จากคู่ค้ามาเป็นคู่แข่ง ไมโครซอฟท์ แย่งแชร์พาร์ตเนอร์ด้วย 'Surface'

ย้อนหลังไป 3 ปี ในการเปิดตัวอุปกรณ์ ‘เซอร์เฟซ’ (Surface) ครั้งแรกของไมโครซอฟท์ ถือเป็นข่าวใหญ่ที่โลกเทคโนโลยีให้ความสนใจอย่างมาก ซึ่งในยุคนั้น ไอแพดจากแอปเปิลกำลังเดินหน้าชิงแชร์ในวงการแท็บเล็ตอยู่อย่างขะมักเขม้น และอาจไม่ได้กังวลมากนักต่อแท็บเล็ตน้องใหม่จากค่ายไมโครซอฟท์ตัวนี้


ทว่า ในปีปัจจุบัน ‘เซอร์เฟซ’ กลับกลายเป็นอาวุธทรงประสิทธิภาพที่สามารถทำรายได้ให้ไมโครซอฟท์ (เฉพาะไตรมาสเดียว) เหยียบพันล้านเหรียญสหรัฐ (อ้างอิงจากผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทประจำปี 2015 ยอดขายเซอร์เฟซเพิ่มขึ้น 24% แตะ 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ และรายได้รวมของไตรมาส 2 อยู่ที่ 26,470 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 8% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี ค.ศ.2014)
       
นักวิเคราะห์จากการ์ทเนอร์ถึงกับเปรียบว่า เสือไม่ว่าอย่างไรก็ยังคงเป็นเสือ และวันนี้เสือตัวนั้น (ไมโครซอฟท์) ก็ตื่นขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันกลับไปดูฝั่งพาร์ตเนอร์คนสำคัญฝั่งฮาร์ดแวร์ของไมโครซอฟท์ที่ร่วมสู้กันมากว่า 10 ปีอย่าง เอชพี (HP) เดลล์ (Dell) เลอโนโว (Lenovo) กลับพบสภาพที่ตรงกันข้าม ซึ่งสอดคล้องกับสัญญาณจากไอดีซี (International Data Corp) ที่ชี้ว่า อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์พีซีกำลังอยู่ในช่วงขาลงอย่างแท้จริง โดยพบว่ายอดขายนั้นลดลงอย่างต่อเนื่องถึง 11% ต่อไตรมาส ซึ่งกระทบต่อผลประกอบการโดยตรง ส่วนโอกาสฟื้นขึ้นมาได้อีกครั้งจะมีในช่วงปลายปี ค.ศ.2019 เป็นต้นไป พร้อมระบุสาเหตุหลักว่ามาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า และการที่ไมโครซอฟท์ปล่อยอัปเกรดวินโดวส์ 10 ได้ฟรี ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนไม่จำเป็นต้องอัปเกรดเครื่องนั่นเอง และไอดีซียังชี้ให้เห็นเทรนด์สำคัญนั่นก็คือ การเติบโตของตลาดนี้ยังนำโดยคอมพิวเตอร์ในกลุ่มพกพา เช่น มินิโน้ตบุ๊ก เสียด้วย ส่วนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะนั้นมีแนวโน้มว่าอัตราการเติบโตจะลดลงอย่างต่อเนื่อง
       
สัญญาณทั้งหลายที่กล่าวมาไม่มีข้อไหนที่เป็นผลดีต่อตลาดฮาร์ดแวร์ที่พันธมิตรของไมโครซอฟท์อาศัยอยู่เลย แต่ในภาวะที่พาร์ตเนอร์กำลังบาดเจ็บหนักอยู่นี้ การรุกคืบเข้าตลาดฮาร์ดแวร์ด้วยการเปิดตัว Surface Book ไฮเอนด์แล็ปท็อปที่มาพร้อมหน้าจอทัชสกรีน และปรากฏการณ์ที่สินค้าขาดตลาดอย่างรวดเร็วแม้จะตั้งราคาไว้สูงลิบลิ่วถึง 1,499-2,699 เหรียญสหรัฐ (CNET รายงานเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558 ว่า หน้าเว็บของไมโครซอฟท์ได้ขึ้นข้อความ Email me when available ที่เพจสำหรับพรีออเดอร์สินค้าดังกล่าว) อาจทำให้สถานการณ์ของพาร์ตเนอร์ย่ำแย่ไปมากขึ้น และอาจไม่ใช่สิ่งที่พาร์ตเนอร์ของไมโครซอฟท์อย่างเอชพี (HP) เดลล์ (Dell) เลอโนโว (Lenovo) จะร่วมแสดงความยินดีด้วยได้อีกต่อไป
       
เพราะนั่นเป็นสัญญาณว่า ไมโครซอฟท์ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากเดิมที่เคยจำกัดตัวเองเอาไว้ในโลกของซอฟต์แวร์เพียงอย่างเดียว มาตอนนี้ถือว่าไมโครซอฟท์รุกคืบเข้ามาในตลาดฮาร์ดแวร์อย่างเต็มตัว และมีทีท่าว่าจะกลายเป็นคู่แข่งของพาร์ตเนอร์ที่เคยมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นเสียแล้ว

การที่ไมโครซอฟท์ต้องลงมาเล่นในตลาดฮาร์ดแวร์เองเป็นผลสืบเนื่องมาจากบริษัทต้องการอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่สามารถรีดประสิทธิภาพของระบบปฏิบัติการตัวใหม่อย่างวินโดวส์ 10 ออกมาได้อย่างเต็มที่ และการผลิตเองก็ทำให้ไมโครซอฟท์ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดปัญหาด้านการประสานงานกับพาร์ตเนอร์รายต่างๆ แต่อย่างใด

       
ส่วนกลยุทธ์ทางการตลาดที่ Panos Panay หัวหน้าฝ่ายฮาร์ดแวร์ของไมโครซอฟท์ เลือกใช้การเปรียบเทียบ Surface Book กับแมคบุ๊กของค่ายแอปเปิล ก็อาจเป็นทางเลือกเดียวที่เหมาะสมที่สุด อย่างไรก็ตาม ความจริงที่ทราบกันดีก็คือ การใช้ Surface Book แย่งตลาดลูกค้าจากแมคบุ๊กนั้นอาจเป็นเรื่องยากกว่าที่คิด เนื่องจากสาวกแอปเปิลมีความจงรักภักดีต่อแบรนด์สูงมาก
       
ตลาดที่ Surface Book ต้องลงมาแข่งขันจริงจังก็คือ ตลาดที่เอชพี เดลล์ และเลอโนโว พาร์ตเนอร์ของตนเองแข่งขันอยู่ต่างหาก เรื่องน่าปวดหัวจึงเกิดขึ้น เพราะเอชพี เดลล์ เลอโนโวเอง ทุกวันนี้ก็เจอการแข่งขันในกลุ่มคอมพิวเตอร์แล็ปท็อประดับไฮเอนด์ที่ต้องสู้กับแอปเปิล แบรนด์ที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว พอไมโครซอฟท์ลงมาแข่งด้วย แถมยังมี Surface Book ที่โดนใจผู้บริโภคด้วยแล้ว ทั้ง 3 ค่ายจึงยิ่งยิ้มไม่ออก


       
ลางร้ายของผู้ผลิตคอมพิวเตอร์พีซียังไม่หมด เพราะการรุกคืบของไมโครซอฟท์ในครั้งนี้ไม่ได้ต้องการวางโพสิชันตัวเองเป็นเอชพีคนที่ 2 หรือเดลล์คนที่ 2 แต่สไตล์ของซีอีโอ ‘สัตยา นาเดลลา’ คือ ต้องการสร้างให้ไมโครซอฟท์ ‘เป็นที่หนึ่ง’ ดังนั้น ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์พีซีซึ่งมีรายได้มาจากการขายเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมระบบปฏิบัติการวินโดวส์ จะไม่สามารถแข่งขันกับไมโครซอฟท์ บริษัทที่เป็นเจ้าของทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ได้อีกต่อไป
       
ยกตัวอย่างเช่น ฟีเจอร์ ‘วินโดวส์ เฮลโล’ (Windows Hell0) ระบบรักษาความปลอดภัยที่สามารถปลดล็อกได้โดยใช้ภาพถ่ายใบหน้า เป็นฟีเจอร์ที่ไมโครซอฟท์มอบให้แก่ Surface Book ก่อนใคร
       
การมีฮาร์ดแวร์เป็นของตัวเองยังทำให้ไมโครซอฟท์สามารถพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ และผนวกลงในฮาร์ดแวร์ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจถูกมองว่าลอกเลียนจุดแข็งของแอปเปิลอีกครั้ง โดยเคล็ดลับนี้ สตีฟ จ็อบส์ เป็นผู้เผยออกมาด้วยตนเองว่า จุดแข็งของแอปเปิลคือการผสานความสามารถของซอฟต์แวร์กับฮาร์ดแวร์ให้เป็นหนึ่ง จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำงานได้อย่างไร้ที่ติ
       
Zimmermann จากการ์ทเนอร์เผยว่า ‘ไมโครซอฟท์ในตอนนี้ก็คิดเช่นเดียวกับแอปเปิล นั่นก็คือ การสร้างโปรดักส์ (ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์) ให้น่าสนใจเพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาหาวินโดวส์ เสียอยู่อย่างเดียวก็คือ ผู้ที่จะหันมาซื้อ Surface Book ไม่ใช่กลุ่มผู้ใช้แมคนั่นเอง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เส้นทางของไมโครซอฟท์นับจากนี้อาจเป็นการแย่งชิงลูกค้าจากพาร์ตเนอร์ของตัวเองเสียแล้ว
       
อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์ในวันนี้ยังจำเป็นต้องรักษาสัมพันธ์กับพาร์ตเนอร์เอาไว้อยู่ เนื่องจากไมโครซอฟท์มีอีกเป้าหมายหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน นั่นคือ การส่งเสริมให้มีการใช้งานระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 ให้กว้างขวางมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งลำพังเพียงยอดขาย Surface คงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องจับมือพาร์ตเนอร์ค่ายต่างๆ ช่วยกันดันโปรดักส์นี้ด้วย ซึ่งพาร์ตเนอร์เองก็คงไม่มีทางเลือกมากนัก เมื่อตลาดต้องการระบบปฏิบัติการวินโดวส์ และไมโครซอฟท์ก็คือผู้ผลิตวินโดวส์
       
แต่จะทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำเหมือนเมื่อ 10 ปีก่อนหรือไม่ คำถามนี้คงไม่มีใครตอบได้อีกแล้ว 

 

ที่มา : http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9580000123014