กูเกิ้ลเผย 4 สิ่งที่จะเปลี่ยนอนาคตของการเสิร์ช

ก่อนที่เราจะมาพูดถึงอนาคตของการเสิร์ช นักวิจัยระดับสูงของกูเกิ้ลขอปูพื้นฐานความเข้าใจกันก่อนว่า เทคโนโลยีการเสิร์ชในช่วงสองปีหลังนั้น เปลี่ยนแปลงไปมากมายแค่ไหน
 
Behshad Behzadi ผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมการเสิร์ชของกูเกิ้ลประจำห้องปฏิบัติการในซูริคได้เผยในการสัมมนา Futurapolis ณ เมืองตูรูส ประเทศฝรั่งเศส ว่าปัจจุบันการค้นหาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่กระทำผ่านโมบาย
 
และด้วยความสามารถในการระบุรูปภาพอัตโนมัติของกูเกิ้ลคลาวด์ ทำให้การค้นหารูปภาพผ่านเสิร์ชเอ็นจินทรงประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การเสิร์ชของกูเกิ้ลยังเข้ามาค้นหาข้อมูลในแอพพลิเคชั่นในเครื่องของผู้เสิร์ชเพื่อค้นหาคำตอบ พร้อมสามารถเปิดแอพขึ้นมาเพื่อข้อมูลคำตอบที่ดีที่สุดอีกด้วย Behzadi เผย
 
พัฒนาการที่เกิดขึ้นเพื่อเป้าหมายหลักที่ยิ่งใหญ่กว่าการเสิร์ช
 
“อนาคตของการเสิร์ชคือการสร้างผู้ช่วยส่วนตัวที่แท้จริง” เขากล่าว
 
และเพื่อเป้าหมายดังกล่าว 4 สิ่งต่อไปนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดดในโลกของการเสิร์ช
 
เสียง
การวิเคราะห์ธรรมชาติของภาษาของกูเกิ้ลนั้นมีพัฒนาการอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เมื่อสองปีก่อน อัตราความผิดพลาดในการค้นหาข้อมูลด้วยภาษาพูดผ่านกูเกิ้ลอยู่ที่ 1 ใน 4 แต่ในปัจจุบันอัตราความผิดพลาดดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 1 ใน 16 ซึ่งนั่นกระตุ้นให้การเสิร์ชด้วยเสียงพัฒนาไปถึงขั้นที่ใกล้เคียงกับการพูดคุยกับมนุษย์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นอาจไม่ล้ำหน้าถึงขนาดภาพยนตร์เรื่อง Her แต่ Behzadi กล่าวว่าการโต้ตอบไปมาระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์อาจไม่ใช่เรื่องของโลกอนาคตอันไกลโพ้นอย่างที่เราคิด
 
บริบท
ระบบการค้นหาของกูเกิ้ลนั้นพยายามเชื่อมโยงการเสิร์ชหลายๆ ครั้งของเราเพื่อที่เข้าใจสิ่งที่เราต้องการค้นหามากขึ้นเรื่อยๆ เช่น หากเราค้นหาด้วยคีย์เวิร์ด “ปราสาท” คุณก็จะได้ผลการค้นหาที่เกี่ยวข้องกับปราสาทจำนวนมากมายมาจากทั่วโลก  แต่หากคุณค้นหาเกี่ยวกับ “ลอนดอน” ก่อน แล้วจึงมาค้นหาคำว่า “ปราสาท” ระบบจะจำได้ว่าคุณค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับลอนดอน ผลการค้นหาปราสาทในครั้งหลังจึงจะแสดงผลแคบลงโดยแสดงปราสาทในลอนดอนก่อน
 
และสำหรับสมาร์ตโฟนในระบบแอนดรอยด์ หากคุณกำลังอ่านโพสต์ในเฟซบุค แล้วกดปุ่มโฮมค้างไว้พร้อมใช้การค้นหาด้วยเสียง กูเกิ้ลจะสแกนเนื้อหาในหน้าแอพที่เราเปิดอยู่ เพื่อค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้อัตโนมัติโดยที่คุณไม่จำเป็นต้องใช้การก๊อปปี้และวางข้อความเพื่อค้นหาระหว่างแอพอีกต่อไป
 
โลเคชั่น
คุณอาจกำลังเถียงอยู่ในใจว่านี่มันก็แค่บริบทอีกประเภทหนึ่ง แต่อย่าลืมว่า การค้นหาข้อมูลโดยยึดตำแหน่งโลเคชั่นผ่านมือถือนั้นระบุตำแหน่งได้ละเอียดมาก หากคุณออกไปเที่ยวในเมืองที่ไม่รู้จัก คุณสามารถถามกูเกิ้ลได้เลยว่า “นั่นทะเลสาบอะไร”   หรือ “นี่ร้านอะไร” แล้วกูเกิ้ลจะค้นหาคำตอบมาให้โดยดึงตำแหน่งโลเคชั่นของเราในตอนนั้นไปวิเคราะห์ Behzadi กล่าวว่าการคำนึงถึงตำแหน่งโลเคชั่นเช่นนี้ทรงพลัง แถมยังปฏิบัติการแบบเชิงรุกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอาจส่งการแจ้งเตือนว่ามีอะไรอยู่ใกล้ตัวคุณที่คุณอาจสนใจบ้าง
 
ข้อมูลส่วนตัว
ประเด็นนี้น่าจะเป็นสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างก้าวกระโดดที่สุด แต่ก็ก่อให้เกิดการถกเถียงมากที่สุดเช่นกัน โดยเฉพาะในยุโรปซึ่งเรื่องความเป็นส่วนตัวถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ยิ่งกูเกิ้ลเรียนรู้ข้อมูลของคุณมากเท่าไหร่ กูเกิ้ลก็จะสามารถให้คำแนะนำและการเตือนความจำได้ดีขึ้นเท่านั้น หากคุณใช้ Gmail และ Google Calendar คุณน่าจะได้เห็นพัฒนาการในส่วนนี้ชัดเจนเมื่อข้อมูลส่วนตัวของคุณเด้งขึ้นมาแจ้งเตือนมากขึ้นเรื่อยๆ กูเกิ้ลพัฒนาการเสิร์ชเพื่อให้ผลการค้นหาถูกต้องตรงใจเราที่สุดมาตลอดหลายปี กูเกิ้ลเก็บข้อมูลของเรามากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะทำให้ผลการค้นหาเฉพาะเจาะจงมากขึ้น Behzadi สรุป