การแจกบัตรเชิญแก่สื่อมวลชนพร้อมข้อความว่า “Hey Siri, give us a hint” รวมถึงการเปลี่ยนสถานที่จัดงานเป็น “บิลล์ เกรแฮม ซีวิค ออดิทอเรียม” (The Bill Graham Auditorium) ในซานฟรานซิสโก ซึ่งรองรับผู้เข้าร่วมงานได้มากถึง 7,000 คน กำลังเป็นสิ่งที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดสำหรับอีเวนต์ของแอปเปิล (Apple) ที่จะจัดขึ้นในเวลา 10.00 น. ของวันที่ 9 กันยายนที่จะถึงนี้
ที่ผ่านมา แอปเปิลเคยเปิดตัวโปรดักต์ใหม่ที่ Yerba Buena Center ในซานฟรานซิสโก (รองรับผู้เข้าร่วมงานได้ 757 คน) หรือปี ค.ศ.2014 ที่ฟลินท์ เซนเตอร์ (Flint Center) ที่จุได้ 2,405 คน แต่ในปีนี้การเปลี่ยนสถานที่ให้รองรับผู้เข้าร่วมงานได้มากขนาดนี้ย่อมถูกแปลได้ว่า แอปเปิลมีปรากฏการณ์ระดับบิ๊กๆ รออยู่ในวันที่ 9 กันยายนนี้อย่างแน่นอน
ยิ่งผนวกกับคำบอกใบ้โดยมีการเอ่ยถึงชื่อของ Siri ยิ่งทำให้มีการคาดการณ์กันว่า ผู้ช่วยคนนี้จะมีบทบาท และมีส่วนร่วมภายในงานอีเวนต์อย่างสูง ซึ่งอาจเหนือกว่าการเปิดตัวไอโฟนรุ่นใหม่ แอปเปิลทีวีรุ่นใหม่ หรือการเปิดตัว WatchOS 2.0 ก็เป็นได้
นอกจากแขกที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงาน ผู้ใช้ไอโฟน ไอแพด หรือไอพ็อด ทัช รวมถึงผู้ใช้แมคก็สามารถรับชมบรรยากาศสดผ่านบริการ Live Streaming นี้ได้ด้วย โดยไอโฟน ไอแพด ไอพ็อดทัช รับชมได้ผ่านซาฟารีบน iOS 7.0 ขึ้นไป ส่วนผู้ใช้แมค ต้องเป็น Safari 6.0.5 ขึ้นไป บนระบบปฏิบัติการ OS X v10.8.5 ขึ้นไป ด้านผู้ใช้วินโดวส์ ก็สามารถรับชมได้ผ่านเบราเซอร์ “Edge” ของวินโดวส์ 10 (Windows 10) หรือจะรับชมผ่าน Apple TV ก็ต้องเป็นรุ่นที่รองรับซอฟต์แวร์ 6.2 ขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ไม่มีการเอ่ยถึงเบราเซอร์จากค่ายอื่นๆ เช่น กูเกิล (Google) หรือมอซิลล่า (Firefox) ที่มีการใช้งานอย่างกว้างขวางในปัจจุบันแต่อย่างใด
ด้านผู้เข้าเยี่ยมชมบล็อกของ MacRumors ยังมีการวิเคราะห์กันว่า สีที่แอปเปิลใช้ในบัตรเชิญที่ส่งให้สื่อมวลชนนั้นเป็นสีที่คล้ายกับแท่งสีในทีวีสมัยก่อน เวลาที่สถานีปิดรายการ ซึ่งอาจสื่อความหมายถึงโปรดักต์ Apple TV นั่นเอง
สำหรับใครที่ลองเข้าไปถาม Siri ดูแล้วจะพบว่า คำตอบจาก Siri มีค่อนข้างหลากหลาย เช่น คำตอบที่ว่า “Look deep within yourself and you will find the answer. Expecially on September 9.” ซึ่งในจุดนี้มีผู้ใช้งานบางส่วนวิเคราะห์ว่า เป็นฟีเจอร์ Force Touch บนไอโฟนนั่นเอง อย่างไรก็ดี อาจกล่าวได้ว่าคำตอบของ Siri ยังไม่สามารถชี้ชัดสิ่งใดได้เลย
แต่นอกจากการเปิดตัวโปรดักต์ใหม่ในอีเวนต์วันที่ 9 กันยายนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้คนต้องการทราบไม่แพ้กันคือ วันที่แอปเปิลจะวางตลาดโปรดักต์ดังกล่าว ซึ่งมียักษ์ใหญ่ค้าปลีกอย่างเบสต์บาย (Best Buy) ได้ออกมาบอกใบ้ถึงวันที่นั้นๆ กันแล้ว นั่นก็คือวันที่ 14 กันยายน
โดยเบสต์บาย ได้ออกมาประกาศว่า บริษัทจะเริ่มวางจำหน่าย AppleCare และ AppleCare+ ในวันดังกล่าว ทำให้มีการจับโยงกับข้อมูลการวางจำหน่ายไอโฟนรุ่นใหม่ไปแล้วเรียบร้อย ทั้งนี้ 9to5Mac ยังได้ให้ความเห็นว่า เป็นการโยงข้อมูลที่ค่อนข้าง “มีมูล” เสียด้วย
โดย 9to5Mac ให้เหตุผลว่า โดยปกติแล้วในการเปิดตัวโปรดักต์ใหม่ของแอปเปิลนั้นจะทิ้งระยะเวลาช่วงหนึ่งก่อนจะถึงวันวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ซึ่งหากแอปเปิลจัดอีเวนต์ในวันที่ 9 กันยายน การเริ่มจำหน่ายจริงในวันที่ 14 กันยายนก็มีความเป็นไปได้สูง อีกทั้งเบสต์บายยังเป็นบริษัทค้าปลีกแห่งแรกที่เป็นพันธมิตรของแอปเปิลในระดับที่สามารถขายโปรแกรม AppleCare ได้ ข่าวลือนี้จึงยิ่งน่าเชื่อถือในหมู่สาวกแอปเปิลไปโดยปริยาย
***แกะรอยแอปเปิล ลุยธุรกิจ “Augmented Reality”
นอกจากข่าวลือเกี่ยวกับบิ๊กอีเวนต์ในวันที่ 9 กันยายนแล้ว ในโลกอินเทอร์เน็ตยังมีการอ้างถึงข้อมูลการวิจัย และพัฒนาด้าน Augmented Reality (AR) ของแอปเปิลปรากฏอยู่อย่างน่าสนใจด้วย
โดยผู้ที่ออกมาเปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวคือ นักวิเคราะห์อย่าง ไปเปอร์ แจฟเฟรย์ จาก Gene Munster ที่ระบุว่า เขาพบสัญญาณบางประการจากแอปเปิลที่แปลได้ว่า แอปเปิลกำลังเบนเข็มเข้าสู่ตลาดนี้แล้วอย่างเต็มตัว
สัญญาณแรกก็คือ การซื้อกิจการบริษัทสัญชาติเยอรมัน ชื่อ “Metaio” ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) ตามการรายงานของ 9to5Mac ระบุว่า บริษัทอาจนำเทคโนโลยี AR นี้ไปใช้เพิ่มความสามารถให้แก่แอปแผนที่ของบริษัท เช่น ผู้ใช้เพียงถือเปิดแอปแผนที่ในไอโฟน หรือไอแพดแล้วชี้ไปยังสถานที่ หรือทิศทางต่างๆ ระบบจะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ที่อุปกรณ์ชี้ไปขึ้นมาให้นั่นเอง
ไม่เพียงเท่านั้น การซื้อบริษัท Metaion ซึ่งมีสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับ AR มากถึง 171 ชิ้น ยังทำให้แอปเปิลผงาดขึ้นมาเป็นบริษัทที่มีสิทธิบัตรด้าน Augmented Reality มากเป็นอันดับที่ 11 ของโลกเลยทีเดียว (อย่างไรก็ดี ไมโครซอฟท์ โซนี่ และซัมซุง ยังมีตำแหน่งสูงกว่าแอปเปิลในด้านการครอบครองสิทธิบัตร AR)
นอกจากนี้ ในส่วนของแอปเปิลเองก็เคยยื่นจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับการพัฒนาอุปกรณ์สวมศีรษะที่ต้องทำงานร่วมกับ “Portable Electronic Device” (ในสิทธิบัตรจะพบว่า มีรูปร่างคล้ายไอโฟน) เพื่อการรับชมภาพเอาไว้ตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ.2008 ด้วย โดยสิทธิบัตรตัวนี้เพิ่งชนะคดี และสามารถจดได้สำเร็จเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง
ไม่เฉพาะเทคโนโลยี AR ในปี ค.ศ.2013 ที่ผ่านมา แอปเปิลยังเคยซื้อกิจการบริษัทสัญชาติอิสราเอล ชื่อ PrimeSense ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยี 3D Sensing อันโด่งดัง แถมยังมีชื่อเสียงในฐานะเจ้าของเทคโนโลยีชิป และการออกแบบฮาร์ดแวร์ให้ไมโครซอฟท์ (Microsoft) นำไปใช้กับระบบตรวจจับการเคลื่อนไหว Kinect ของ Xbox 360 ด้วย
ในด้านบุคลากรเอง แอปเปิลได้มีการดึงตัว Nick Thompson วิศวกรด้านเสียง (Audio Engineer) จากไมโครซอฟท์ผู้เคยทำงานให้กับทีมโฮโลเลนส์ (HoloLens) เข้าบริษัทแล้วเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งในจุดนี้ทางนักวิเคราะห์เผยว่า ได้ทราบมาจากเว็บไซต์ LinkedIn นั่นเอง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า แอปเปิลเข้าใจดีถึงความสำคัญของระบบเสียงว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากสำหรับโลกของ AR เนื่องจากเสียงที่ส่งออกมาจากทิศทางที่เหมาะสมสามารถเพิ่มประสบการณ์ในการใช้งานอุปกรณ์ AR ได้อย่างมาก
พิจารณาแล้วอาจพบว่า ไม่แปลกหากแอปเปิลจะลงมาลุยในธุรกิจ Augmented Reality กับเขาด้วย เพราะเมื่อมองไปรอบตัว คู่แข่งของแอปเปิลทั้งไมโครซอฟท์ กูเกิล และเฟซบุ๊กต่างอยู่ในธุรกิจนี้กันแล้วทั้งสิ้น
และไม่แน่ว่า นี่อาจเป็นบิ๊กอีเวนต์ที่ซ่อนอยู่ในงานวันที่ 9 กันยายนด้วยก็เป็นได้
ที่มา : http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9580000100313