เฟซบุ๊ก (Facebook) เตรียมปราบคลิปเถื่อนบนเว็บไซต์ด้วยเทคโนโลยี Video Matching แบบใหม่ ที่สามารถแจ้งเตือนไปยังผู้ผลิตสื่อตัวจริงได้ทันที หากพบว่ามีคลิปวิดีโอของผู้ผลิตรายนั้นๆ ถูกยูสเซอร์คนอื่นนำมา “โพสต์ซ้ำ” (repost) บนเฟซบุ๊กโดยไม่ได้รับอนุญาต
ความพยายามของเฟซบุ๊กในการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับคลิปวิดีโอเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทางบริษัทได้มีการพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ มากมาย รวมถึงการแบ่งรายได้จากค่าโฆษณาให้แก่ผู้ผลิตสื่อชิ้นนั้นๆ ด้วย
อย่างไรก็ดี ได้มีเสียงบ่นดังมาจากฟากของผู้ผลิตสื่อบนยูทิวบ์ (YouTube) เช่น แฮงค์ กรีน (Hank Green) หรือแบรดดี้ ฮาราน (Brady Haran) ที่ออกมาโพสต์ในทำนองว่า เฟซบุ๊กมีการจัดการต่อคลิปวิดีโอเถื่อนบนแพลตฟอร์มที่ค่อนข้างช้า อีกทั้งในการวิจัยของบริษัทเอเบยนซีโฆษณาอย่างโอกิลวี่ ที่พบว่า กว่า 73 เปอร์เซ็นต์ของคลิปวิดีโอยอดนิยมบนเฟซบุ๊กนั้นถูกดึงมาจากเว็บไซต์อื่นทั้งสิ้น ล่าสุด ทางเฟซบุ๊กจึงได้ขยับตัวขึ้นมาจัดการปัญหาดังกล่าวบนแพลตฟอร์มของตนเองแล้ว
โดยทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า บริษัทได้พัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์ และจับคู่ภาพที่รวดเร็ว และแม่นยำมากขึ้นออกมา ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถวิเคราะห์คลิปหลายล้านคลิปที่ถูกอัปโหลดขึ้นเฟซบุ๊ก แถมยังสามารถแจ้งเตือนไปยังผู้ผลิตสื่อที่เป็นเจ้าของตัวจริงได้อย่างรวดเร็ว และเจ้าของผลงานก็สามารถรายงานมายังเฟซบุ๊กเพื่อขอให้ลบคลิปดังกล่าวออกได้เลยทันที
อย่างไรก็ดี เครื่องมือใหม่นี้จะเปิดให้ทดลองใช้งานเฉพาะในกลุ่มย่อยของพาร์ตเนอร์ก่อน ซึ่งทางบีบีซีนิวส์ ได้เผยว่า ความสามารถของเครื่องมือดังกล่าวจะสามารถจับภาพเคลื่อนไหวสั้นๆ ที่อาจถูกดึงมาจากบางคลิปโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ด้วย
มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยระหว่างเครื่องมือดังกล่าวของเฟซบุ๊กเมื่อเทียบกับของยูทิวบ์คือ ในกรณีของยูทิวบ์ ระบบจะบล็อกคอนเทนต์ที่มีละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ให้ขึ้นเผยแพร่ทันที แต่ระบบของเฟซบุ๊ก จะแจ้งให้เจ้าของลิขสิทธิ์ทราบ และให้เจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้แจ้งลบมายังเฟซบุ๊กแทน
จะปราบได้หมดหรือไม่ อีกไม่นานคงทราบกัน