ตามที่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาสื่อ (Media Research Bureau หรือ MRB) ได้ยื่นขอรับทุนสนับสนุนเพื่อวิจัยวัดระดับความนิยมของผู้ชมทีวี (เรทติ้ง) จำนวน 394.2 ล้านบาท มาที่คณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)
ล่าสุด ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) และในฐานะกรรมการ และเลขานุการ บริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อผลประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เปิดเผยถึงการประชุม คณะกรรมการกทสป. ในวันนี้ (8 ตุลาคม 2558) ว่า คณะกรรมการกทสป.มีมติตามความเห็นของอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. ที่ให้ความเห็นว่า การยื่นของบวิจัยวัดระดับความนิยมของผู้ชมทีวี (เรทติ้ง) จำนวน 394.2 ล้านบาท ของเอ็มอาร์บี ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือผู้บริโภคโดยตรง ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนแต่อย่างใด
ความเห็นของอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของกสทช. ที่มี อัครวิทย์ สุมาวงศ์ เป็นประธานอนุกรรมการ ให้ความเห็นใน 2 ข้อ คือ
1.ผลผลิตการวิจัยที่เกิดขึ้นในโครงการเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ที่เป็นสมาชิกสมาคม ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ประกอบกิจการเอกชน ดังนั้นถือได้ว่าโครงการดังกล่าวเป็นงานวิจัยที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือผู้บริโภคโดยตรง
2.การส่งเสริมให้เกิดการวิจัย ผู้ประกอบกิจการควรร่วมมือกันดำเนินการเอง และควรปล่อยให้เป็นกลไกการแข่งขันในตลาดโทรทัศน์ ที่จะเป็นตัวกำหนด “จำนวน” ของผู้จัดให้มีการวัดเรทติ้ง โดยหน่วยงานกำกับดูแลควรมีหน้าที่ออกกฎเกณฑ์ ระเบียบที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการแข่งขัน
ที่ประชุมอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของกสทช. จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นว่า โครงการวิจัยเรตติ้งของเอ็มอาร์บี ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2553
สำหรับที่มาของการขอทุนสนับสนุนเพื่อวิจัยเรทติ้ง มาจากสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย ร่วมกับผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ จัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ Media Research Bureau หรือ MRB โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการควบคุม และกำกับการวัดเรทติ้งให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง สอดคล้องกับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ เช่น การเพิ่มกลุ่มตัวอย่างมากขึ้น และรองรับการรับชมผ่านการดูหลายจอ หรือ มัลติสกรีน โดยได้เปิดประมูลและคัดเลือกผู้วิจัยเรทติ้งทีวี รายใหม่ขึ้น โดยได้บริษัทกันตาร์ มีเดีย เป็นผู้ชนะ คาดว่าจะต้องใช้เงินทุนในการวิจัยเรทติ้ง ประมาณ 1,500 ล้านบาท คาดว่าผู้ประกอบการต้องควักเงินกันไม่น้อยกว่า 9-10 ล้านบาทต่อปี ต่อมาเอ็มอาร์บี จึงได้ยื่นขอเงินสนับสนุนมาที่กสทช.
หลังจากนั้นไม่นาน นีลเส็น ประเทศไทย บริษัทวัดเรทติ้งรายเดิม และบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์ และวิทยุ หรือ ช่อง 7 ได้ยื่นหนังสือทักท้วงไปยัง คณะกรรมการกสทช และบอร์ดกองทุน กทปส.ขอให้พิจารณาทบทวนการขอทุนสนับสนุนของเอ็มอาร์บี โดยให้เหตผลว่า ไม่สอดคล้องกับ วัตถุประสงค์ในการจัดสรรเงินของกองทุน กทปส.ตาม พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามสถานีโทรทัศน์ และเอเยนซี่โฆษณา ที่ได้ตอบรับเข้าร่วมในการใช้เรทติ้งใหม่จาก MRB ก็ระบุว่า การไม่ได้รับอนุมัติเงินสนับสนุนวิจัยเรทติ้ง จากกสทช. ไม่น่าส่งผลกระทบ โดยยังคงสนับสนุนให้มีการจัดทำเรทติ้งต่อไป เพราะได้มีการพูดคุยกันมาตั้งแต่แรกแล้วว่า จะต้องใช้เงินเพื่อซื้อข้อมูลเรทติ้งรายละประมาณ 9-10 ล้าน ในขณะที่บางรายมองว่า การมีผู้วัดเรทติ้ง 2 ราย น่าจะเป็นผลดี ส่งผลให้เกิดการพัฒนารูปแบบการวัดเรทติ้งใหม่ๆเกิดขึ้น