เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลายสำนักงานอาจพบปรากฏการณ์โต๊ะทำงานว่างเปล่า แต่หน้าจอทีวีมีผู้คนล้นหลามเพื่อเฝ้าดูการแถลงข่าวของคู่รักดาราที่ออกมาแถลงจบความสัมพันธ์
สถานการณ์ของ “แตงโม-โตโน่” วันนี้เป็นฉันใด สถานการณ์ของ “ไมโครซอฟท์ และ (อดีต) โนเกีย” ก็เรียกได้ว่าไม่ต่างกัน เพราะไมโครซอฟท์ได้เดินมาถึงจุดที่ต้องตัดใจครั้งใหญ่ ด้วยการประกาศลอยแพพนักงานอีก 7,800 ตำแหน่งเป็นที่เรียบร้อย พร้อมประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจวินโดวส์โฟน หลังพบว่า ไม่สามารถตอบโจทย์การแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนได้
ต้นเหตุของการปลดพนักงานครั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจมาจากผลสำรวจของไอดีซีที่ระบุว่า แพลตฟอร์มวินโดว์สโฟนมีส่วนแบ่งในตลาดสมาร์ทโฟนโลกแค่ 3.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งตัวเลขส่วนแบ่งดังกล่าวไม่สามารถสร้างความสนใจให้แก่ใครได้ ไม่ว่าจะเป็นคอนซูเมอร์ นักพัฒนา หรือนักโฆษณา
อีกทั้งหากหันไปมองความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของไมโครซอฟท์หลังซื้อกิจการของโนเกีย จะพบว่า อาการมีแต่ทรงกับทรุด โดยต้องประกาศเลิกจ้างพนักงาน 18,000 ตำแหน่ง ก่อนจะมาถึงการประกาศลดพนักงานอีก 7,800 ตำแหน่งในครั้งนี้ แถมตำแหน่งที่จะถูกปรับลดนั้นส่วนใหญ่แล้วอยู่ในธุรกิจสมาร์ทโฟนที่ซื้อมาจากโนเกียทั้งสิ้น
แม้จะไม่น่าแปลกใจ แต่ใครที่เคยผ่านยุครุ่งเรืองของ “โนเกีย” ในช่วงปี ค.ศ.2005-2007 คงจำได้ดีถึงภาพของโทรศัพท์มือถือที่มีการใช้งานทั่วโลกภาพนั้นได้อยู่ โดยเทรนด์ของตลาดโทรศัพท์มือถือเริ่มเปลี่ยนไปหลังจากการเปิดตัวไอโฟน (iPhone) รุ่นแรกของค่ายแอปเปิล (Apple) โดยสตีฟ จ็อบส์ และจากนั้นมาส่วนแบ่งตลาดของโนเกียเริ่มลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง สตีเฟน อีลอป (Stephen Elop) ผู้บริการระดับสูงของโนเกีย (ซึ่งข้ามมาเป็นผู้บริหารระดับสูงของไมโครซอฟท์ก่อนจะลาออกไปเมื่อไม่นานมานี้) ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเอาไว้ว่า สาเหตุที่ทำให้แบรนด์โนเกียล่มสลายอาจมาจากการยึดมั่นอยู่กับระบบปฏิบัติการ “ซิมเบียน” (Symbian) ของทางค่ายมากเกินไป ซึ่ง BusinessInsider รายงานว่า ในขณะนั้น ทาง มร.อีลอปกำลังพิจารณาจะปรับมาใช้แพลตฟอร์มแอนดรอยด์เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน แต่ในที่สุด โนเกีย ก็ยอมรับดีลของไมโครซอฟท์ และดันโนเกียเข้าสู่วินโดวส์โฟนแทน
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ต่างมองว่าการตัดสินใจซื้อโนเกียในช่วงเวลานั้นจึงอาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ของไมโครซอฟท์ แม้ว่าการมีผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรจะทำให้แพลตฟอร์มวินโดวส์โฟนแข็งแกร่งมากขึ้นในด้านฮาร์ดแวร์ แต่หากพลิกประวัติศาสตร์ของซิลิคอนวัลเลย์ดูจะพบว่า ในบรรดาบริษัทด้านเทคโนโลยีระดับบนด้วยกันนั้น มีเพียงเจ้าเดียวที่สามารถทำกำไรจากการขายฮาร์ดแวร์ได้ นั่นก็คือ “แอปเปิล” และเมื่อส่วนแบ่งตลาดของโนเกียถูกไอโฟนบีบจนลดลงอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่จะสร้างชื่อบนธุรกิจโมบายล์ของไมโครซอฟท์จึงต้องห่างออกไปเรื่อยๆ เช่นกัน
กระนั้น จากการรายงานของ Mashable ได้อ้างว่าไมโครซอฟท์ยังคงมีแผนจะเปิดตัวสมาร์ทโฟนอย่างน้อย 1-2 รุ่นต่อปีสำหรับ 3 เซกเมนต์ของตลาดที่บริษัทตั้งไว้ นั่นคือ รุ่นเรือธง, รุ่นสำหรับธุรกิจเอนเทอร์ไพรส์ และรุ่นสำหรับตลาด Low-end
ด้านนักวิเคราะห์จากการ์ทเนอร์ได้ออกมาระบุว่า ถึงไม่มีรุ่นเด็ดออกมาเขย่าตลาด การลดขนาดธุรกิจลงก็ยังเป็นสิ่งที่ไมโครซอฟท์ต้องทำอยู่ดี เนื่องจากคู่แข่งของวินโดวส์โฟนในวันนี้อย่างแพลตฟอร์ม iOS และแอนดรอยด์นั้น “แข็งแกร่งมาก” แถมหากมองไปรอบๆ ก็ยังพบว่า มีบริษัทดาวรุ่งพุ่งแรงอย่าง “เสี่ยวหมี่” (Xiaomi) มาช่วยแบ่งยอดขายไปอีก ซึ่งความแรงของเสี่ยวหมี่นั้นถึงกับทำให้ผู้ผลิตเบอร์ 2 ของโลกอย่างซัมซุง (Samsung) ต้องซวนเซไปหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เลยทีเดียว
“ธุรกิจโทรศัพท์มือถือเปลี่ยนไปอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คุณไม่จำเป็นต้องเป็นยักษ์ใหญ่ถึงจะลงมาเล่นในตลาดนี้ได้อีกต่อไป” มาร์ติน เรย์โนลด์ รองประธานของบริษัทวิจัยตลาดการ์ทเนอร์ (Gartner Research) กล่าว
“ในปีนี้ และปีต่อๆ ไป แพลตฟอร์ม iOS และแอนดรอยด์ก็ยังคงอยู่ และพวกเขาอยู่ในฐานะที่ไม่จำเป็นต้องผลิตสมาร์ทโฟนที่สมบูรณ์แบบชิงส่วนแบ่งตลาดอีกแล้วด้วย”
ที่แย่ไปกว่านั้นคือ กลุ่มนักวิเคราะห์มองว่า สถานการณ์ของวินโดวส์โฟนนั้นไม่ได้อยู่ในกำมือของไมโครซอฟท์อีกต่อไป แม้ว่าบริษัทจะพัฒนาอินเทอร์เฟสที่สวยงามน่าใช้งาน หรือยื่นข้อเสนอพิเศษให้แก่นักพัฒนาที่ดีกว่าของคู่แข่งก็ตาม
“ปัญหาคือ วินโดวส์โฟนขาดแอปพลิเคชัน ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคจะไม่ซื้อหากไม่มีแอปน่าสนใจให้พวกเขาได้ใช้บนแพลตฟอร์มเพียงพอ และนักพัฒนาก็จะไม่หันมาสนใจพัฒนาแอปด้วย หากแพลตฟอร์มนี้มีผู้ใช้งานน้อยนิด” ริชาร์ด เฮย์ จาก SuperSite for Windows กล่าว
“นับวันช่องว่างนี้ก็จะยิ่งห่างออกไปเรื่อยๆ เพราะ iOS กับแอนดรอยด์มีแอปใหม่ๆ เพิ่มขึ้นทุกวัน”
ปัญหานี้อาจแก้ได้หากตลาดนี้มีผู้ผลิตวินโดวส์โฟนรายอื่นๆ เข้าร่วมด้วย แต่น่าเสียดายที่ยอดขาย 97 เปอร์เซ็นต์ของตลาดวินโดวส์โฟนเป็นของไมโครซอฟท์แต่เพียงผู้เดียว (อ้างอิงจาก Ad Duplex)
ภาพจาก Associated Press
เดิมพันธุรกิจวินโดวส์โฟนกับ Windows 10
การเปิดตัวระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 จึงอาจเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ของวินโดวส์โฟน และสัดตยา นาเดลลา ว่าธุรกิจนี้จะอยู่หรือไป โดยระบบปฏิบัติการตัวใหม่นี้มาพร้อมคำกล่าวอ้างว่าสามารถทำงานได้บนทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์พีซี แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก หรือแม้กระทั่งสมาร์ทโฟน ซึ่งการเชื่อมต่อถึงกันได้แม้จะต่างแพลตฟอร์มนี้ได้ทำให้โอกาสในการแชร์โปรแกรมต่างๆ มีมากขึ้นตามไปด้วย และนั่นอาจ “ติดปีก” ให้วินโดวส์โฟนได้มากกว่าการหันไปรอความหวังจากนักพัฒนาภายนอก
อีกทั้งเฮย์ ยังระบุว่าวินโดวส์ 10 เป็นแพลตฟอร์มแบบยูนิเวอร์แซล ที่อาจดึงดูดให้นักพัฒนาหันมาสนใจมากขึ้น เพราะพัฒนาแอปเวอร์ชันเดียวก็สามารถรันได้ในทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งนี่อาจสร้างความแตกต่างให้วินโดวส์โฟนได้มากกว่า
ผลของการเดิมพันครั้งนี้จะเป็นอย่างไร อีกไม่นานเกินรอเราคงได้ทราบกัน แต่สำหรับวันนี้อาจกล่าวได้ว่า ประวัติศาสตร์การจับคู่ของบริษัทไอทีอย่าง “ไมโครซอฟท์-โนเกีย” ได้ถูกบันทึกเอาไว้ในฐานะของการร่วมทางที่ไม่ประสบความสำเร็จไปอีกหนึ่งรายแล้วอย่างแน่นอน โดยวัดได้จากชีวิตที่ต้องเดินออกจากชายคาไมโครซอฟท์กว่า 25,000 ชีวิตนั่นเอง