเช่าภายในศูนย์การค้าแห่งนี้มีราคาตั้งแต่ 1,500 – 3,000 บาท ต่อตารางเมตร ซึ่งแต่ละร้านค้าจะมีพื้นที่ตั้งแต่ 30 – 50 ตารางเมตร โดยเฉลี่ยค่าเช่าจะอยู่ที่ประมาณ 45,000 – 90,000 บาทต่อร้านต่อเดือน และเมื่อไม่มีลูกค้าเดินเข้ามาซื้อจากการปรับปรุงสถานที่อันยาวนาน ก็ส่งผลให้ไม่เกิดการขายและรายได้อย่างที่ควรจะเป็น จนทำให้บางร้านต้องจำใจย้ายหาสถานที่ขายแห่งใหม่ และที่เหลืออยู่ก็รวมกลุ่มกันเพื่อขอลดค่าเช่าลงในช่วงที่มีการก่อสร้างและเป็นอุปสรรคต่อการค้าขายเพื่อความอยู่รอด
ความพยายามของผู้ค้าถึงขั้นส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารศูนย์การค้าเพื่อขอลดค่าเช่าลง หลังศูนย์มีจำนวนลูกค้าลดลงกว่า 90% จากที่เคยมีลูกค้าเข้าศูนย์มากกว่า 20,000 คนต่อวัน เหลือเพียง 2,000 คนต่อวัน ด้วยอ้างเหตุผลจากนโยบายบริหารที่ผิดพลาดและการปรับปรุง ก่อสร้างที่ยืดเยื้อไร้แบบแผนและกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน
‘เรารวมตัวกันในนาม ‘กลุ่มร้านค้าที่ได้รับผลกระทบ’ เพื่อส่งจดหมายเปิดผนึก อธิบายเหตุผลเพื่อขอลดค่าเช่าลงกว่า 30% ตลอดระยะเวลาของการปรับปรุงสถานที่ และเพื่อกดดันให้เกิดการทำงานที่รวดเร็วขึ้นของผู้บริหารศูนย์ เพราะที่ผ่านมามีการทำงานที่ล่าช้าเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่นบันไดเลื่อนภายในห้างชำรุด ศูนย์แจ้งต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปีในการแก้ไข หรือแม้กระทั่งห้องน้ำที่ชำรุดยังต้องใช้เวลากว่า 180 วันในการแก้ไขแบบขอไปที’
สถานการณ์ที่เงียบเหงา ภายในศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่าแห่งนี้ ไม่ได้สะท้อนกำลังซื้อที่ลดน้อยลงอย่างชัดเจนมากนัก เนื่องจากมีความพยายามจากสถานประกอบการบริเวณประตูน้ำ ให้ความสนใจกลุ่มผู้ค้ารายนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อเสนอเพื่อดึงกลุ่มผู้ค้าสินค้าไอทีกลุ่มนี้เข้าไปสร้างพื้นที่ขาย เพื่อรองรับกำลังซื้อกลุ่มสินค้าไอทีในบริเวณดังกล่าวอย่างชัดเจน
ทางรอดของผู้ค้า
ความหวังของผู้ค้าดูจะริบหรี่ลงทุกวัน เมื่อลองทบทวนรูปแบบการบริหารงานของโรงแรมอิมพีเรียล ควีนปาร์ค ที่ตัดสินใจปิดกิจการและลอยแพพนักงานกว่า 800 ชีวิตเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมีกลุ่มทุนเดียวกันเป็นทีมบริหาร ขณะที่กลุ่มผู้ค้าบางรายมองว่าเป็นเกมเชิงธุรกิจ เนื่องจากถ้าพันธุ์ทิพย์ต้องประกาศปิดกิจการก็จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับร้านค้าซึ่งมีสัญญาเช่าเป็นลายลักษณ์อักษรอีกจำนวนมหาศาล การคงสภาพเช่นนี้ช่วยกดดันให้ผู้ค้าทนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหวและยอมปิดร้านออกไปเอง โดยที่ทางศูนย์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใด
หากแต่ทางออกของผู้ค้า เริ่มมีความหวังเมื่อห้างใหญ่ริมสี่แยกประตูน้ำ ซึ่งปรับโฉมใหม่หลังจากการเทกโอเวอร์มาจากประตูน้ำเซ็นเตอร์ ในชื่อว่า ‘เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ชอปปิ้ง’ เสนอพื้นที่ให้สร้างระบบและคอนเซ็ปต์ไอทีอย่างที่ต้องการ โดยเปิดโอกาสให้จัดการพื้นที่บริเวณชั้น 4-6 เป็นโซนสินค้าไอทีและเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมทั้งให้สิทธิฟรีค่าเช่า 1 ปี โดยมีค่าใช้จ่ายเพียงแค่ส่วนกลางเดือนละ 200 บาทต่อตารางเมตรเท่านั้น
‘หลังจากที่เราอดทนกับความไม่ชัดเจนมาอย่างยาวนาน เราก็ได้รวมตัวกันเพื่อไปสร้างพื้นที่ของเราเอง โดยเราได้รับข้อเสนอที่ดีจากห้างพาลาเดียม ซึ่งอยู่บริเวณสี่แยกประตูน้ำ ให้เราใช้พื้นที่บริเวณชั้น 4 – 6 ในการสร้างเป็นอาณาจักรไอทีแห่งใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘พาลาเดียม IT ประตูน้ำ โลกใหม่ของคนไอที’ ซึ่งจะกลายเป็นโซนสินค้าไอทีที่มีความทันสมัย โดยเมื่อลูกค้าเดินเข้ามาจะสามารถเชื่อมต่อไวไฟได้ฟรีทันที ‘ กลุ่มผู้ค้า กล่าวเสริมอย่างมีความหวัง
ทั้งนี้หลังจากกลุ่มทุนทีซีซีซื้อห้างพันธุ์ทิพย์ต่อมาจาก กลุ่มบุญนาคเมื่อปี 2531 ด้วยมูลกว่า 1,000 ล้านบาท โดยพ่วงที่ดินอีกจำนวนหลายแปลงรวมอยู่ในการซื้อขายครั้งนั้นด้วย การเปลี่ยนแปลงหลังจากเปิดตึกพันธุ์ทิพย์ พลาซ่าเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2527 ก็เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างในปี 2541 ซึ่งปรับโฉมพันธุ์ทิพย์ให้กลายเป็นศูนย์การค้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไอทีแห่งใหญ่ของเมืองไทย นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งชักนำให้เกิดผู้ประกอบการด้านไอทีมากขึ้น และกลายเป็นสถานที่อันโด่งดังด้านสินค้าไอทีจวบจนปัจจุบัน
นับเป็นเวลากว่า 17 ปีที่ห้าง’พันธุ์ทิพย์พลาซ่า’ แห่งนี้ ทำหน้าที่เป็นแหล่งรวมสินค้าไอทีของเมืองได้อย่างเต็มภาคภูมิ แต่กระนั้นวันเวลาไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในทางธุรกิจได้ นโยบายการปรับปรุงเพื่อสร้างจุดยืนใหม่บนเส้นทางธุรกิจ สู่การเป็น ‘ศูนย์เทคโนโลยี’ ทดแทนศูนย์การค้าไอทีรูปแบบเดิมกลายเป็นทิศทางใหม่ที่น่าสนใจ หากแต่รูปแบบและวิธีการปรุงปรุงที่ไร้การเหลียวแลผู้ค้าจนเกิดเสียงสะท้อนในแง่ลบ ตลอดจนความชัดเจนของการแก้ไข หรือแม้กระทั่งทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ผู้ค้าไม่ได้รับความชัดเจนเท่าที่ควร กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลร้ายต่อการพัฒนาศูนย์การค้าแห่งนี้
แน่นอนว่าผู้ค้ามีความสำคัญในการดึงผู้ซื้อเข้ามาที่ศูนย์การค้าไม่น้อยกว่าแรงดึงดูดที่เกิดขึ้นจากศูนย์การค้าเอง การเปลี่ยนแปลงแบบโละชุดผู้ค้าเก่า ซึ่งต้องลงทุนสร้างและดึงดูดผู้ค้าชุดใหม่ให้เข้ามาค้าขาย อาจจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดในยุคที่การแข่งขันรุนแรงก็เป็นได้ แต่กระนั้นเมื่อคิดจะกลับลำก็สายเกินไปเสียแล้ว นั่นเพราะผู้ค้ามีทางออกใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม ก็ได้แต่หวังว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของกลุ่มทุนทีซีซีจะสามารถสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเมืองไทยทดแทนศูนย์การค้าไอที พันธุ์ทิพย์ พลาซ่าที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญมากว่า 17 ปีได้อย่างที่วาดฝันไว้