ไม่ใช่เฉพาะคนไทย แต่ดูเหมือนคนทั้งโลกกำลังเข้าใจ #dontjudgechallenge แบบผิดๆ และเล่นกิจกรรมฮิตโลกออนไลน์นี้แบบผิดๆ จนแทบจะทำให้ความหมายของกิจกรรมเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
หน้าวอลล์ของหลายๆ คนตอนนี้คงเต็มไปด้วยรูปแปลกๆ ของผู้คนโดยเฉพาะเหล่าคนดังที่ต่างลุกขึ้นมา “แต่งหน้าแต่งตา” แบบแปลกประหลาด ดูคล้ายตัวตลก บ้างก็เขียนคิ้วให้เข้มจนเป็นเส้นเดียว, ทาปากทาตาอย่างเลอะเทอะ, แต้มจุดบนใบหน้า หรืออาจจะหาแว่นกรอบใหญ่มาสวม และทำผมแบบที่คนทั่วไปคงไม่ทำกัน เพื่อโพสต์ภาพ หรือคลิปลงโซลเชียลเน็ตเวิร์กทาง Twitter, Vine หรือ Facebook พร้อมกับใบหน้าแบบ “ปกติ” ที่สวยหล่อ “ไร้ที่ติ” ของตัวเอง และติดแฮชแท็ก #dontjudgechallenge เอาไว้ด้วย
“Don’t Judge Challenge” คือกระแสฮิตล่าสุดจากโลกออนไลน์ ที่แน่นอนว่ามีที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งว่ากันว่ามีความหมายเพื่อรณรงค์ให้คน “อย่าตัดสินคนจากภายนอก” จึงเป็นกิจกรรมที่ดูเผินๆ แล้วก็คงไม่มีพิษมีภัยอะไร
แต่ในเวลาเดียวกันกลับเริ่มมีคนตั้งคำถามถึง “Don’t Judge Challenge” ว่าเป็นการละเล่นเพื่อสร้างค่านิยม “อย่าตัดสินผู้อื่นจากภายนอก” หรือจริงๆ แล้วมันเป็นตรงกันข้ามกันแน่!??
เล่นผิด … ความหมายเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง!!!
“#dontjudgechallenge นี่สงสัยเล่นได้เฉพาะคนหน้าตาดีนะ อิอิ” ใครบางคนแสดงความเห็นแบบขำๆ เอาไว้ในโซลเชียลเน็ตเวิร์กแห่งหนึ่ง ขณะที่อีกคนก็ตั้งคำถามแบบจริงจังว่า #dontjudgechallenge เป็นแค่กิจกรรม “อวดสวยอวดหล่อ” ของคน “หลงตัวเอง” กลุ่มหนึ่งเท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีผู้แสดงความเห็นว่า นอกจาก #dontjudgechallenge จะไม่ได้ส่งเสริมแนวคิด “อย่าตัดสินผู้อื่นจากภายนอก” เลยแล้ว กิจกรรมที่หลายๆ คนทำกันด้วยความสนุกสนานนี้ ยังเข้าข่ายเป็นการ “ตัดสินผู้อื่นจากรูปลักษณ์ภายนอก” อย่างชัดเจนด้วย เพราะชัดเจนว่าเป็นการแสดงออกที่ชี้ว่าการมีสิวเต็มหน้า, คิ้วหนากว่าคนทั่วไป, สวมแว่นกรอบหนา, ผมเผ้ารุงรัง หรืออะไรก็ตาม เป็น “สิ่งผิดปกติ” “ที่น่าตลก”, “น่าอับอาย” และตรงกันข้ามกับคำว่า “หน้าตาดี” โดยสิ้นเชิง… สุดท้าย Don’t Judge Challenge จึงไม่ได้มีความหมายในแง่บวกอะไรเลย ซ้ำร้ายอาจจะเข้าข่ายเป็นการล้อเลียนคนอื่นด้วยซ้ำ
“รู้รึเปล่าอะไรที่น่าเกลียดยิ่งกว่า … ก็คนที่ล้อเลียนคนอื่น ที่หน้าตา หรือการแต่งตัวอาจจะแตกต่างจากคนอื่นไง!! เลิกดูถูกคนอื่นได้แล้ว!!!” ผู้ใช้ Twitter ที่ชื่อ เมดิสัน ทรูสสแกน แสดงความเห็นเกี่ยวกับ #dontjudgechallenge
เช่นเดียวกับ แคทเธอรีน โวอาชลินสกี ที่ทวีตข้อความว่า “#dontjudgechallenge มันควรจะเป็นการแสดงจุดยืนที่จะไม่ตัดสินผู้อื่นจากภายนอกไม่ใช่เหรอ!! มันควรจะเป็นเรื่องดีต่างหาก ที่ฉันไม่ชอบก็คือสุดท้ายกลายเป็นว่าคนกลับใช้มาตรฐานตัวเอง ในการตัดสินว่าอะไรที่เรียกว่าน่าเกลียดไปแล้ว”
เพจดังติง คนไทยเข้าใจความหมายผิด
ในไทยเอง เหล่าบรรดา ดาราดัง เซเลบริตี้ ทั้งหลายไม่ยอมน้อยหน้า ออกมาโหนกระแสแคมเปญ Don’t Judge Challenge ด้วยการออกมาแปลงโฉม แต่งหน้า วาดหน้าตาให้เป็นคนน่าเกลียด ก่อนจะเปิดกลับมาอีกครั้ง โชว์ความสวย ความหล่อ ได้พื้นที่บนหน้าสื่อไปเต็มๆ
แต่เป็นกระแสได้ไม่นาน เมื่อเพจดังอย่าง “ดราม่า แอดดริก” ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ถึงกระแสที่บรรดาคนดัง เซเลบฯ ทั้งหลาย ต่างแต่งหน้าตัวเองให้ขี้ริ้วขี้เหร่ โดยอ้างว่าร่วมแคมเปญ เพื่อให้กำลังใจคนหน้าตาไม่ดี ไม่สวยไม่หล่อว่าอย่าเสียใจไปเลย คนเราไม่ควรตัดสินใจกันที่ภายนอก แต่ประเด็นคือ แคมเปญนี้ทำอย่างนี้จริงๆ เหรอ
“เป็นคลิปแนวๆ เสริมสร้าง self esteem ถ้าใครอยากร่วมแคมเปญนี้ คุณไม่ต้องไปแต่งหน้าให้ดูหน้าเกลียด สิวเขรอะอะไรเทือกนั้นหรอก ยิ่งทำ ยิ่งกลายเป็นตอกย้ำคนที่หน้าตาไม่หล่อไม่สวยเข้าไปใหญ่ เหมือนเขาเป็นตัวตลกยังไงยังงั้น
ถ้าอยากร่วมแคมเปญนี้ ทำง่ายๆ มึงไปล้างเครื่องสำอางมึงออกเลยฮะ แล้วมาดูกันว่าหนังหน้าสดๆแบบไม่มีเมกอัพมันเป็นยังไง”
รวมทั้งแอดมินของเพจ Gthai movie ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า คนไทยเข้าใจ Don’t Judge Challenge ผิดไปหมดแล้ว
“แคมเปญ #DontJudgeChallenge จริงๆ แล้วมาจากสาวคนหนึ่ง ได้โชว์ลบเครื่องสำอางออกจากหน้า เผยให้เห็นว่า จริงๆ เธอหน้าตาไม่ดี ซึ่งตอนเธอแต่งหน้า มีแต่คนชมว่าสวย แต่พอไม่แต่งหน้ากลับว่าเธออัปลักษณ์ เธอจึงบอกทุกคนว่า ‘มันถูกต้องแล้วเหรอ ที่ความงามของคนเกิดจากเครื่องสำอาง ไม่ใช่เกิดจากจิตใจ’”
“ผลก็คือ พวกคนหน้าตาดีๆ ทั้งหลาย (ทั้งเมืองนอกและเมืองไทย) พากันตีความผิดๆ กันหมด พากันแต่งหน้าให้ตัวเองอัปลักษณ์ก่อน แล้วค่อยลบออก แล้วอวดความสวยความหล่อของตัวเองกันใหญ่? อ้าว!!? ทุกอย่างผิดเพี้ยนไปหมด กลายเป็นว่าพวกคนหน้าตาดีได้โอกาสในการอวดความสวยความหล่อของตัวเอง ใช้การแกล้งแต่งหน้าให้น่าเกลียดๆ ก่อน แล้วอวดความสวยความหล่อทีหลัง”
#dontjudgechallenge ของจริง
ว่ากันว่า don’t judge challenge มีจุดเริ่มต้นจากคลิปของบล็อกเกอร์ชื่อดัง “เอ็ม ฟอร์ด” ชาวอังกฤษที่เผยโฉมหน้าสดของตัวเอง ที่มีรอยสิวบนใบหน้า แบบไม่มีการปกปิดด้วยเครื่องสำอางใดๆ จนโดนวิจารณ์ในแง่ลบมากมาย แต่เมื่อเธอเผยภาพของตัวเองแบบแต่งหน้าจัดเต็ม ก็กลับถูกเสียดสีอีกว่าเป็นพวกจอมปลอม
สุดท้าย ฟอร์ด จึงเลือกที่จะต่อสู้กับคำด่าทออันรุนแรง ด้วยการโพสต์คลิปความยาว 3 นาที ที่แสดงภาพใบหน้าแท้ๆ ของเธอ แบบไม่มีการแต่งเติมใดๆ และไม่ได้เรียบเนียนอย่างที่สังคมคาดหวัง โดย ฟอร์ด เลือกที่จะไม่พูดอธิบายใดๆ แต่ขึ้นตัวข้อความในแง่ลบต่างๆ ที่เธอต้องเผชิญในตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา อาทิ “น่ารังเกียจ”, “แทบจะทนดูหน้าเธอไม่ไหวแล้ว” และอีกมากมาย
ไม่เท่านั้น ฟอร์ด ยังเผยข้อความเสียดสีที่เธอโดนตนเองแต่งหน้าเต็มยศ ซึ่งก็รุนแรง และหยาบคายพอๆ กัน เพื่อสื่อแทนผู้หญิงทุกคน ว่าพวกเธออ่อนไหวต่อคำวิจารณ์แค่ไหน และถึงขั้นหัวใจสลายกันมาแล้ว เมื่อต้องเจอถ้อยคำหยาบคาย ที่วิจารณ์เกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอกของพวกเธอ
คลิปของ เอ็ม ฟอร์ด ที่มีคนกดเข้าไปดูใน Youtube ถึง 12 ล้านครั้งจึงกลายเป็นแรงบันดาลของการเล่น Don’t Judge Challenge แต่เมื่อมองถึงความหมายที่แฝงอยู่แล้ว การเล่น Don’t Judge Challenge ของคนส่วนใหญ่กับคลิปของ เอ็ม ฟอร์ด กลับมีความหมายที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ถึงตอนนี้สาวๆ บางคนจึงเริ่มโพสต์คลิป หรือภาพ Don’t Judge Challenge “ของจริง” ออกมาบ้าง ด้วยการเผยภาพที่แต่งหน้าตาปกติ และใบหน้าที่ลบเครื่องสำอางออกหมดแล้ว ที่อาจจะเผยให้เห็นถึงแผลเป็น หรือสิว ฝ้า กระ บนใบหน้า เพื่อแสดง “ความสวยที่แท้จริง” ของตัวเอง ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นกิจกรรมแปลกใหม่ที่น่าสนุกน่าตื่นเต้นเท่าแบบที่กำลังเล่นกันเต็มโลกออนไลน์ในขณะนี้ แต่ก็น่าจะมีความหมายถึงการส่งเสริมค่านิยม “อย่าตัดสินคนจากภายนอก” มากกว่า
กิจกรรม “Challenge” สะท้อนความฉาบฉวยโลกออนไลน์
Don’t Judge Challenge ไม่ใช่กิจกรรม “ส่งคำท้าทาย” อันแรกที่ฮิตเป็นกระแสอยู่ในโลกออนไลน์ แต่ที่ผ่านมาบรรดาผู้คนที่สิงสู่ใช้ชีวิตอยู่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กก็มักจะมีอะไรให้เล่นกันอยู่เป็นระยะๆ อยู่ตลอด
และหากจะพูดถึง Challenge ที่ดังที่สุดก็คงต้องพูดถึง Ice Bucket Challenge ที่ท้าด้วยการใช้ถังน้ำแข็งราดตัว เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ เอแอลเอส ซึ่งฮิตไปทั่วโลกจนสามารถหาเงินให้กับ ALS Association และองค์กรที่เกี่ยวกับการวิจัยเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้เกิน 100 ล้านเหรียญฯ และมีผู้เข้าร่วมมากมาย แม้บางคนจะแทบไม่ทราบเกี่ยวกับเรื่องโรค ALS หรือสนใจการบริจาคเงินอะไรเลย
หลังจากนั้นก็เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยขึ้นอีกครั้งกับ #WakeUpCall ที่เริ่มจากคนดังจากฝั่งอังกฤษ ที่ท้าทายกันถ่ายภาพเซลฟีหน้าสด ทันทีที่ตื่นนอน เพื่อหาเงินช่วยเหลือ UNICEF และเป็นการ “ปลุก” คนให้รับรู้ถึงวิกฤติของเหล่าเด็กๆ ในซีเรีย ผ่านโครงการเงินทุนฉุกเฉินเพื่อซีเรีย แต่สุดท้ายเมื่อ #WakeUpCall ถูกเผยแพร่ไปในวงกว้าง ก็แทบไม่มีใครสนใจประเด็นเกี่ยวกับเด็กในซีเรียอีก
ในตอนที่ Ice Bucket Challenge ฮิตไปทั่วโลก มีเสียงวิจารณ์ว่ากิจกรรมแบบนี้เป็นเรื่องของการ “โปรโมตตัวเอง” ของเหล่าคนดัง, การได้เล่นสนุก และความรู้สึกว่าตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมสำหรับชาวเน็ตทั่วไป นอกจากนั้นคนดังในภาคส่วนต่างๆ บางคนก็อาจจะใช้ Ice Bucket Challenge โชว์ “เส้นสายคอนเน็กชั่น” ในการท้าทายคนดังรายอื่นๆ ต่อไปอีก 3 คนด้วย ส่วนเรื่องการบริจาคเงินเป็นเพียง “ส่วนประกอบเล็กๆ ของกิจกรรมเท่านั้น
สุดท้าย Ice Bucket Challenge และกิจกรรมแนวเดียวกันที่ตามหลังมาอีกมากมายจึงเป็นแค่ “Meme” ที่สามารถดังไปว่อนเน็ตได้ในระยะเวลาแค่ข้ามคืน และหากจะเงียบหายไปในเวลาไม่ถึงข้ามวันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย… และแม้มันจะถูกบิดเบือนความหมายหรือรูปแบบไปบ้างก็คงไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร หากกิจกรรมดังกล่าวจะไม่ส่งสารที่ผิดเพี้ยนแบบที่ dontjudgechallenge กำลังเป็นอยู่