อินสตาแกรม ได้เวลาหารายได้

หลังจากเฟซบุ๊ก เตรียมเข้ามาเปิดสำนักงานในไทย  เพื่อโฟกัสธุรกิจในไทยมากขึ้น อีกหนึ่งในแพลทฟอร์ม สำคัญ ที่จะถูกผลักดันต่อไป คือ โฆษณาบนอินสตาแกรม หรือ ไอจี 

การเปิดตัวโฆษณาบนแพลตฟอร์ม อินสตาแกรม ในประเทศไทย จึงเป็นการตอบสนองต่อเทรนด์ที่เด่นชัดของการลงทุนโฆษณาบนสื่อดิจิตอล ที่คาดว่าจะเติบโตสูงขึ้น เป็นจำนวนเงินกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทภายในปีนี้ (ข้อมูลจาก TNS) และยังเป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยด้วย

ดูจากตัวเลขผู้ใช้งานไอจี ในปี 2010 ที่พุ่งไปถึง 150 คน ภายในเวลา 2 ปี รวดเร็วกว่า เฟซบุ๊กด้วยซ้ำ และเป็นระยะเวลาเพียงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเวลาของทวิตเตอร์ และด้วยจำนวนผู้ใช้งานแอคทีฟในปัจจุบันที่พุ่งสูงถึง 400 ล้านคน โดย 75 % ของผู้ใช้งานอาศัยอยู่นอกประเทศสหรัฐอเมริกา เห็นได้ชัดว่าแพลตฟอร์มการแบ่งปันรูปภาพบนมือถือนี้มีการเติบโตที่สูงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

การเติบโตของการใช้งานอินสตาแกรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก เนื่องจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะผ่านทางเดสก์ท็อปหรือมือถือ  ซึ่งจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยยังมีมากกว่าประชากรทั้งหมด เพราะหลายคนมีเบอร์โทรศัพท์มือถือมากกว่าหนึ่งเบอร์ (สำนักงานกสทช, ธันวาคม 2557)

นอกจากนี้ คนไทยยังครองสถิติการใช้เวลาบนโซเชียลเน็ตเวิร์กสูงที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจำนวนผู้ใช้งานแอคทีฟบนอินสตาแกรมต่อเดือน มากกว่า 7.1 ล้านคน (รายงานเกี่ยวกับรายได้ของ Facebook ประจำไตรมาส 1 2558)

ธุรกิจออนไลน์บนมือถือผ่านอินสตาแกรม เฟื่องฟูเป็นอย่างมาก ทั้งในประเทศไทยแลอินโดนีเซีย  ถ้าเสิร์ชคีย์เวิร์ดง่ายๆ ด้วยแฮชแท็ก #Instashop หรือ #InstaSale จะปรากฏร้านค้าออนไลน์บน

อินสตาแกรมจำนวนมาก ซึ่งจำหน่ายสินค้าหลากหลาย ตั้งแต่รองเท้าและกระเป๋าจากดีไซน์เนอร์ เครื่องประดับ ไปจนถึงเสื้อผ้าแนววินเทจ

นอกเหนือจากประเทศไทย ไอจี ยังเห็นสัญญาณการเติบโตในประเทศอื่นๆ ของภูมิภาคนี้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน  ไอจีจึงต้องการเข้าไปเป็น “สื่อการตลาดออนไลน์” สำหรับผู้ที่เริ่มธุรกิจออนไลน์ของตนเอง และเชื่อมต่อระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ ยกตัวอย่างในประเทศเกาหลี แบรนด์เครื่องสำอางค์ได้เริ่มใช้ไอจี นำเสนอเกี่ยวกับภาพผลิตภัณฑ์เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาด โดยมองว่าเป็นช่วงจังหวะที่ธุรกิจไทยใช้ “ไอจี”ในการเป็นเครื่องมือการตลาดด้วยเช่นกัน

เปิดพฤติกรรมชุมชนอินสตาแกรม

ส่วนพฤติกรรมของชาวไอจี มักจะอยากรู้อยากเห็น ตื่นตัวกับสิ่งสวยงามทั้งหลาย และมักจะมองโลกผ่านเลนส์ภาพ โดยสถิติพบว่าชาวไอจีจะเช็คหน้าฟีดหลายครั้งต่อวัน ซึ่งไม่เพียงมาจากกลุ่มเพื่อน แต่ยังมาจากชุมชนที่มีความชื่นชอบในแบบเดียวกันอีกด้วย

ในประเทศออสเตรเลียกว่า 58 % ของผู้ใช้งานไอจี มองว่า  แพลตฟอร์มนี้ช่วยให้พวกเขาได้ฝัน หัวเราะ และใช้ความคิด

คนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 18 ถึง 34 ปี ระบุถึงการใช้งานอินสตาแกรมเพื่อค้นหาเรื่องราวความสร้างสรรค์ที่ไม่รู้จบ เช่นเดียวกับสำรวจสินค้าและบริการใหม่ๆ จากแบรนด์ต่างๆ ผู้ใช้งานอินสตาแกรม 4 ใน 10 คน มีแนวโน้มว่าหลังจากเห็นโฆษณา พวกเขาจะแวะเข้าชมเว็บไซต์หรือแฟนเพจ Facebook ของแบรนด์นั้นๆ กดไลค์โพสท์ หรือแท็คเพื่อนๆที่คิดว่าสนใจ (ผลวิจัยจากบริษัท Hoop Group มีนาคม 2558)

ภาพที่ถูกแบ่งปันส่วนใหญ่ ก็จะเกี่ยวกับแฟชั่น อาหารการกิน สุขภาพและกีฬา การท่องเที่ยว ดนตรีและภาพยนตร์ ไปจนถึงภาพของแบรนด์สินค้าต่างๆ ซึ่งปัจจุบันแพลตฟอร์มอินสตาแกรม มีโอกาสอย่างมากที่จะเติบโต และมีหน้าที่สำคัญในการเชื่อมต่อกับกลุ่มคน เนื่องจากชาวอินสตาแกรมต่างใช้งานเพื่อเปิดรับสิ่งใหม่ และค้นหาแรงบันดาลใจอยู่แล้ว

พลังของการแชร์รูปภาพ

จากภาพกว่า 80 ล้านภาพที่ถูกแชร์จากทั่วทุกมุมโลก ผ่านไอจีในแต่ละวัน ภาพแต่ละภาพนั้น มีพลังที่จะสื่อความหมายเป็นสากล อยู่เหนือความแตกต่างทางวัฒนธรรมและรูปธรรม และเปิดมุมมองใหม่ๆให้กับผู้คน

ชาวไอจี โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก แชร์รูปภาพเพื่อแสดงออกและบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของพวกเขา  ทำให้ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ห้างสรรพสินค้าใจกลางกรุงเทพมหานคร เคยรั้งอันดับต้นๆ ของสถานที่ที่มีผู้คนแท็คในอินสตาแกรมมากที่สุดในโลก

วิวของ เกาะฮ่องกง ได้ถูกแชร์ผ่านอินสตาแกรม และเป็นที่นิยมโด่งดังในหมู่ชาวไต้หวัน ในขณะที่ชุมชนท้องถิ่นในไต้หวันกำลังร่วมกันช่วยเหลือและปกป้องหมู่บ้านสายรุ้งที่สวยงาม (Rainbow Village) ไม่ให้ถูกทำลายรื้อถอน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก็ได้นำเสนอวัฒนธรรมอันหลากหลายของประเทศ รวมถึงวิวทิวทัศน์ในมุมมองต่างๆ ผ่านช่องทางอินสตาแกรม

เช่นเดียวกัน แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่บนไอจี ได้แบ่งปันรูปภาพที่เล่าเรื่องราว สร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วมให้กับผู้คน แต่ก็อย่ามองข้ามฟีดรูปภาพของผู้ใช้งานอินสตาแกรมทั่วไป ที่ได้แบ่งปันรูปภาพที่มีความสร้างสรรค์มากเช่นกัน

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่านักการตลาดจำเป็นจะต้องทุ่มทุนจำนวนมากกับโปรดักชั่นการถ่ายภาพ เจ้าของธุรกิจรายย่อยๆและผู้ชอบงานอดิเรกกว่าหลายพันราย ได้แบ่งปันคอนเทนต์บนอินสตาแกรม ด้วยรูปภาพธรรมดาที่ทำการปรับแต่งอย่างเรียบง่าย และใส่ฟิลเตอร์แบบต่างๆ บนมือถือของพวกเขา

จับคู่การใช้งานอินสตาแกรม กับ Facebook

จากสถิติที่ว่าชาวออนไลน์ใช้เวลาทุกๆ 1 ใน 5 นาที บน Facebook หรืออินสตาแกรม (รายงานเกี่ยวกับรายได้ของ Facebook ประจำไตรมาส 1 2558 )

แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องทำความเข้าใจว่าผู้คนใช้งานแพลตฟอร์มทั้งสองนี้แตกต่างกันอย่างไร

-Facebook ถูกใช้งานเพื่อติดต่อพูดคุยกับกลุ่มเพื่อนและครอบครัว

-ในขณะที่อินสตาแกรมเปรียบเสมือนสถานที่ที่ผู้ใช้งานเข้ามาค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ผ่านทางรูปภาพ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่ถูกบันทึกไว้โดยผู้คนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน

แบรนด์สินค้าที่มองหากลุ่มเป้าหมายจากทั้งสองแพลตฟอร์ม จะสามารถใช้เครื่องมือจับกลุ่มเป้าหมายร่วมกัน โดยวิเคราะห์เพศ อายุ และพื้นที่ที่อยู่อาศัย ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า พาวเวอร์ เอดิเตอร์ (Power Editor) ซึ่งช่วยให้นักการตลาดจัดการและควบคุมแคมเปญอินทิเกรทได้ง่ายขึ้น และยังเข้าถึงกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายที่แบรนด์ต้องการอีกด้วย นักการตลาดที่ได้ใช้งานวิดีโอและแคมเปญครีเอทีฟต่างๆ บน Facebook ก็ยังจะต่อยอดแคมเปญผ่านช่องทางอินสตาแกรมได้อีกด้วย

นำเสนอเครื่องมือการตลาดไอจี

ไอจี ยังได้นำเสนอ “เครื่องมือ” ต่างๆ ที่พัฒนา และอัพเดทเพิ่มขึ้น ให้กับ ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ มีโอกาส ใช้ดึงดูดผู้คนให้มีส่วนร่วม หรือทำกิจกรรมต่างๆ  เช่น การรับชมวิดีโอ ติดตั้งแอพพลิเคชั่นใหม่ หรือตอบสนองการสั่งซื้อผ่านลิงค์ shop now ตอบโจทย์การใช้งานอินสตาแกรมของทั้งเจ้าของธุรกิจ และกลุ่มเป้าหมาย ให้ได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ง่ายขึ้น ไม่สะดุด  

ไอจีเชื่อว่า สำหรับนักการตลาดที่ยังไม่เคยใช้งานอินสตาแกรม นี่คือเวลาที่เหมาะสมในการสร้างแอคเคาท์ เริ่มโพสท์คอนเทนท์ และสำรวจกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ค้นหาบทสนทนาที่ผู้คนในชุมชนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน และเรียนรู้ว่าพวกเขาเหล่านั้นสนใจอะไร เพื่อที่จะตอบสนองในสิ่งที่พวกเขาต้องการ