3 เหตุผลที่ทำให้แอพพลิเคชั่นกลายเป็นกลยุทธ์ที่ขาดไม่ได้ในการทำการตลาดปี 2016

2015 ถือเป็นปีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงหลากหลายแบบในโลกของโมบายคอนเทนต์ หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ การที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตใช้งานผ่านโมบายมากกว่าเดสก์ทอป และ 85% ของผู้บริโภคชอบการใช้งานแอพพลิเคชั่นที่สร้างขึ้นเพื่อโมบายโดยเฉพาะ มากกว่าการหาข้อมูลผ่านเว็บไซต์บนเดสก์ทอป
 
แล้วแต่ละแบรนด์ควรทำอย่างไรเพื่อที่จะประสบความสำเร็จในปี 2016? คำตอบนั้นง่ายมาก เว็บไซต์ของคุณไม่เวิร์คอีกต่อไป เปลี่ยนมาพัฒนาแอพของตัวเองดีกว่า 
 
เว็บไซต์เวอร์ชั่นโมบายอาจเป็นสิ่งที่ดูเหมือนทดแทนกันได้ แต่เนื่องจากรูปแบบการสื่อสารยังคงเป็นแบบเก่า โมบายเว็บจึงไม่เวิร์คเช่นกัน ผู้ใช้ต้องการอะไรที่มากกว่านั้น ผู้ใช้งานโมบายต้องการการใช้งานที่ง่าย มีประสิทธิภาพ และสามารถบรรลุสิ่งที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว และนี่คือเหตุผลที่แอพพลิเคชั่นถูกสร้างขึ้นมาและเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ที่สุดเมื่อเรามองไปสู่อนาคต เพราะแอพพลิเคชั่นมอบประสบการณ์การสื่อสารโต้ตอบระหว่างผู้ใช้และแบรนด์ได้แบบที่ช่องทางการตลาดอื่นๆ ทำไม่ได้
 
หากคุณยังคลางแคลงใจ เรามาดู 3 เหตุผลหลักที่ทำให้การสร้างแอพกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการทำการตลาดในปี 2016 นี้กัน
 
1. ประสบการณ์ของยูเซอร์คือหัวใจหลัก
 
คุณจำครั้งล่าสุดที่ใช้บราวเซอร์ค้นหาข้อมูลผ่านมือถือได้ไหม คาดว่าการค้นหาคงเป็นไปด้วยดี แต่คุณคงจำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะประสบการณ์นี้ไม่ได้มีอะไรพิเศษจนคุณจำได้ นี่ไม่ใช่สิ่งที่นักการตลาดอย่างเราต้องการ เพราะเราต้องการสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำเพื่อเพิ่มความภักดีต่อแบรนด์
 
ลองมาดูตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากแอพ Uber กัน ก่อนจะมีแอพ Uber ประสบการณ์การเรียกแท็กซี่ของเราอาจเลวร้ายและไม่ใช่สิ่งที่น่าจดจำ ไม่ว่าจะส่งรถ แก๊สหมด หรือคิดราคาเกินมิเตอร์ แต่เมื่อ Uber เข้ามา ทุกคนก็ได้สัมผัสกับประสบการณ์การนั่งแท็กซี่ที่ดี คนขับสุภาพ เรียกไปที่ไหนก็ไป คิดราคาตามจริง ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า Uber อาจสามารถควบคุมเกือบ 50% ของธุรกิจขนส่งและแท็กซี่ไว้ได้ โดยมีแอพพลิเคชั่นเป็นหัวใจหลักในการสร้างความสำเร็จ
 

 
แอพพลิเคชั่น Uber ได้พลิกโฉมวงการแท็กซี่ไปตลอดกาล และทำให้เรารู้ว่าแอพพลิเคชั่นดีๆ นั้นทรงพลังแค่ไหน ซึ่งในหลายๆ อุตสาหกรรม ต่างก็มีแอพที่สร้างความแตกต่างและพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดีขึ้นเช่นกัน อย่าง Amezon สำหรับธุรกิจค้าปลีก Spotify สำหรับวงการเพลง หรือ Instagram สำหรับวงการโซเชี่ยล ด้วยเหตุนี้เอง หากคุณยังพึ่งพาแต่เครื่องมือเก่าๆ อย่างโมบายเว็บในการนำพาธุรกิจของคุณไปสู่อนาคต คุณกำลังมีความเสี่ยงที่จะถูกกลืนหายไป คุณต้องลุกขึ้นมาสร้างแอพที่จะมอบประสบการณ์สุดพิเศษให้กับผู้ใช้ และกลายเป็น Uber ในธุรกิจของคุณเอง
 
2. ยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น
 
เนื่องจากแอพพลิเคชั่นได้เปลี่ยนแปลงความต้องการของผู้ใช้ในการโต้ตอบกับแบรนด์ ตอนนี้คุณจึงมีปัญหาในการรวบรวมข้อมูลให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งหากคุณไม่มีแอพ คุณจะไม่มีทางเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ ของผู้บริโภคได้เลย คุณไม่รู้ว่าผู้ใช้มือถือต้องการโต้ตอบกับคุณอย่างไร พฤติกรรมการใช้งานมือถือนั้นรุดหน้าไปมากกว่าสิ่ฃที่โมบายเว็บจะให้ได้แล้ว การไม่มีแอพเป็นของตัวเองจึงทำให้คุณตกขบวนรถไฟในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคในส่วนนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
 

 
การมีแอพพลิเคชั่นที่มีเครื่องมือวิเคราะห์และเครื่องมือทำการตลาดที่เพียบพร้อม ช่วยให้คุณสามารถศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้แต่ละคนในการเข้าใช้แอพแต่ละครั้ง ซึ่งทำให้คุณรู้ว่าความแตกต่างของผู้ใช้แต่ละกลุ่มที่ผูกพันกับแบรนด์คุณเป็นอย่างไร โดยข้อมูลเจาะลึกเหล่านี้ช่วยให้คุณรู้ว่าจุดแข็งและจุดอ่อนของแอพคืออะไร เพื่อที่จะพัฒนาแอพให้ตรงใจผู้ใช้มากที่สุดเพื่อสร้างเอ็นเกจเมนต์กับแบรนด์
 
นอกจากเอ็นเกจเมนต์แล้ว ข้อดีอีกประการของการมีแอพพลิเคชั่นคือ การที่คุณสามารถปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้แอพแบบขาประจำและเพิ่มคอนเวอร์ชั่นเรทจากการทำแคมเปญแบบปรับเฉพาะกลุ่ม พูดง่ายๆ ก็คือ แอพพลิเคชั่นช่วยให้คุณมีเครื่องมือในการติดต่อกับผู้ใช้ในระดับที่เรียกได้ว่าส่วนตัวสุดๆ โดยปรับตามความชอบและพฤติกรรมของแต่ละคนได้ ซึ่งตรงนี้โมบายเว็บไม่สามารถให้คุณได้
 
3. ปรับแต่งได้ ตรงใจผู้บริโภค
 
นอกจากจะได้ข้อมูลเชิงลึกมากมายแล้ว แอพพลิเคชั่นยังช่วยปรับแต่งประสบการณ์การโต้ตอบระหว่างคุณและผู้ใช้ ยิ่งปรับได้มากเท่าไหร่ ยิ่งดีเท่านั้น เพราะผู้ใช้จะได้รับประสบการณ์การใช้แอพแบบเฉพาะบุคคล ซึ่งคุณสามารถสร้างแคมเปญการตลาดตามกลุ่มผู้บริโภคได้ เพราะผู้บริโภคนั้น ไม่ต้องการประสบการณ์ที่เหมือนกับคนอื่น กลุ่มผู้ใช้ในอนาคตต้องการคอนเทนต์และข้อความทางการตลาดที่เฉพาะเจาะจงสำหรับเขาเท่านั้น ตามพฤติกรรม ที่อยู่ และความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา
 

 
การรู้จักผู้บริโภคทำให้เรามีโอกาสที่จะพูดภาษาเดียวกันกับเขา ยิ่งเมื่อมีแอพ ก็จะยิ่งเห็นภาพภูมิประชากรของผู้ใช้มากยิ่งขึ้น เช่น ข้อมูลเรื่องอายุ ตำแหน่งที่อยู่ รวมถึงพฤติกรรมการใช้แอพ คุณสามารถแบ่งกลุ่มผู้ใช้เป็นกลุ่มย่อยแล้วสร้างประสบการณ์สุดพิเศษสำหรับแต่ละกลุ่ม ต่อไปนี้คือตัวอย่างการใช้แอพพลิเคชั่นในการพัฒนาประการณ์ผู้ใช้ที่มีต่อแบรนด์ได้อย่างดี
 
ส่วนลด หากผู้ใช้บราวซ์ดูสินค้าประเภทเดียวกันหลายครั้งผ่านแอพแต่ยังไม่ตัดสินใจซื้อ คุณอาจส่งข้อเสนอส่วนลดไปหาผู้ใช้เป็นครั้งคราว เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อ
 
โลเคชั่น เราสามารถพัฒนาประสบการณ์การมอบสิทธิพิเศษให้ล้ำไปอีกขั้นด้วยการผูกส่วนลดไว้กับโลเคชั่นของผู้ใช้ เช่น คุณอาจส่งส่วนลดเสื้อแจ็คเก็ตไปให้ผู้ใช้ที่อยู่ในชิคาโก้ในช่วงเดือนธันวาคม หรือส่งลิงต์เพลงที่เกี่ยวข้องกับการวิ่งมาราธอนให้กับผู้ใช้ที่อยู่ในบอสตันช่วงเดือนเมษายน
 
แนะนำสิ่งที่ใกล้เคียงความสนใจ คุณสามารถแนะนำศิลปินอินดี้ที่คล้ายคลึงกับที่ผู้ใช้ชื่นชอบ หรือแนะนำร้านเปิดใหม่สำหรับผู้ใช้ที่ชอบกินพิซซ่า
 
โต้ตอบแบบเรียลไทม์ คุณสามารถส่งข้อความถึงผู้ใช้แบบเรียลไทม์ได้ตามพฤติกรรมผู้ใช้ เช่น อาจส่งข้อความเตือนให้ผู้ใช้บันทึกบทความที่อ่านอยู่เป็นบทความโปรด หรือแนะนำบทความใหม่ในหัวข้อใกล้เคียงกันให้อ่านต่อไป
 
ติดตามอัตราการยกเลิกการใช้แอพ ด้วยข้อมูลการใช้งานแอพพลิเคชั่นในเชิงลึก เราสามารถติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความเสี่ยงที่จะไม่ใช้แอพต่อ พร้อมดูสาเหตุได้ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถเปลี่ยนผู้ใช้กลุ่มเสี่ยงนี้ให้กลับมาใช้แอพด้วยข้อความแบบปรับเฉพาะบุคคล หรือแคมเปญเฉพาะกลุ่ม
 
เมื่อได้ทราบเหตุผลทั้ง 3 ข้อนี้แล้ว หากตอนนี้คุณยังไม่มีแอพพลิเคชั่นของตัวเอง จงรีบใส่การสร้างแอพลงในกลยุทธ์ที่จะทำในปี 2016 ที่จะถึงนี้ ยิ่งอัตราการเติบโตของการใช้งานโมบายสูงขึ้นมากเท่าไหร่ การมีแอพพลิเคชั่นของตัวเอง ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นความคาดหวังของผู้ใช้มากขึ้นเท่านั้น